ว่ากันถึงมรสุมการแต่งตั้งโยกย้ายในบั้นปลายชีวิตราชการ หนังสือ ฝ่าวิกฤติ วิธีคิด ประสบการณ์ “ตำรวจแบบผม” ของ พล.ต.อ.นเรศ นันทโชติ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร.ไม่ได้ระบายความอัดอั้นไว้ แต่เจ้าตัวเลือกสะท้อนมุมมองที่ได้สัมผัสมากกว่า 30 ปีในเครื่องแบบสีกากี ด้วยการชี้ให้เห็นว่า การสนับสนุนคนดีให้นำหน่วย ดูแลสังคมได้นั้น ไม่ใช่แค่ต้องทำงานอย่างเดียว
หมายรวมไปถึงการปกครอง บังคับบัญชา ควบคุมคนไม่ดีไม่ให้ก่อปัญหาสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนด้วย
อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.นเรศยอมรับว่า องค์กรตำรวจ ยังมีปัญหาในการคัดกรองคนดี คนที่มีความรู้ ความสามารถเหมาะสมกับงานออกไปเป็นผู้นำหน่วย เป็นหัวหน้าในการทำงานให้กับประชาชน แม้จะมีการเปลี่ยนแปลง ปรับลดกฎเกณฑ์ กติกามาอย่างต่อเนื่อง
เข้าทำนองยิ่งเปลี่ยนยิ่งเพิ่มปัญหา
บางยุคสมัยพยายามจะคัดกรองคนดี กลับได้คนที่ไม่เหมาะกับงาน ไม่เหมาะกับปัญหา
ประสบการณ์ของเขาเรียนรู้แล้วว่า ตำรวจที่เติบโตก้าวหน้ามาจาก ระบบอุปถัมภ์ วิ่งเต้น เส้นสาย ใช้วิธีฉ้อฉล กลโกง
แก้ไขเปลี่ยนแปลง ยกเว้นหลักเกณฑ์ เห็นแก่พวก ไม่ได้เติบโตจากงานและความรู้ความสามารถ สักวันหนึ่งจะสร้างปัญหาให้แก่ประชาชนและองค์กร
เจ้าตัวย้ำว่า ปัญหาคนดี ทำงานดี ถูกมองข้าม ไม่ได้รับโอกาส ไม่เห็นความสำคัญ หากปล่อยไว้เช่นนี้ต่อไปจะเป็นปัญหาใหญ่ขององค์กร กระทบขวัญกำลังใจของตำรวจ และในที่สุดจะส่งผลกระทบกับงานที่ต้องดูแลความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน
ท้ายนี้เขาขอเป็นตัวแทนทุกคนแสดงความคิดเห็นแบบ คิดดังๆให้ได้ยิน
“ความไม่ยุติธรรมและความไม่เป็นธรรม มิอาจเกิดขึ้นได้ด้วยตัวของมันเอง ทั้งปวงล้วนมาจากคนที่มีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมเป็นผู้ก่อและหยิบยื่นให้ทั้งสิ้น”
...
ดังนั้นการขายความยุติธรรมเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจที่สุด.
"สหบาท"