เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เผยความคืบหน้า วันที่ 16 ก.ค.นี้ จะมีการจัดการฝึกอบรมเจ้าพนักงานตำรวจศาล ที่ศูนย์ฝึกอบรมตลิ่งชัน ตามที่กฎหมายเจ้าพนักงานตำรวจศาลกำหนดไว้
วันที่ 1 ก.ค.2562 นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงความพร้อมการจัดอัตรากำลัง “เจ้าพนักงานตำรวจศาล” (Court Marshal) ว่า สำหรับกำลังอัตราของเจ้าพนักงานตำรวจศาลกำหนดไว้ 40 อัตรา ผ่านการคัดเลือกจากผู้สมัครหลายร้อยคน รอการยืนยันโอนย้ายเพื่อมาบรรจุเป็นเจ้าพนักงานตำรวจศาล ส่วนตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มระดับชำนาญการพิเศษ, ชำนาญการ ส่วนใหญ่รับโอนมาจากทหาร ตำรวจ และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม โดยวันที่ 16 ก.ค.นี้จะต้องจัดกำลังอัตราและจัดการฝึกอบรมเจ้าพนักงานตำรวจศาล ที่ศูนย์ฝึกอบรมตลิ่งชัน ตามที่กฎหมายเจ้าพนักงานตำรวจศาลกำหนดไว้ เพิ่มความเข้มข้นจากผู้เชี่ยวชาญ ปรมาจารย์ด้านกฎหมาย ส่วนทักษะภาคสนามส่วนใหญ่ผ่านการฝึกอบรมมีทักษะมาจากหน่วยงานสังกัดเดิมอยู่แล้ว ด้านความเจริญก้าวหน้าตามสายงานสามารถเติบโตได้ตำแหน่งสูงสุดคือ ระดับรองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ถ้าเทียบระดับตามระบบซี คือ ซี 10
นายสราวุธ อธิบายภารกิจของเจ้าพนักงานตำรวจศาลว่า เจ้าพนักงานตำรวจศาลมีภารกิจด้านติดตามจับกุมผู้ต้องหาหรือจำเลยที่สวมกำไลข้อเท้า EM แล้วหลบหนีระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ที่ขณะนี้มีจำนวน 163 คน เมื่อเริ่มการปฏิบัติหน้าที่ต้องติดตามจับกุมผู้ต้องหา หรือจำเลยที่หลบหนีมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป โดยเจ้าพนักงานตำรวจศาลมีหน้าที่ประสานงานตำรวจที่มีอำนาจหน้าที่หรือผู้ที่มีเกี่ยวข้องตามหมายจับผู้ต้องหาหรือจำเลยก่อน หากยังไม่ดำเนินการหรือกรณีเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเจ้าพนักงานตำรวจศาลสามารถดำเนินการได้เอง
ต่อข้อถามว่า ในส่วนของผู้ต้องหาและจำเลยเคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ที่ได้หลบหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ เช่น นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายจักรภพ เพ็ญแข อดีต รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในยุครัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เมื่อมีเจ้าพนักงานตำรวจศาลแล้วจะสามารถตามไปจับกุมมารับโทษตามคำพิพากษาได้หรือไม่ นายสราวุธกล่าวว่า ในส่วนผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนีคดีไปต่างประเทศนั้น เป็นเรื่องของการประสานงานระหว่างประเทศ และตำรวจสากล หรืออินเตอร์โปล (INTERPOL)
...
การติดตามจับกุมตัวบุคคลที่กระทำผิดในต่างประเทศ ไม่มีเขตอำนาจในต่างประเทศ มีอำนาจหน้าที่ในเขตของประเทศไทยเท่านั้น ผู้ต้องหาและจำเลยที่หลบหนีไปต่างประเทศมักมีศักยภาพในการเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ทำให้จับกุมตัวได้ยาก แต่เชื่อมั่นว่าระบบตำรวจศาล และความร่วมมือในกระบวนการยุติธรรมจะดีขึ้น.