กทม. ถก กสทช. นำสายสื่อสาร 2,450 กม. ลงใต้ดิน ภายใน 2 ปี เริ่มลงมือปลายเดือนพ.ค.นี้ มาตรฐานเดียวกับทั่วโลก ไม่กระทบต่อการจราจร ใช้พื้นที่ทางเท้าไม่มาก...

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.พร้อมนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้เกี่ยวข้องประชุมหารือการดำเนินโครงการบริหารจัดการนำสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพฯ ลงใต้ดิน เพื่อจัดระเบียบสายสื่อสารให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า กทม. มีแผนจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อให้เมืองมีทัศนียภาพที่สวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่รกรุงรัง ประกอบกับเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2560 ที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (DE) มีมติให้กทม.จัดทำแผนดำเนินงาน มาตรการและกลไกในการขับเคลื่อนการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ กทม.จึงหารือกับ กสทช. เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยกทม.ได้มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจ ของกทม.เป็นผู้ดำเนินโครงการฯ และได้ขอใบอนุญาตในการประกอบกิจการโทรคมนาคม ประเภทที่ 3 (มีโครงข่ายเป็นของตนเอง) เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2561

ทั้งนี้กทม.ตั้งเป้าภายใน 2 ปี จะนำสายสื่อสารตามถนนสายหลักและสายรอง ความยาวรวม 2,450 กิโลเมตร ลงใต้ดินให้ครบ คาดว่าจะเริ่มลงมือช่วงปลายเดือนพ.ค.นี้ แบ่งการทำงานเป็น 4 พื้นที่ คือ กรุงเทพเหนือ กรุงเทพตะวันออก กรุงธนเหนือ และกรุงธนใต้ โดยภายในปี 2562 นี้ จะต้องนำสายสื่อสารลงใต้ดิน 150 กม. ขึ้นไป

สำหรับการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ทางบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จะก่อสร้างวางท่อร้อยสาย โดยนำเทคโนโลยีท่อร้อยสาย จำนวนตั้งแต่ 14-21 ไมโครดัก ซึ่งมีความแข็งแรง ทนทาน เป็นมาตรฐานเดียวกับมหานครอื่นๆ ทั่วโลกใช้ มีการออกแบบให้ใช้งานได้อย่างน้อย 50 ปี การก่อสร้างจะไม่กระทบต่อการจราจร โดยจะมีการขุดวางท่อร้อยสายบริเวณทางเท้าลึกประมาณ 80 เซนติเมตร ความกว้างไม่เกิน 40 เซนติเมตร เทคโนโลยีการวางท่อร้อยสายใช้พื้นที่ทางเท้าไม่มาก และจะไม่กระทบต่อคนที่สัญจรบนทางเท้า

...

ด้านนายฐากร กล่าวว่า กสทช.ได้ให้กทม.จัดเตรียมแผนการนำสายสื่อสารลงดินเป็นระยะให้ชัดเจน เพื่อที่กสทช.จะประสานผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม นำสายสื่อสารลงใต้ดินควบคู่ไปกับการวางท่อร้อยสายเป็นระยะ เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการ สำหรับอัตราค่าบริการเช่าท่อร้อยสาย กทม.จะนำราคาต้นทุนมาให้กสทช.ช่วยพิจารณา เพื่อกำหนดอัตราค่าบริการ จากนั้น กสทช.จะประสานผู้ประกอบการเข้ามาดูอัตราค่าบริการต่างๆ หากส่วนใดที่ กสทช.สามารถอำนวยความสะดวกให้ได้ จะเร่งดำเนินการ เช่น การลดหย่อนค่าดำเนินการ เพื่อจูงใจให้นำสายลงดินให้เร็วที่สุด.