เป็นเรื่องน่าสะพรึงกลัว เมื่อหนุ่มติดตั้งระบบไฟ เข้ามาสำรวจอาคารร้างสูง 32 ชั้น ย่านรัชดาภิเษก มาพบโครงกระดูกมนุษย์ที่แห้งแล้ว อยู่ภายในแทงก์น้ำบนดาดฟ้า เจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นคนเร่ร่อนพลัดตกลงไป ไม่สามารถขึ้นมาได้ อาจถอดเสื้อผ้าก่อไฟให้เกิดกลุ่มควัน เพื่อส่งสัญญาณให้คนมาช่วยเหลือ แต่ไม่มีใครเห็น จนขาดอาหารและน้ำ ทำให้เสียชีวิตในที่สุด
จากเหตุที่เกิดขึ้นในตึกร้าง ซึ่งเคยก่อสร้างเป็นโรงแรม ได้ร้างมานานกว่า 10 ปี อาจมีคนเร่ร่อนเล็ดลอดเข้าไปได้ หรือมีมิจฉาชีพเข้าไปลักทรัพย์สินภายในอาจเป็นไปได้ แต่หากเหตุที่เกิดขึ้นเป็นการฆาตกรรม จึงเกิดคำถามตามมา หากผู้เกี่ยวข้องหรือเจ้าหน้าที่รัฐมีการปล่อยปละให้ตึกร้างกลายเป็นแหล่งก่ออาชญากรรม โดยไม่เข้มงวดเรื่องการดูแลความปลอดภัย รวมไปถึงตึกร้างหลายแห่งในเมืองกรุง หากขาดการดูแลสภาพความมั่นคงของอาคาร อาจสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน หากพังถล่มลงมาอย่างที่คาดไม่ถึงก็ได้
...
“ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” ต่อสายคุยกับ “รศ.เอนก ศิริพานิชกร” ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ในประเด็นปัญหาตึกร้างในเมืองกรุง ซึ่งพบว่ามีตึกร้างขนาดใหญ่ ความสูง 8 ชั้นขึ้นไป มีตัวเลขประมาณ 350 หลัง จากพิษวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 โดยเจ้าของตึกใหญ่ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ต่อได้ เช่นเดียวกับอาคารร้างแถวบางรัก เป็นอีกหนึ่งผลพวงจากปี 40 แม้ว่ามีกฎกระทรวงออกมาใหม่ เพื่อเอื้อต่อการปรับปรุงตัวอาคารแล้วก็ตาม แต่ด้วยเศรษฐกิจไม่ดี และไม่เงินทุนในการดำเนินการต่อ จึงปล่อยให้อาคารร้างตระหง่านกลางใจกรุง หรือที่ดินและอสังหาฯ ร้างๆ หลายแห่ง ติดอยู่กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ ได้มีการปล่อยทิ้งไว้ ทำให้เกิดคนเร่ร่อนเข้ามาอาศัยและเป็นแหล่งก่ออาชญากรรม ซึ่งควรจัดคนให้มาดูแลโดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย
“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรบังคับให้เจ้าของตึกร้าง ดำเนินการจัดให้มี รปภ.มาดูแล ยังไม่รวมอาคารเล็กที่ร้างอีกจำนวนมาก เสี่ยงต่อการก่ออาชญากรรม เสี่ยงที่เศษวัสดุต่างๆ บนตึกจะหล่นลงมาเป็นอันตรายต่อผู้คน ดังนั้นต้องมีคนเข้ามาจัดการ หากบังคับไม่ได้ก็ให้สำนักงานเขตในพื้นที่นั้นๆ เข้ามาดูแล ไม่ใช่ปล่อยไปอย่างงั้น ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ทางรัฐเข้ามาดูแลตึกร้าง โดยเจ้าของตึกต้องจ่ายค่าดูแลทั้งทำความสะอาด ดูแลความปลอดภัย หรือทางรัฐอาจมีเงินอุดหนุนในส่วนนี้ เพราะเจ้าของตึกร้างอาจมองว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่สูงไป”
ที่สำคัญควรทำอย่างไรให้ตึกร้างหมดไป อย่างล่าสุดเจ้าของห้างแก้วฟ้า ย่านบางลำภู ได้ให้ทีมงานวิศวกรรมสถานฯ สำรวจพื้นที่ของอาคารเพื่อดำเนินการพัฒนาปรับปรุง แสดงให้เห็นความรับผิดชอบของเจ้าของอาคาร แต่ต้องยอมรับว่ามีเจ้าของอาคารร้างหลายรายไม่มีเงินทุน ดังนั้นอยากเสนอให้รัฐบาลดำเนินการแปลงพื้นที่ตึกร้างบางส่วนทำเป็นส่วนราชการ นำอาคารมาใช้ประโยชน์
ที่ผ่านมาทางวิศวกรรมสถานฯ เคยเสนอไป แต่เรื่องก็เงียบไป หรือแทนที่จะย้ายกระทรวงมหาดไทยไปพื้นที่ราชพัสดุ แถววัดเศวตฉัตรวรวิหาร ย่านเจริญกรุง ซึ่งการจราจรคับคั่ง อาจยิ่งสร้างความเดือดร้อนให้ผู้คน ก็ควรจะนำอาคารร้างมาปรับปรุงพัฒนา โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอาคารจะดีกว่า เช่นเดียวกับหลายหน่วยงานราชการ เพื่อแก้ปัญหาตึกร้าง
ขณะที่ ”ศักดิ์ชัย บุญมา” ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ระบุกำลังแก้ปัญหาตึกร้างในเมืองกรุง อาจใช้กระบวนการเวนคืน เพื่อนำตึกร้างมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยจะมีการประชุมในวันพุธที่ 4 ก.ย.นี้ เบื้องต้นอาจให้ กทม.หรือรัฐบาลทำการจัดซื้อตึกร้าง และใช้กฎหมายบังคับเวนคืน นำมาเป็นที่อยูอาศัยของคนในชุมชนต่างๆ ซึ่งในหลักการยังไม่ได้สรุปว่าทำได้หรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลจะดำเนินการหรือไม่ เพื่อไม่ปล่อยให้เกิดตึกร้างแบบนี้อีกต่อไป
...
“ขั้นตอนแรกอาจทำหนังสือแจ้งให้เจ้าของตึกทำการปรับปรุง หากทำไม่ได้ อาจต้องใช้กฎหมายบังคับเพื่อเวนคืน และนำตึกร้างเหล่านั้นมาปรับปรุง พัฒนาเป็นที่อยู่ให้คนมีรายได้น้อยมาอยู่อาศัย ไม่ต้องแออัดเหมือนอย่างที่เคยเป็นอยู่”.