“หมอปิยะสกล” ไขข้อข้องใจเรื่องกัญชา ยัน ก.ม.ใหม่ระบุชัด กัญชายังเป็นยาเสพติด แต่ให้นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์-งานวิจัยได้เท่านั้น ชี้เป็นเหตุให้ต้องรัดกุม คุมเข้มในการปลูก ย้ำไม่มีการผูกขาด “ขายผลิตภัณฑ์กัญชา” จากภาครัฐ ขอให้เชื่อกันบ้าง ทำเพื่อประโยชน์คนไทยล้วนๆ ส่วนการตั้งราคาขาย มั่นใจทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสม ขณะที่ องค์การเภสัชยังไม่กำหนดราคาขาย เพราะยังไม่ได้ผลิตออกมา ด้าน “ลีน่าจัง” โผล่แจ้งยื่นครอบครองกัญชา ระบุป่วยซึมเศร้า นอนไม่หลับ จึงไปหาน้ำมันกัญชามาใช้รักษา วอนรัฐควรมีความชัดเจนในการเข้าแจ้ง จะได้ไม่ต้องเสียเวลามาหลายรอบ

ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 4 มี.ค.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ถึงประเด็นกฎหมายเกี่ยวกับกัญชาและการกำหนดราคาขายผลิตภัณฑ์จากกัญชา ว่าจากที่หารือกับ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และทีมงานได้ข้อสรุปชัดเจนว่า สิ่งที่ประชาชนต้องรับทราบ คือกัญชายังเป็นยาเสพติด ซึ่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่มี 190 กว่าประเทศเป็นสมาชิกรวมถึงไทย ถือว่ากัญชาเป็นยาเสพติด ซึ่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ที่ออกมาใหม่ ถือว่ากัญชาเป็นยาเสพติด แต่ยกเว้นที่จะนำมาใช้เพื่อวิจัยและประโยชน์ทางการแพทย์ โดยประธานคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (INCB) ของสหประชาชาติ ก็ระบุว่าสิ่งที่เราทำถูกต้องแล้ว และที่จะเดินหน้า คือ นำเอากัญชาที่คนไทยใช้มานาน มาเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งเรามีศักยภาพอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าหลักการของ พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ คือ มุ่งหวังให้ไทยใช้ประโยชน์จากกัญชา ทั้งในแง่ของสังคม ประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ หลายอย่าง อยากให้ประชาชนทำความเข้าใจกับ พ.ร.บ.นี้ว่าไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ใคร ส่วน อย.มีหน้าที่กำกับ ไม่ได้มีหน้าที่ไปผลิตอะไร และทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ทำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้คนไทยทั้งสิ้น ไม่ได้เอื้อให้ต่างชาติ

...

ส่วนที่มีคนตั้งข้อสงสัยว่า จะเป็นการผูกขาดให้นายทุนโดยภาครัฐหรือไม่ นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า ถ้าเราไม่มีบทเฉพาะกาลกำหนดให้ทำโดยรัฐ 5 ปี ขณะนี้บริษัทต่างชาติที่ผลิตมาแล้ว เขาสามารถเทเข้ามาได้เลย ซึ่งแบบนี้ไม่ได้ การผลิตและจำหน่ายอะไรก็ตาม ต้องมีองค์กรราชการอยู่ด้วยเพื่อป้องกันเอาไว้ก่อน ดังนั้น 5 ปีนี้ต้องช่วยกัน ไม่ใช่เพ่งโทษซึ่งกันและกัน ควรรวมกันและสู้กับต่างประเทศมากกว่า ส่วนราคาขายน้ำมันกัญชา ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าควรจะเป็นเท่าไร 100 บาท 200 บาท ต้องมาดูก่อนหลายคนที่หวังดีกำลังไปสืบ เราก็พร้อมรับฟัง แต่กว่าสารสกัดกัญชาจะออกมาได้ อีกหลายเดือน เพราะฉะนั้น ฟังตามข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ อย่างการผลิต ถ้าผลิตได้จำนวนมากราคาก็ถูกลง แต่แน่ๆ คือ ทั้งหมดที่ทำเพื่อประโยชน์ของคนไทย ของผู้ป่วยโดยแท้ อย่าได้ห่วงกังวล ไม่ได้มาขูดเลือดกัน ส่วนจะมีการกำหนดราคากลางคล้ายกำหนดราคากลางยาทั่วไปหรือไม่ ต้องให้ส่วนที่พิจารณาเรื่องนี้ไปดูในรายละเอียด แต่นโยบายของเราชัดคือต้องเกิดประโยชน์ ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสม ต้องเชื่อกันบ้าง เมื่อไรที่เรามีความเชื่อศรัทธาซึ่งกันและกัน หลายอย่างในประเทศนี้จะไปได้ดี

เมื่อถามว่าการกำหนดหลายอย่างทำให้คนอยากปลูกกัญชาเข้าไม่ถึง นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า ต้องไปศึกษา พ.ร.บ. ซึ่งกัญชาเป็นยาเสพติด การปลูกจะต้องมีการควบคุมที่ชัดเจน ทุกประเทศก็ทำเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ท่านที่จะเสนออะไรก็ตาม ขอให้ไปศึกษากฎหมายนี้ด้วย เราอยู่ในประเทศที่ต้องทำตามกฎหมาย กฎหมายไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ผู้ใดผู้หนึ่ง แต่ออกเพื่อกำกับดูแลให้การใช้กัญชาเป็นไปโดยถูกต้อง อย่างการปลูกโดยทำในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชนก็ทำได้ ทั้งนี้สิ่งที่ อภ.ทำอยู่เป็นมาตรฐานระดับสูง คือ การผลิตยาโดยมาตรฐานทางการแพทย์หรือเมดิคัลเกรด ต่างชาติจะเห็นว่าเราทำในระดับนานาชาติจริงๆ แต่ขณะเดียวกัน การปลูกมีหลายระดับ ปลูกในโรงเรือนเหมือนกับกรีนเฮาส์ก็ได้ หรือปลูกในไร่ก็ได้ แต่ต้องมีการกำกับที่ชัด ไม่ใช่ใครจะเด็ดเอาไปใช้ได้ ใครจะดูแลอย่างไร ทุกอย่างต้องมีกฎเกณฑ์ นอกจากนี้เรายังมีการทำคู่มือเพื่อให้เข้าใจชัดเจน ทั้งผู้ที่จะใช้และปลูก เพราะฉะนั้น อย่ารีบร้อน การที่ อภ.ทำก่อน เพราะเตรียมการมานาน เป็นตัวอย่างที่ดีอันหนึ่ง ไม่ใช่ว่าจะให้ทุกอย่างออกมาก่อนแล้วเริ่มนับหนึ่งคงไม่ใช่ ประเทศไทยก็ไปไม่ทันคนอื่น

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวถึงกรณีข้อเสนอกำหนดราคากลางขายกัญชาทางการแพทย์ ว่าขณะนี้ อภ. ยังไม่ได้คิดราคาขาย เพราะยังไม่ได้ผลิตออกมา ต้องผลิตออกมาก่อน ซึ่งยังใช้เวลา อย่างไรก็ตาม หาก เป็นยาทั่วไป จะมีคณะกรรมการพิจารณาราคากลางของยา เพื่อกำหนดให้โรงพยาบาลต่างๆ มาซื้อได้ ในราคาที่เหมาะสม ส่วนเรื่องกัญชาจะเป็นเรื่องใหม่

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศของการรับแจ้งขึ้นทะเบียนการครอบครองกัญชา ตามกฎหมายนิรโทษการครอบครองกัญชาหากแจ้งภายใน 90 วันไม่ต้องรับโทษ ที่บริเวณชั้น 2 ศูนย์ผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ว่าตลอดช่วงเช้ามีคนเดินทางมาแจ้งการครอบครองกัญชา และสอบถามจำนวนมาก ขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย เดินทางมาด้วยเช่นกัน แต่มาเพื่อให้กำลังใจกับผู้ที่มาแจ้งการครอบครองกัญชา โดยนายศุภชัยกล่าวว่า ได้ติดตามกฎหมายของรัฐเกี่ยวกับเรื่องนี้ พบว่ามีการผูกขาดให้กับนายทุน โดยอาศัยกฎหมายกำหนด 5 ปีทุกอย่างต้องร่วมกับรัฐ แม้แต่ประชาชนในรูปของวิสาหกิจชุมชนก็เช่นกัน ตนจึงมาให้กำลังใจกับผู้ที่มาแจ้งการครอบครองว่า พรรคมีความพร้อมที่จะทำให้กัญชาสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง และปลูกได้อย่างเสรี ครอบครัวละ 6 ต้น โดยสามารถใช้ได้ภายในบ้านของตน ซึ่งพรรคยืนยันว่า คนไทยต้องได้ใช้ประโยชน์จากกัญชาทั้งหมด ไม่ใช่แค่ให้นายทุนเท่านั้น เพราะเราไม่แน่ใจว่าหลังจาก 5 ปีไปแล้วจะเป็นอย่างไร ไม่มีใครทราบ เพราะจากกฎหมายก็ชัดเจนว่าเป็นการรวบอำนาจ อย่างกรรมการที่พิจารณากัญชาก็มาจากภาครัฐ ซึ่งเป็นผู้ชี้ขาดว่าจะอนุญาตใครปลูก เป็นการผูกขาดชัดเจน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในจำนวนคนที่เข้ามาแจ้งการครอบครองกัญชา ปรากฏว่า น.ส.ลีนา จังจรรจา หรือลีน่าจัง มาแจ้งการครอบครองครั้งนี้ด้วย โดย น.ส.ลีนากล่าวว่า ตนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า นอนไม่หลับ จึงได้ไปศึกษาหาข้อมูลจนพบว่าน้ำมันกัญชาช่วยรักษาโรคได้ จึงไปติดต่อลุงตู้ และนำมาใช้พบว่าทำให้ตัวเองหลับได้สบาย และอาการกังวลก็ลดน้อยลงไปด้วย พร้อมระบุว่ามาตรการนี้ของ อย.ดี แต่ยังไม่มีความชัดเจน ประชาชนยังไม่ทราบว่าต้องใช้หลักฐานใดมายื่น ทำให้หลายคนเสียเวลา เสียเงินหลายรอบเพื่อมายื่น อีกอย่างต้องนำตัวยามาสำแดงยิ่งทำให้ประชาชนเกิดความหวาดวิตก กลัวโดนจับ จึงยังไม่มีใครกล้ามาแจ้ง จึงอยากให้ภาครัฐชี้แจงให้ชัด ให้ประชาชนได้ทราบอย่างทั่วถึงและจะได้กล้าออกมาลงทะเบียน

...