สภาพของพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ทรงเจดีย์องค์นี้ เมื่อแรกพบ เนื้อละเอียดขาวขุ่น ผิวแห้งสนิท ไม่ปรากฏไฝฝ้า...มวลสารมีให้เห็นก็น้อย
ดูผิวเผิน ขาดน้ำนวล ขาดเสน่ห์ ไม่น่าสนใจ
แต่เนื่องจากพิมพ์ทรง เป็นทรงเจดีย์พิมพ์สันทัด ตามทฤษฎีครูตรียัมปวาย ถูกต้อง ทุกเส้นสาย ร่องรอยสึกช้ำด้านหน้า หลุมร่องเส้นซุ้มขวา และสัญลักษณ์ หลังกระดาน มาตรฐานหลังพระสมเด็จวัดระฆัง
สำหรับคนเป็นพระ นี่คือพระสมเด็จวัดระฆังแท้ ที่ดูได้ง่ายๆ ตัดสินใจได้เร็วกว่า พระที่ทำให้ผิวให้ช้ำ มีเงาสว่างเทียม เปียก สกปรกด้วยคราบไคล แบบที่พระปลอมที่วางขายยั่วตาทั่วไป
สภาพพระแท้ มีหลายสภาพ แต่พอแยกได้เป็นสองสภาพ
สภาพแรก แห้งสนิท เห็นความเก่าถึงอายุชัดเจน สภาพที่สอง สึกช้ำปนคราบไคล ตามนิสัยคนไทย ที่รู้แต่จะใช้พระ แต่ไม่รู้จัก ถนอมรักษาพระ และกลัวการล้างพระ
พระสภาพสึกช้ำปนคราบไคล มักถูกสนใจมากกว่า มีสิ่งชวนให้หลงว่าเป็นพระแท้มากกว่า
พระสมเด็จองค์ที่เนื้อนุ่มนวล ผิวฉ่ำซึ้ง ที่พูดกันว่า “เนื้อจัด” นั้น จริงแล้ว ก็คือพระที่เนื้อนอกจากถูกเสียดสีจากการจับต้องให้สึกหรอแล้ว เนื้อพระก็ดูดซับเหงื่อไคลเข้าไป
อย่าลืมว่า ส่วนผสมหลักของเนื้อพระสมเด็จ คือปูนกับน้ำมันตังอิ้ว แม้ผ่านกาลเวลาเกือบจะ 150 ปี แห้งสนิทถึงขั้นตกผลึก จนมีความแกร่ง แบบที่นักเลงพระรุ่นโบราณ นิยมทดสอบด้วยวิธีเอาเคาะฟันเสียงดัง “กริ๊กๆ” แล้ว
เมื่อเหงื่อไคลซึมซับเข้าในเนื้อ ก็จะไปควบแน่นกับสารน้ำมัน มากน้อยหนักเบา ไม่เท่ากัน
หลับตานึกถึง ผงปูนหิน...ที่เรียกกันว่าปูนเพชร เพราะเผาจากเปลือกหอย...ที่ไม่ละเอียดเป็นผงทุกอณู...เมื่อผสมกับน้ำมันตังอิ้ว ที่เหนียวข้น...ส่วนที่กลมกลืนกับน้ำมัน จึงเป็นโครงสร้างเนื้อส่วนใหญ่
...
ส่วนที่เป็นก้อน เม็ดแข็งๆ ไม่ซึมซับน้ำมัน ก็แยกตัวแต่รวมอยู่ในก้อนเนื้อ เรารู้จักมวลสาร “ก้อนขาว” หนึ่งในหลายๆ มวลสาร กันไว้บ้างแล้ว
เมื่อเป็นเช่นนี้ ความหนาแน่นของเนื้อพระสมเด็จวัดระฆังทั้งองค์ จึงไม่เท่ากันเมื่อเหงื่อไคลซึมซับเข้าไปจับ จึงมากน้อยแน่นหนาไม่เท่ากัน
องค์ใดที่สึกหรอซึมซับเหงื่อไคล ก็มองเห็นเป็นสีสันด่างดวง แต่องค์ใด ที่ผิวแป้งปกคลุม หรือเป็นพระบนหิ้ง ไม่ค่อยถูกจับต้อง ไม่ถูกนำมาแขวนคอใช้ ก็จึงเป็นพระที่ขาวแห้ง
ลักษณะเช่นนี้ครูตรียัมปวายท่านใช้คำว่า “ความแห้งบริสุทธิ์” ความซึ้งจากความแห้งบริสุทธิ์ ค่านิยมวงการพระสมัยใหม่ สูงกว่าพระสึกช้ำ ที่เรียกว่าพระเนื้อจัด
พระสภาพเดิมๆ หากมีองค์ประกอบครบสมบูรณ์ ต้องถนอมรักษาไว้ แต่หากเป็นพระที่เคยถูกใช้แล้วเก็บไว้นาน จนดูซีดเซียวครึ่งๆกลางๆ หากไม่แน่ใจ วิธีพิสูจน์ทราบง่ายๆ ก็คือจุ่มน้ำอุ่น
น้ำอุ่นจะเข้าไปดูดซับเอาคราบฝ้ารารัก ออกมาให้เป็นแผ่นสีแดง เมื่อน้ำแห้ง ฝ้าสีแดงจะจางจมหายไปบ้าง หรืออาจจะเหลือไว้บ้าง ก็ช่วยเสริมเสน่ห์ให้พระที่ขาวซีดมีสีสันเพิ่มขึ้น
ปฏิกิริยาของฝ้ารักแดง ที่จะปรากฏออกมาทันที ที่ถูกน้ำหรือเหงื่อไคล...หากจะเปรียบเทียบกับ “สีเลือด” บนผิวหน้าแจ่มใสของคนสุขภาพดีๆก็คงได้
พระสมเด็จแท้ ดูสว่างตา เหมือนคนแจ่มใสมีชีวิตชีวา เช่นนี้เอง.
O พลายชุมพล O