ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่คนกรุงฯและพื้นที่อื่นๆ กำลังประสบ เป็นปัญหาระดับประเทศ หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ยังคงหามาตรการในการลดปริมาณฝุ่น ทั้งในแบบระยะสั้นและระยะยาว เช่นเดียวกับ Project sky garden ที่ริเริ่มโครงการ

โดยนายณัทร ศรีกายกุล ประธานบริษัท Earth Craft TH จำกัด เนื่องจากเขาได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาฝุ่นควันมาในช่วง 2-3 ปี ก่อนหน้านี้ จึงได้หารือกับทีมนักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ ของไทย เพื่อทำเครื่องมือในการดักจับฝุ่น หรือ ไบโอฟิลเตอร์

นายณัทร เล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการ Sky garden ว่า หลังจากที่ได้รับรู้เรื่องของปัญหามลพิษและฝุ่นละอองขนาดเล็กแล้ว ทางบริษัท ต้องการสร้างเครื่องมือที่เป็น ไบโอฟิลเตอร์ ขึ้นมาเพื่อนำไปแก้ปัญหาฝุ่นควัน

จึงทำการค้นคว้าหาข้อมูล ก็ได้ไอเดียมาจากประเทศเยอรมนี ที่เขาใช้ “มอส” มาติดตั้งกับพัดลม ทำให้เกิดการไหลเวียนของอากาศขึ้น เมื่อเห็นไอเดียนี้ครั้งแรก ก็คิดว่าน่าจะซื้อเครื่องมือดังกล่าวจากประเทศเยอรมนี มาใช้ในประเทศไทย แต่ติดปัญหาหลักๆ คือ “มอส” ที่ใช้กับเครื่องมือนั้นเป็น มอสเมืองหนาว

หากนำมาใช้ในประเทศไทย ก็น่าจะตายทันที พันธุ์มอส ยังต้องถูกคัดเลือกพันธุ์ที่สามารถอยู่อาศัยได้ในสภาพอากาศประเทศไทย

ต่อมา คือราคาเครื่องมือนี้หากมีการนำเข้าจากประเทศเยอรมนี ราคาสูงถึง 25,000 เหรียญสหรัฐฯ ยังไม่นับรวมถึงภาษีนำเข้าและค่าขนส่ง และคิดว่าในเรื่องระบบทางลมของเครื่องที่ว่ายังสามารถพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น

...

จึงเกิดแนวคิดว่า หากในประเทศไทย สามารถประดิษฐ์เครื่องไบโอฟิลเตอร์ ในการดักจับฝุ่นควันได้ ก็จะทำให้ลดการนำเข้าเครื่องมือจากต่างประเทศได้อย่างมหาศาล

แนวคิดนี้ ยังส่งต่อถึงกลุ่มเกษตรกรด้วย เพราะหากมีการสร้างเครื่องนี้เป็นรูปธรรม จะมีความต้องการในการใช้ “มอส” จำนวนมาก

เกษตรกรก็จะมีรายได้ เพราะราคารับซื้อตารางเมตรมากกว่า 1,000 บาท โดยใน 1 ไร่ ปลูกมอสได้ มากถึง 1,000 ตารางเมตร

หากการสร้างเครื่องมือไบโอฟิลเตอร์ สัมฤทธิผลเป็นรูปธรรม นอกเหนือจาก เกษตรกร จะมีรายได้จากการปลูกมอสแล้ว ยังช่วยทำให้อากาศในประเทศเราดีขึ้น รวมถึงรายได้ไม่ไหลออกนอกประเทศด้วย

เมื่อได้แนวคิดนี้แล้ว และต้องการผลักดัน Project sky garden ให้เป็นรูปธรรม จึงไปปรึกษากับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เมื่อประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมาในการระดมสมอง สร้างเครื่องมือในการดักจับฝุ่นควันหรือไบโอฟิลเตอร์ขึ้นมา

โดยใช้ มอส เป็นปัจจัยหลักในการดูดจับฝุ่นควัน เริ่มแรกได้มีการทำการวิจัยในห้องปิดประมาณ 1 ตารางเมตร ปล่อยควันและมลพิษต่างๆ เข้าไปในห้องปิดดังกล่าว

ซึ่งมีปริมาณมากถึง 2,000 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และใส่ มอส ลงไปด้านในพร้อมระบบลม ปรากฏว่า ในเวลาเพียงแค่ 10 นาที ค่าฝุ่นลดลงมาเหลือแค่ 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

เมื่อทดลองต่อไปอีก 10 นาที ในห้องปิดดังกล่าว กลายเป็นอากาศบริสุทธิ์ และเมื่อทดลองระบบครบเวลา 40 นาที พบว่า อากาศในห้อง ค่าฝุ่นละออง กลายเป็นศูนย์

หลังจากทำการทดลองในระบบปิดแล้ว ก็ได้มีการไปหารือกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อพัฒนาระบบทางลมที่มีเซนเซอร์วัดค่า ทั้งก่อนและหลังที่จะดูดเอาฝุ่นเข้ามาในเครื่องนี้ ส่วนในเรื่องประสิทธิผลที่ทางเราคาดหวัง เครื่องมือนี้จะสามารถดูดมลพิษบริเวณรัศมี 5 เมตร เป็นอย่างน้อย

ทางกลุ่มมีความตั้งใจว่าจะทำให้แล้วเสร็จ และนำมาทดลองใช้งาน อย่างไรก็ดี ทางกลุ่มผู้ริเริ่มโครงการ จะมีการหารือกันอีกครั้งเพื่อให้โปรเจกต์นี้ มีความสมบูรณ์มากที่สุดในอนาคต