จากการประชุมเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor:EEC) เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2561 ได้มีการหยิบยกแนวทางแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนสุขุมวิท ช่วงทางลงทางพิเศษบูรพาวิถี บริเวณด้านหน้านิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ ชลบุรี โดยมีการเสนอให้ก่อสร้างทางเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถีกับถนนเลี่ยงเมืองชลบุรีของกรมทางหลวง มอบให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รับไปดำเนินการ
ต่อมาวันที่ 11 ก.ย.2561 ที่ประชุมร่วมระหว่าง สนข., การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กทพ. และกรมทางหลวง ทล. มอบหมายให้ กทพ. ศึกษาความเหมาะสมโครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถีและถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี รวมทั้งศึกษาผลกระทบด้านการจราจรบริเวณโดยรอบพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร กทพ.จึงได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาโครงการ
“รายงานวันจันทร์” วันนี้ รองผู้ว่าฝ่ายกลยุทธ์และแผนงาน กทพ. “วิชาญ เอกรินทรากุล” จะ มาเปิดเผยถึงรายละเอียดของผลการศึกษาดังกล่าว
ถาม-การก่อสร้างทางเชื่อมจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรได้อย่างไร
วิชาญ-ปัญหาการจราจรช่วงลงทางพิเศษบูรพาวิถี หน้านิคมฯอมตะนคร ชลบุรี เกิดจากปริมาณรถมาก โดยมีรถที่มาจากถนนสุขุมวิท 40,000 คันต่อวัน ร้อยละ 57.40 เป็นรถขนาดใหญ่ จากทางด่วนบูรพาวิถี 48,000 คันต่อวัน ร้อยละ 5.69 เป็นรถขนาดใหญ่ และจากทางหลวงหมายเลข 3346 หรือ ถนนบ้านเก่า เชื่อมต่อถนนเข้านิคมฯอมตะนคร 44,000 คันต่อวัน ร้อยละ 47.47 เป็นรถขนาดใหญ่ รวมปริมาณรถทั้ง 3 ทิศทางมีเฉลี่ยประมาณ 132,000 คันต่อวัน ในจำนวนนี้มีปริมาณรถมุ่งหน้าทางหลวงหมายเลข 361 หรือถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี ประมาณ 81,000 คันต่อวัน ตรงเข้าเมืองชลบุรีประมาณ 32,000 คันต่อวัน
...
ทำให้ถนนสุขุมวิทมุ่งหน้าไปชลบุรีเกิดจราจรติดขัดตั้งแต่ช่วงถนนบ้านเก่า จนถึงจุดกลับรถเกือกม้าด้านหน้านิคมฯอมตะนคร จากการวิเคราะห์พบว่าเกิดปัญหาการตัดกระแสจราจรหลายรูปแบบ อาทิ รถที่มาจากกรุงเทพฯ สมุทรปราการ ที่ใช้ถนนสุขุมวิทและทางด่วนจะเข้านิคมฯอมตะนคร จะตัดกระแสรถที่มุ่งหน้าไปเข้าถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี และรถจากถนนบ้านเก่า รถจากซอยนิคมฯอมตะนครที่จะเดินทางกลับกรุงเทพฯ สมุทรปราการจะตัดกระแสกับรถที่มุ่งหน้าชลบุรีเพื่อขึ้นเกือกม้ากลับรถ ส่งผลทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าเย็น ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงมีแนวคิดที่จะก่อสร้างทางเชื่อมต่อจากทางพิเศษบูรพาวิถี ไปลงถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี เพื่อรองรับปริมาณรถที่ต้องการใช้ถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี มุ่งหน้าสู่ภาคตะวันออกโดยตรง ซึ่งจะช่วยลดการตัดกระแสจราจรบริเวณหน้านิคมฯอมตะนคร
ถาม-รูปแบบโครงการทางเชื่อมมีลักษณะอย่างไร
วิชาญ–แนวสายทางโครงการเริ่มต้นเชื่อมต่อจากจุดสิ้นสุดทางพิเศษบูรพาวิถี เป็นทางยกระดับอยู่บนเกาะกลางถนนสุขุมวิท ผ่านหน้านิคมฯอมตะนคร คลองตำหรุ เทสโก้โลตัส พลัสมอลล์ จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เกาะกลางถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี สิ้นสุดโครงการบริเวณ กม.1+100 ของถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี ระยะทางประมาณ 4.5 กม. โดยทางขึ้นลงมี 3 แห่ง ได้แก่ 1.ทางขึ้น-ลงถนนบ้านเก่า 2.ทางขึ้น-ลงทางเลี่ยงเมืองชลบุรี และ 3.ทางขึ้นลง-ถนนสุขุมวิท คาดว่าจะใช้งบก่อสร้างประมาณ 7,000 ล้านบาท งบเวนคืนที่ดินประมาณ 400 ล้านบาท
ทั้งนี้ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเกาะกลางถนนของกรมทางหลวง ซึ่งมีการประสานงาน การใช้พื้นที่เรียบร้อยแล้ว และอาจจำเป็นต้องเวนคืนเพื่อก่อสร้างทางขึ้น–ลง ซึ่งรายละเอียดต้องรอผลการศึกษาอีกครั้ง รวมถึงรูปแบบการจัดหาแหล่งเงินทุนก่อสร้าง การลดผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ใช้เวลาศึกษา 360 วัน จะแล้วเสร็จเดือน พ.ค.2563
ถาม-ใช้เวลาก่อสร้างเท่าไหร่และวางแผนการลดผลกระทบอย่างไร รวมถึงเก็บค่าผ่านทางหรือไม่
วิชาญ-การก่อสร้างใช้เวลา 30 เดือน หรือประมาณ 2 ปีครึ่ง ส่วนมาตรการลดผลกระทบได้กำหนดไว้ในขอบเขตการศึกษาทั้งเรื่องมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อชุมชน โดยเมื่อแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการ กทพ.คิดอัตราค่าผ่านทางตามระยะทางเฉลี่ย กม.ละ 1 บาท โดยจ่ายเพิ่มอีกประมาณ 5 บาท รวมอัตราค่าผ่านทางตลอดสาย 60 บาท จากเดิมตลอดสาย 55 บาท.