เรื่องราวในเฟซบุ๊กของหนุ่มไทยรายหนึ่ง ป่วยหนักเนื้องอกในสมอง รักษาหลายปีไม่ดีขึ้น ไม่อยากให้ญาติเดือดร้อนอีกต่อไป จึงขายเครื่องดนตรีสุดรัก เดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์เข้ารับการการุณยฆาต (Mercy killing) จบเส้นทางชีวิตด้วยศักดิ์ศรี

พร้อมเล่นกีตาร์เพลงสุดท้าย "เธอรู้หรือเปล่า" รำลึกถึงหญิงคนรัก ได้สร้างความเศร้าโศก และจุดความสนใจของคนในขณะนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการทำ "การุณยฆาต" ซึ่งเมืองไทยไม่มีกฎหมายรองรับ และมีโอกาสเป็นได้ยากมาก ด้วยหลายเหตุผล

ขณะที่ พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า การุณยฆาตที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นไปตามกฎหมาย และมีในบางประเทศในยุโรป และบางรัฐในสหรัฐอเมริกา ซึ่งอนุญาตให้ทำได้ แต่กระบวนการต้องเป็นไปตามกฎหมายรองรับ มีขั้นตอน เงื่อนไขที่ชัดเจน ไม่ใช่ใครก็ทำได้ ส่วนประเทศไทยเป็นไปได้ยาก จากหลายเหตุผลในการรักษาพยาบาล และข้อกำหนดของโรคที่มีความจำเป็นต้องทำการุณยฆาต รวมทั้งระบบประกันชีวิต

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาไทยมี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมาตรา 12 ระบุบุคคลมีสิทธิแสดงเจตจำนงจากไป หรือตายแบบธรรมชาติ ซึ่งผู้ป่วยจะปฏิเสธการรักษา หรือการยื้อชีวิตด้วยอุปกรณ์ใดๆ ก็ตาม โดยทำเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ล่วงหน้า เรียกว่า Living Will มีผลใช้บังคับกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ว่าญาติ หรือแพทย์ที่ทำการรักษา จะต้องเคารพเจตนาของผู้ป่วยที่ปฏิเสธการรักษาตามที่ได้แสดงเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ ซึ่งปัจจุบันยังพบว่ามีผู้ป่วยน้อยรายที่จะแสดงเจตจำนงนี้

“ขอให้ผู้ที่รับข่าวสารอย่าสับสนกับคำว่า ”การุณยฆาต” ที่มีเฉพาะบางประเทศในยุโรปและบางรัฐในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีกฎหมายรองรับ โดยแตกต่างจาก Living Will หรือการปฏิเสธการรักษาในผู้ป่วยที่ต้องการตายแบบธรรมชาติ” เลขาธิการแพทยสภา กล่าวย้ำในที่สุด

...

สำหรับสาระ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ในหมวดที่ 1 สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ โดยมาตรา 12 ระบุ “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง”

นอกจากนี้เว็บไซต์ thailivingwill.in.th ซึ่งเผยแพร่แนวคิดการตายอย่างมีศักดิ์ศรี ด้วยการรักษาพยาบาลที่เคารพในเจตจำนง คุณค่า และศรัทธาของผู้ป่วย ระบุเบื้องต้นเกี่ยวกับมาตรา 12 ไว้ว่า ผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต สามารถแสดงความประสงค์ที่จะไม่รับบริการทางการแพทย์ เช่น การใช้เครื่องมือทางการแพทย์ที่เป็นไปเพื่อยืดความเจ็บป่วยทรมานโดยไม่จำเป็น หากแต่ผู้ป่วยยังคงได้รับการดูแลจากแพทย์ พยาบาลตามความเหมาะสม เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดและอาการต่างๆ 

ทั้งนี้บุคคลทั่วไป หรือผู้ป่วยที่มีสติสัมปชัญญะดี สามารถทำหนังสือแสดงเจตนา ตามมาตรา 12 ได้ด้วยตนเอง แต่ควรปรึกษาหารือกับแพทย์ พยาบาล ที่มีความเข้าใจเรื่องนี้ ส่วนในกรณีผู้ป่วยเด็กนั้น ควรให้พ่อ แม่ ผู้ปกครอง หรือญาติที่ให้การดูแลมีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือกับแพทย์ โดยผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาควรแจ้งให้คนในครอบครัว ญาติมิตร คนใกล้ชิดรับทราบเรื่องการทำหนังสือแสดงเจตนา

ในส่วนแพทย์ พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยตามหนังสือแสดงเจตนา ไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย เพราะทำด้วยเจตนาดี ตามความประสงค์ของผู้ป่วย และกฎหมายสุขภาพแห่งชาติให้ความคุ้มครองไว้ แพทย์ พยาบาลควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคหรือสภาพของผู้ป่วยแก่ผู้ป่วยหรือญาติตามความเป็นจริง ไม่ควรปิดบังข้อมูลใดๆ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงช่วงเวลาและจังหวะที่เหมาะสม ส่วนสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลควรจัดทำแบบฟอร์มหนังสือแสดงเจตนา เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องการทำหนังสือแสดงเจตนา โดยแพทย์ พยาบาลควรอธิบายขั้นตอนการทำหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าวให้ผู้ป่วยหรือญาติทราบ.