ต้องระมัดระวังพาหะนำโรคทั้งหนูและสัตว์กัดแทะ ภายหลังทางการไลบีเรีย ประกาศภาวะฉุกเฉินทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข จากการระบาดของโรคไข้ลาสซา และพบผู้ป่วยในบางประเทศแถบแอฟริกา ซึ่งไทยไม่ประมาท ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศให้โรคไข้ลาสซาเป็นโรคติดต่ออันตราย ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น แม้ขณะนี้ยังไม่มีผู้ป่วยโรคดังกล่าวในไทย

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคติดต่ออันตราย ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยให้กรมควบคุมโรคติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด รวมถึงดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ
         
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขไลบีเรีย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.–25 ส.ค. มีผู้ป่วยยืนยันแล้ว 25 ราย เสียชีวิต 9 ราย นอกจากนี้มีรายงานผู้ป่วยในประเทศแถบแอฟริกา เช่น ไนจีเรีย มีการยืนยันผู้ป่วย 658 ราย เสียชีวิต 145 ราย รวมถึงนิมบา แกรนด์บาสสา บอง และแกรนด์กรู เป็นต้น ซึ่งทางกรมควบคุมโรค มีการติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังโรคไข้ลาสซาในต่างประเทศอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง พร้อมสั่งการให้กองโรคติดต่อทั่วไป กำชับด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ ให้มีการเตรียมพร้อมและตรวจคัดกรองนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงอย่างเข้มข้น

ทั้งนี้แม้จะยังไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยโรคดังกล่าวในประเทศไทยก็ตาม หากนักท่องเที่ยวหลังกลับจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยง มีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บหน้าอก ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ให้รีบพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจรักษา และแจ้งประวัติการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ทราบ

...

สำหรับโรคไข้ลาสซา จัดอยู่ในตระกูลเดียวกับโรคอีโบลา ติดต่อจากการที่คนหายใจเอาละอองของเสียที่หนูขับถ่ายออกมา เช่น ปัสสาวะ และอุจจาระ เข้าไป หรือการกินอาหาร หรือการใช้ภาชนะที่มีการปนเปื้อนเชื้อ หรือติดเชื้อทางแผล/เยื่อเมือกบุผิว ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการ โดยจะมีไข้อยู่ตลอด หรืออาจไข้สูงเป็นระยะ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ไอ ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง เจ็บหน้าอก และปวดบริเวณช่องท้อง อ่อนเพลีย ซึ่งโรคนี้จะรักษาตามอาการ เพราะไม่มียารักษาเฉพาะ และยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรค  
           
ส่วนวิธีป้องกันโรคไข้ลาสซา ได้แก่ 1. ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลเป็นพิเศษ โดยหมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ ควรล้างทำความสะอาดภาชนะที่ใช้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการรับเชื้อโรค และ 2. ดูแลความสะอาด รอบๆ ที่พัก เพื่อควบคุมการกำจัดหนูและสัตว์กัดแทะซึ่งเป็นพาหะนำโรค.