หากคุณต้องเตรียมตัวไปปฏิบัติภารกิจระดับชาติ แต่กำลังมีความสับสนกับเพศสภาพของตัวเอง ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งข้อมูลจากใคร ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ มีเกร็ดความรู้แนวทางปฏิบัติมาฝาก โดยเฉพาะสาวประเภทสอง และคนข้ามเพศต้องไปเกณฑ์ทหาร โดยปีล่าสุดจัดขึ้นทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 - 12 เมษายน 2562  สำหรับใครที่ผ่านการเกณฑ์ทหารไปแล้วคงจะพอทราบขั้นตอนอยู่บ้าง ส่วนใครที่ไม่เคยรู้มาก่อน เราได้เอาข้อกฎหมายและการเตรียมตัวทั้งหมดมารวบรวมไว้ให้ได้หาข้อมูลกัน

เตรียมความพร้อม เปิดประสบการณ์ใหม่ 

อันดับแรกรู้ไว้เลยว่า เราต้องพร้อมที่จะไปเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ไม่ว่ากรณีใดๆ ต้องไปเข้าร่วมและไปให้ตรงเวลา และแต่งกายให้เหมาะสม ไม่โป๊เปลือยจนกลายเป็นที่สะดุดตาน่าเกลียด และถ้าเป็นนักศึกษาใส่ชุดนักศึกษาไป และต้องสำรวมกิริยามารยาทให้เหมาะสมเมื่อต้องติดต่องานกับหน่วยงานทางราชการ ที่สำคัญที่สุด ไม่ควรทำร้ายตัวเองเพียงเพราะไม่อยากเป็นทหาร เช่น ฉีดน้ำเกลือเข้าหน้าอกตัวเอง, เอานมข้นหวานหยอดหูเพื่อหลอกว่าเป็นหูน้ำหนวก หรือตัดนิ้วชี้ตัวเองให้เกิดความพิการ และอื่นๆ ที่ตบตาเจ้าหน้าที่หวังเพื่อยกเว้นหลักเกณฑ์ 

นอกจากนี้ ใจต้องพร้อมมากที่สุด "เป็นตัวของตัวเอง" ปกป้องสิทธิของตัวเองหากถูกบังคับในสิ่งที่เราไม่อยากทำ อดทนอดกลั้นต่อสายตากองเชียร์ เสียงแซวต่างๆที่อาจเกิดขึ้น ไม่หวั่นไหวหรือคิดมากน้อยใจใดๆ ต้องเตรียมตัวไปเผชิญกับสถานการณ์ที่คนไม่เคยพบเจอมาก่อน ซึ่งว่าไปแล้วมันอาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ จิ๊บๆสำหรับคุณไปเลยก็ได้ 

...

ขั้นตอน กระบวนการเกณฑ์ทหาร

ต้องรู้ด้วยว่า ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาให้แก้ไขข้อความว่า “เป็นโรคจิตถาวร” เป็น “ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” ในใบเอกสารสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกณฑ์ทหาร และต้องรู้ทักษะการต่อรองหากถูกสั่งให้ถอดเสื้อต่อหน้าคนจำนวนมาก สังเกตและประเมินสถานการณ์เบื้องหน้าเพื่อประเมินว่าจะโดนปฏิบัติอย่างไรและเตรียมพร้อมรับมือในสถานการณ์นั้น 

สถานการณ์คนข้ามเพศในกระบวนการเกณฑ์ทหาร ที่อาจจะต้องเจอ  

- อาจถูกสั่งให้ถอดเสื้อ ในกรณีนี้ถ้าใส่เสื้อที่มีกระดุมอยู่แล้ว สามารถปลดกระดุมได้ 2-3 เม็ดเพียงเท่านี้ก็ทราบได้ว่ามีนมหรือไม่ แต่ถ้าไม่ได้ใส่เสื้อเชิ้ตไปควรเจรจากับเจ้าหน้าที่ว่าขอไปทำในที่มิดชิด บริเวณใกล้เคียงที่ไม่ไกลจากสายตาผู้คนมากนัก ทั้งนี้เพื่อป้องกันการถูกล่วงละเมิดด้วย ถ้าเรายังถูกบังคับ ให้ร้องเรียนต่อประธานกรรมการการตรวจเลือกฯ ได้

- ถูกชวนเชื่อต่างๆ เช่น ถ้าไปเป็นทหารจะไม่ให้ฝึก จะให้ไปทำงานสบายๆ ในครัวหรือในสำนักงาน ถ้าเจอเหตุการณ์นี้ไม่ควรหลงเชื่อคำชักจูงใดๆ เพราะคนที่มีอำนาจตัดสินใจว่าเราจะได้จับใบดำใบแดงหรือไม่คือเจ้าหน้าที่ที่ตรวจร่างกายเราไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทหารระดับปฏิบัติการที่เดินอยู่ในบริเวณนั้น

- ถูกชวนไปมีเพศสัมพันธ์ เราไม่ควรมีพฤติกรรมเชิงชู้สาวกับเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกันการหาผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่เพราะกะเทยส่วนมากจะถูกล่วงละเมิดในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก ในบางครั้งเจ้าหน้าที่ก็จะมาชวนเชื่อต่างๆ นานาก็ไม่ควรหลงเชื่อ ควรจะเคารพตนเอง เคารพสถานที่ จึงไม่แนะนำให้มีพฤติกรรมเชิงชู้สาวในสถานการณ์นี้

- ถูกสั่งหรือขอให้ไปช่วยเสิร์ฟน้ำ บีบนวดเจ้าหน้าที่ หรือเข้าร่วมการประกวดเพื่อสร้างบรรยากาศ เราควรหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้ถึงแม้ว่าสถานการณ์ดังกล่าว เป็นสถานการณ์ที่เราอาจจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ใครสั่งอะไรก็ต้องทำด้วยความกลัว ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่ทำให้กะเทยถูกใช้เป็นเครื่องมือจากฐานคิด ที่ไม่ส่งเสริมการเคารพศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมกันในสังคม ดังนั้นเราไม่ควรสนับสนุนวิธีปฏิบัติแบบนี้ และต้องหาวิธีการปฏิเสธที่เหมาะสม

- กรณีที่รูปร่างการแต่งกายยังไม่ดูเป็นผู้หญิงมากแต่จิตใจเป็นหญิงแล้ว เช่น ยังไม่มีหน้าอก ผมยังไม่ยาว เหล่านี้มีสิทธิที่จะผ่านการตรวจร่างกายสูงมาก ดังนั้น ถ้ามีเอกสารใดๆ เช่น ใบรับรองจากจิตแพทย์ เป็นต้น ให้รีบยื่นในขั้นตอนการตรวจร่างกายหรือร้องเรียนต่อประธานกรรมการการตรวจเลือกฯ ก่อนที่จะต้องจับฉลากเพื่อยันยันความเป็นตัวเอง

คุณได้รับการยกเว้น 

คุณโน๊ต เจษฎา แต้สมบัติ ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ข้อมูลไว้ว่าในสายตาทหาร เขาแบ่งกะเทย หรือสาวประเภทสองออกเป็น 3 ประเภทด้วยกันคือ เห็นได้ด้วยตา หมายถึง เห็นได้จากภายนอก ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายชัดเจน เช่น หน้าอก แพทย์ในหน่วยตรวจเลือกสามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด

ส่วนกะเทยหลายคนที่ไม่มีการปรับเปลี่ยนร่างกาย ไม่ได้ทำหน้าอก ไม่ได้แปลงเพศ เพราะบางคนอายุไม่ถึง 20 ปี หลายคนยังเรียนอยู่ หลายคนมีข้อจำกัดเรื่องเงินค่าผ่าตัด คนกลุ่มนี้ทหารก็อยากจะให้ไปขอใบรับรองแพทย์ กลุ่มสุดท้ายคือ ผู้ที่มีจิตใจเป็นผู้หญิง แต่ไม่สามารถใช้วิถีชีวิตเป็นผู้หญิงได้ ด้วยข้อจำกัดต่างๆ เช่น บางคนยึดอาชีพครู บางคนทางบ้านยังไม่ยอมรับ ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนได้ 

...

จับผิดคนปลอมตัวเป็นกะเทย 

คุณโน๊ต เจษฎา แต้สมบัติ ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน  บอกเราด้วยว่า การที่จะตรวจสอบว่าเป็นกะเทยจริงๆ ไม่ใช่พวกแอบอ้างเพื่อหนีทหาร เราเคยพาน้องๆ กะเทยไปตรวจที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา พบว่า แพทย์จะมีวิธีวินิจฉัยอย่างละเอียด  เช่น ต้องพบกับจิตแพทย์ถึง 3 คนในการรับรอง ต้องทำแบบทดสอบทางจิตวิทยากว่า 800 ข้อ ตรงนี้จะเป็นวิธีสกรีนได้ในระดับหนึ่งว่าใครมีภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด 

สมมติว่าคุณจะไปเกณฑ์ทหาร คุณจะยอมไหมที่จะถูกเรียกว่ามีภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด ซึ่งหมายความว่าคุณเป็นกะเทย เป็นสาวประเภทสอง แล้ววันที่คุณไปเกณฑ์ทหารต้องเจอทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อน กองเชียร์ ธรรมชาติของผู้ชายไม่มีทางที่จะลดเกียรติของตัวเองว่าฉันเป็นกะเทย ฉันมีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด ไม่ยอมไปเข้าแถวของสาวประเภทสองที่ถูกจัดไว้ให้เฉพาะ  

ที่สำคัญเอกสารประจำตัว แสดงยืนยันว่าเราพ้นจากการเกณฑ์ทหารแล้ว ไม่ว่าจะสอบเข้าเรียน เอกสารสมัครงาน หรือการเดินทาง คุณต้องใช้มันไปตลอดชีวิต ที่ผ่านมาจึงไม่เคยพบว่า ใครต้องปลอมมาเป็นกะเทยเพราะอยากหนีทหาร 

พบจิตแพทย์ 20 โรงพยาบาลทั่วประเทศ 

สำหรับขั้นตอนหรือวิธีตรวจสอบของจิตแพทย์เรื่องการออกใบรับรองแพทย์ กรณีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดจะไม่ได้มีการเปิดเผยให้บุคคลอื่น สำหรับผู้ที่สงสัยว่าตนเองมีโรคที่น่าจะขัดต่อการเข้ารับราชการทหาร ให้เข้ารับการตรวจโรคก่อนการตรวจเลือกทหาร สามารถเข้ารับการตรวจโรคที่โรงพยาบาลทหารสังกัดกองทัพบกมี 20 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งโรงพยาบาลจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคไว้เป็นการเฉพาะ และจะต้องมีใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลสังกัดกองทัพบกไปเป็นหลักฐานยืนยันในการตรวจเลือกว่าเป็นโรคที่ขัดต่อการรับราชการทหาร (กำหนดช่วงการตรวจ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม - 20 กุมภาพันธ์)

...

สามารถขอรับการตรวจโรคจากโรงพยาบาลที่กำหนด โดยไม่จำกัดภูมิลำเนาทหาร สถานที่เข้ารับการตรวจ คือ โรงพยาบาลทหารสังกัดกองทัพบก 20 แห่ง โรงพยาบาลในสังกัดกองทัพบกส่วนกลาง 1. รพ.พระมงกุฎเกล้า (กรุงเทพฯ) 2. รพ.อานันทมหิดล (ลพบุรี) 3. รพ.ค่ายธนะรัชต์ (ประจวบคีรีขันธ์) 4. รพ.โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ฯ (นครนายก) 5. กองทัพภาคที่ 1 รพ.ค่ายจักรพงษ์ (ปราจีนบุรี) 6. รพ.ค่ายสุรสีห์ (กาญจนบุรี) 7. รพ.ค่ายอดิศร (สระบุรี) 8. รพ.ค่ายนวมินทราชินี (ชลบุรี)


9. กองทัพภาคที่ 2 รพ.ค่ายสุรนารี (นครราชสีมา) 10. รพ.ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ (อุบลราชธานี) 11. รพ.ค่ายประจักษ์ศิลปาคม (อุดรธานี) 12. รพ.ค่ายวีรวัฒน์โยธิน (สุรินทร์) 13. รพ.ค่ายกฤษณ์สีวะรา (สกลนคร) 14. กองทัพภาคที่ 3 15. รพ.ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พิษณุโลก) 16. รพ.ค่ายจิรประวัติ (นครสวรรค์),รพ.ค่ายสุรศักดิ์มนตรี (ลำปาง) 17. รพ.ค่ายกาวิละ (เชียงใหม่)
18. กองทัพภาคที่ 4 รพ.ค่ายวชิราวุธ (นครศรีธรรมราช) 19. รพ.ค่ายเสนาณรงต์ (สงขลา) 20. รพ.ค่ายอิงคยุทธบริหาร (ปัตตานี)

...

เอกสารและหลักฐานที่ใช้ในการยื่นตรวจกับทางโรงพยาบาล

1. บัตรประจำตัวประชาชน
2. ใบสำคัญ (แบบ สด.9)
3. หมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (แบบ สด.35)
เปิดให้บริการวัน จันทร์ ถึง วันศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดที่ทางราชการกำหนด) ตั้งแต่เวลา 08:00 - 12:00 น. *ไม่เสียค่าธรรมเนียม (ยกเว้นกรณีที่ต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติม)*

ส่วนบุคคลจำพวกที่ 3 ได้แก่ คนซึ่งมีร่างกายยังไม่แข็งแรงพอที่จะรับราชการทหารทหารในขณะนั้นได้เพราะป่วย ซึ่งจะบำบัดให้หายไม่ได้ภายในกำหนด 30 วัน กรณีนี้ให้เรียกมาตรวจเลือกในคราวถัดไปเมื่อคณะกรรมการตรวจเลือกได้ตรวจเลือกแล้วยังคงเป็นคนจำพวกที่ 3 อยู่รวม 3 ครั้ง ให้งดเรียก (การนับครั้งจะนับครั้งให้เฉพาะที่ได้ตัวมาตรวจเลือกถ้าตัวไม่มาตรวจเลือกไม่นับครั้งให้)

ขอบพระคุณข้อมูลบางส่วนจาก ilaw.or.th