สัญญาณเตือน “ปลาทู อ่าวไทย” เข้าสู่วิกฤติที่มีตัวเลขการจับลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ในเรื่องนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2539 ปัญหามาจาก “เปิดช่องกฎหมาย” ในการทำประมง “เรือปั่นไฟ” ที่มีใช้ทั้งประมงพาณิชย์ และประมงพื้นบ้าน มีผลต่อระบบนิเวศในท้องทะเลรุนแรง
เพราะวิธีนี้มีจุดประสงค์จับปลากะตักในเวลากลางคืน โดยใช้แสงไฟล่อให้ปลาเข้ามาหาจำนวนมากแล้วนำลงอวนจับปลาทั้งหมด แต่สิ่งที่ได้มานอกจากปลากะตัก ยังมีลูกปลาอื่นๆอีกมากมาย ทั้งลูกปลาทู ลูกปลาหลังเขียว ลูกปลาอินทรี ลูกปลาซาร์ดีน มักว่ายเข้ามาเล่นแสงไฟ
ที่ยังไม่มีโอกาสได้เจริญเติบโต เพราะทั้งหมดถูกลากขึ้นมา นำมาขายราคาถูก กลายเป็นอาหารสัตว์ แทนที่เมื่อเจริญเติบโตจะเป็นสินค้าเศรษฐกิจราคาสูง
ต้นสายปลายเหตุของลูกปลาทูถูกทำลายนี้ บรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย ให้ข้อมูลว่า ปัญหาเกิดจากการทำประมงชายฝั่งของเรือประมง ใช้เครื่องมือทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม คือ อวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟ เพราะเป็นเครื่องมือกวาดสัตว์น้ำแทบทุกชนิด ตั้งแต่สัตว์น้ำวัยอนุบาล มาถึงปลาใหญ่
จริงๆแล้ว...ปัญหานี้เคยมีมาตั้งแต่ปี 2521-2523 ชาวประมงใช้วิธีการจับปลาด้วยตะเกียง มาเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในการล่อฝูงปลา และพัฒนาการล่อฝูงปลา มาใช้ไฟเหนือผิวน้ำ ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำถูกจับจนเสื่อมโทรมจากการทำประมงนี้เกินศักยภาพที่ธรรมชาติผลิตขึ้นมาทดแทนได้
กลายเป็นห่วงโซ่ทางอาหารทะเลถึงขั้นวิกฤติสุดขีด ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรง
กระทั่งปี 2526 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกประกาศตามอำนาจ ใน ม.32 (1) และ (4) พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 เรื่องกำหนดห้ามไม่ให้ใช้เครื่องมืออวนมีช่องตาเล็กกว่า 2.5 ซม. เมื่อตาอวนเหยียดตรงใช้ประกอบกันกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในทำการประมงในอ่าวท้องที่จังหวัดชายทะเลทุกจังหวัดเด็ดขาด
...
การจับลูกปลาเล็ก...ปลาน้อย “ปัญหาทุกอย่างจบสิ้น...หยุดลง” ...ทรัพยากรสัตว์น้ำเริ่มฟื้นฟู...ปลาทูขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว และพ่อแม่ปลามีขนาดโตเต็มที่...แต่ท้องทะเลสงบเงียบได้ไม่นาน การกลับคืนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรยังได้ไม่เต็มที่...
จุดเริ่มต้นการทำลายล้างเกิดขึ้นอีกครั้ง...ในปี 2539 สมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นั่งนายกฯ และ มณฑล ไกรวัตนุสสรณ์ นั่ง รมช.เกษตรฯ เปิดช่อง...แก้ไขประกาศปี 2526 ให้เรือปั่นไฟออกทะเลทำประมงในทะเลอ่าวไทยได้ มีผลให้กระบวนการลูกปลาทู และห่วงโซ่อาหารทางทะเล ถูกทำลายนับแต่นั้นเป็นต้นมา...
ปัจจุบันพบว่า...ลูกปลาทูถูกนำมาตากแห้งขายเกลื่อนตลาดติดชายทะเล แบ่งขายกันเป็นห่อละประมาณ 1,200 ตัวต่อกิโลกรัม ราคา 100-120 บาท และยังมีในเว็บไซต์ขายลูกปลาทูตากแห้งกิโลกรัมละ 320 บาท หากปล่อยให้ปลาทูโตเต็มวัยขนาด 10–14 ตัวต่อกิโลกรัม...สามารถขายได้เป็นเงิน 8,000–10,000 บาท
ในเชิงมูลค่า...การนำลูกปลาทูมาขายลักษณะนี้ไม่สมกับการสูญเสีย...ควรปล่อยให้ลูกปลาทูโตเต็มที่แล้วนำไปขายให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจดีกว่า ถ้ามีการซื้อขายลูกปลาทูบริโภคกันแบบนี้ ถือว่าเป็นการสนับสนุนการทำลายลูกปลาทูหนักที่สุด เพราะไม่มีข้อกฎหมายเอาผิดได้ และยิ่งอาจมีผลให้ปลาทูสูญพันธุ์เร็วขึ้น
เรื่องนี้มีชาวประมงพื้นบ้านหลายพื้นที่เห็นผลกระทบกันแล้ว เพราะสามารถจับปลาทูได้น้อยลง ทำให้ต้องรวมกลุ่มกัน “ต่อต้าน...” ไม่ให้มีการทำประมงเรือปั่นไฟ จนในพื้นที่ทรัพยากรพันธุ์สัตว์น้ำเพิ่มขึ้น
“แต่นี่เป็นเพียงกลุ่มคนเล็กๆเท่านั้น ไม่อาจหยุดยั้งกระบวนการทำลายล้างลูกปลาทูไว้ได้ เพราะปัญหานี้หมักหมมมากว่า 23 ปี เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง...หากการแก้ปัญหาถาวร ต้องยกเลิกประกาศกระทรวงฯ ปี 2539 และหันมาใช้ประกาศปี 2526 แทน ซึ่งเป็นการยุติทำลายลูกปลาทูได้อย่างชัดเจน” บรรจง ว่า
อีกความจริงที่ต้องพูดกัน...มาตรการควบคุมการทำการประมงในช่วงเวลา “ปิดอ่าวตอนกลางและตอนใน” หรือกำหนดเขตห้ามทำการประมงในพื้นที่ประมาณ 7 ไมล์ทะเล นับจากเขตชายฝั่งของเรือประมงพาณิชย์นั้น แม้มาตรการนี้ออกมาเข้มงวดเพียงใด...ก็ไม่เป็นผล...หากยังปล่อยให้ทำประมงด้วยเรือปั่นไฟ
ต้นเหตุล่อลูกปลาทูด้วยแสงไฟ ถูกจับก่อนย้ายตามวงจรพื้นที่ปิดอ่าว เช่น ปิดอ่าวไทยตอนกลาง วันที่ 15 ก.พ.-15 พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงวางไข่ปลาทู และตัวอ่อนเคลื่อนย้ายเข้าอ่าวไทยตอนใน เมื่อหมดช่วงปิดอ่าวไทยตอนกลางแล้ว ในระหว่างลูกปลาทูเคลื่อนย้ายก็ถูกเรือปั่นไฟล่อถูกจับก่อน...ปัญหานี้ก็กลับถูกมองข้าม ไม่มีใครสนใจ...
“เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา คณบดีกรมประมง ม.เกษตรศาสตร์ ลงพื้นที่สำรวจการจับลูกปลาทู...ถึงกับตกใจ มีเรือประมงพาณิชย์จับลูกปลาทู 2 ตันกว่า...หลังเปิดอ่าวไทยตอนกลางไม่กี่วัน...ถือว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่ไม่ปล่อยให้ลูกปลาเติบโตขึ้น”
การแก้ปัญหาป้องกันลูกปลาทูถูกจับนั้น...ต้องให้ออก พ.ร.ก.การประมง 2558 ตาม ม.57 ห้ามนำสัตว์น้ำเศรษฐกิจขนาดเล็กขึ้นเรือ...ที่ให้อำนาจ รมว.เกษตรฯ เป็นผู้ออกประกาศนี้...จนมาถึงวันนี้ผ่านมาแล้ว 4 ปี พ.ร.ก.การประมง 2558 ตาม ม.57 ก็ยังนอนหลับ...ยังไม่มีวี่แววจะคลอดออกมา...
สาเหตุจากกลุ่มเรือใช้อวนลาก และเรือประมงพาณิชย์ ขัดขวางไม่ให้ออกกฎหมายนี้มา เพราะกระทบต่อการจับสัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา นำไปแปรรูปเป็น “ปลาป่น” และมีความพยายามใช้ “พลังภายในสู้กันอยู่” ระหว่างกรมประมง...และกลุ่มประมงพาณิชย์...
เมื่อใด...กฎหมายนี้ออกมา...ที่มีบทลงโทษรุนแรง กลุ่มประมงต้องปรับกระบวนการจับสัตว์น้ำแบบใหม่ ให้ปลาเล็กสามารถหลุดรอดการจับออกไป...
...
หากจับปลาเล็กขึ้นมา จะมีความผิดตาม ม.57 ทันที
ทว่า...ความจริงแล้ว ควรยกเลิกทำปลาป่นแบบ by catch เพราะใช้วัตถุดิบจากทะเลไทย ทั้งลูกกุ้ง หอย ปู ปลา หรือพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนมากมายมาป้อน ที่ได้จากทำประมงเรืออวนลาก อวนรุน หรือเรือปั่นไฟ และหยุดซื้อลูกปลานี้ จะช่วยให้สัตว์น้ำวัยอนุบาลกลายเป็นผลผลิตมูลค่ามหาศาลในอนาคต
และหันมาทำปลาป่น by–product ที่ใช้เศษปลาที่ได้จากโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ หรือโรงงานผลิตกระป๋อง โรงงานผลิตลูกชิ้นปลา มาเป็นวัตถุดิบแทนลูกปลา ในแต่ละปีผลิตปลาป่นทั้งหมด 500,000 ตัน มีการส่งออกต่างประเทศ 300,000 ตัน และใช้ในประเทศ 200,000 ตัน เพราะปลาป่นเป็นแหล่งโปรตีนสูงราคาถูก...
หากต้องการแก้ปัญหาลูกปลาถูกทำลาย ต้องยกเลิกการทำปลาป่นแบบ by catch เพราะเป็นการทำลายทรัพยากรของคนทั้งประเทศ และยิ่งมีการส่งออกมาก...ยิ่งมีการทำลายทรัพยากรมากเท่านั้น
ถือว่าเป็นเรื่องท้าทาย...ความกล้าหาญของ “รัฐบาล”...หยุดทำ “ปลาป่น” บางประเภท เพราะมีงานวิจัยกรมประมงพบว่า เรือประมงจับปลา 100 กิโลกรัม มีเพียง 33 เปอร์เซ็นต์ นำไปใช้เป็นอาหาร ส่วน 67 เปอร์เซ็นต์ ถูกคัดแยกเข้าโรงงานทำปลาป่น และปลาป่น 1 กิโลกรัม ต้องใช้ลูกปลามาเป็นวัตถุดิบ 4 กิโลกรัม
ลองมาคิดกันเล่นๆ ปลาป่น 1 กิโลกรัม ต้องใช้สัตว์น้ำวัยอ่อนประมาณ 4 กิโลกรัม หากผลิตปีละ 500,000 ตัน นั่นหมายความว่า...ปลาขนาดเล็กต้องตายไปปีละ 2,000,000 ตัน มาคิดกันต่อว่า...ในจำนวนนี้หากปล่อยให้ปลาโตเต็มวัย จะสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจมากมายมหาศาลขนาดไหน ...ลองจินตนาการกันดูเอง...
สิ่งสำคัญ...ธุรกิจปลาป่นมีกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และมีบุคคลสำคัญในสภาผู้แทนราษฎรบางคนทำธุรกิจนี้ และให้การสนับสนุนกันอยู่ กลายเป็นว่าหน่วยงาน...“เกรงใจ” และความหวังแก้ปัญหาการทำลายสัตว์น้ำในทะเลคงลดน้อยลง เพราะไม่มีใคร...ที่จะเสนอกฎหมายทำลายธุรกิจทุบหม้อข้าวของตัวเองได้?
...
“สัตว์น้ำทะเล” คือ “ทรัพยากร” ของคนทั้งชาติ...กุ้ง หอย ปู ปลา เป็นสมบัติของประเทศ การจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก...มาทำลาย ก็เหมือนกับทำลายสมบัติของชาติด้วยเช่นกัน.