โลกยิ่งเปลี่ยนไว งานวิจัยยิ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ข้อมูลจาก www.nfs.gov ระบุปี 2559 สหรัฐฯให้งบประมาณในการวิจัยมากที่สุดในโลกคิดเป็นเงิน 496,585 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 2.74% ของจีดีพี ขณะที่จีนทุ่มงบฯ คิดเป็นเงิน 408,829 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 2.07% ของจีดีพี ให้กับงานวิจัย เจ้าแห่งเทคโนโลยีอย่างญี่ปุ่นเทงบฯ 170,003 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 3.29% ของจีดีพี
มาทางฟากฝั่งอาเซียน มาเลเซียมีงบประมาณใช้จ่ายเพื่อการวิจัย 10,637 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1.30% ของจีดีพี ตามมาด้วยสิงคโปร์ให้งบฯ 10,102.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 2.18% ของจีดีพี
ข่าวแนะนำ
ส่วนไทยให้งบฯ แค่ 0.63% ของจีดีพี คิดเป็นเงินประมาณ 6,947.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
จึงไม่น่าแปลกใจ ที่นักวิจัยไทยส่วนหนึ่งเลยสมองไหลไปเป็นลูกจ้างต่างชาติ
นอกจากจะด้วยเหตุผล ค่าจ้างมหาศาลบวกกับสวัสดิการมากมาย รวมไปถึงความท้อแท้ในระบบราชการ ที่กฎระเบียบหยุมหยิม วิจัยไปไม่ได้ใช้ประโยชน์ บางครั้งขาดงบวิจัยต่อยอด
แม้จะมีงบประมาณน้อยก็ตาม แต่ยังมีนักวิจัยไทยอีกไม่น้อยที่ยังคงรังสรรค์ผลงานดีๆออกมา และถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงเป็นรูปธรรม ทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
ข้อมูลสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ที่ผ่านมามีผลงานวิจัยได้รับทุนจาก สวก. สามารถทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมไปแล้วไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดผลพวงตามมามากมาย ทั้งการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ความร่วมมือกับภาคการศึกษา และภาคเอกชน
สำหรับกรอบการวิจัย สวก. ประจำปีงบประมาณ 2563 จะเน้นไปที่ 7 คลัสเตอร์การเกษตรไฮไลต์ ได้แก่ ข้าว, ปาล์มน้ำมัน, อาหารเพื่อเพิ่มคุณค่าและความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคและการค้า, พืชสวนพืชไร่, สมุนไพรไทย, สัตว์เศรษฐกิจ และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
แต่งานวิจัยไทยจะรุดหน้าเหมือนอารยประเทศได้แค่ไหน ดูเหมือนอุปสรรคใหญ่หลวงยังคงติดขัดอยู่กับเรื่องเดิมๆ...ระบบราชการล้าหลัง ปรับตัวก้าวตามโลกไม่ทัน.
สะ–เล–เต