นักวิชาการด้านกฎหมาย แจง ก.ม.การส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปบาห์เรน ปม "นายฮาคีม" ชี้การดำเนินการจับกุมและส่งตัวฟ้องศาลของทางการไทยชอบด้วยกฎหมาย โดยฮาคีมต้องมีเหตุผลให้ศาลรับฟังแล้วจะไม่ส่งตัวกลับ...
เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2562 นายมาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด และ นักวิชาการด้านกฎหมาย ได้อธิบายกรณี "หลักกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ต่อกรณีนาย ฮาคีม" ดังนี้
ตอนนี้ประเทศไทยกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องการร้องขอให้มีการส่งตัวนักฟุตบอล นายฮาคีม อาลี โมฮัมเหม็ด อาลี อัลโอไรบี กลับไปยังประเทศบาห์เรน เนื่องจากทางการออสเตรเลียก็ได้มีการร้องขอให้ส่งบุคคลดังกล่าวกลับไปยังออสเตรเลียในฐานะที่เป็นบุคคลที่ทางการออสเตรเลียได้ให้สถานะความเป็นผู้ลี้ภัยให้กับนาย ฮาคีมแล้ว ผมในฐานะนักศึกษาปริญญาเอกในประเทศอังกฤษ ที่ทำดุษฎีนิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนโดยตรง จึงอยากนำเสนอข้อมูลและหลักกฎหมายเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญา โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อความเข้าใจในการติดตามข่าวนี้ดังนี้
ก่อนที่จะพิจารณาไปถึงรายละเอียดกรณีนายฮาคีม ผมขออธิบายลักษณะของโครงสร้างความร่วมมือในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามกฎหมายไทยก่อนว่า จากงานวิจัยปริญญาเอกของผมพบว่า โครงสร้างการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของทุกประเทศในโลกล้วนเป็นรู้แบบผสม (Hybridity) ของกระบวนการในการให้ความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญา (International Cooperation in Criminal Matters) และประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติในมาตรา ๑๓ (๑) ของพระราชบัญญัติ ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่วางหลักว่าหากคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ส่งด้วยวีถีทางการทูตนั้นไม่กระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ส่งคำร้องฯ ไปยังผู้ประสานงานกลาง (ประเทศไทย อัยการสูงสุดเป็นผู้ประสานงานกลางในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ตามมาตรา ๕) และในมาตรา ๑๓ (๒) วางหลักว่าถ้าทำร้องกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้กระทรวงการต่างประเทศเสนอความเห็นพร้อมด้วยคำร้องขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็ว ข้อกำหนดนี้แสดงให้เห็นว่าประเด็นเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนมีทั้งเรื่องประเด็นทางกฎหมายและเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
...
ตามข้อเท็จจริงของกรณีนายฮาคีม ทางการประเทศบาห์เรนได้ยื่นคำร้องขอให้ส่งตัวนายฮาคีม ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดในข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์ และมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง ซึ่งศาลของประเทศบาห์เรนก็ได้มีคำพิพากษจำคุกนาย ฮาคีมแล้ว เป็นเวลา 10 ปี แต่เนื่องจากนายฮาคีมได้เดินทางหลบหนีออกนอกประเทศ หากพิจารณาในประเด็นทางกฎหมายจะเห็นได้ว่า นายฮาคีมเป็นผู้กระทำผิดตามกฎหมาย แต่หลบหนีไม่รับโทษตามคำพิพากษา เนื่องจากการดำเนินกระบวนการยุติธรรมของแต่ละประเทศมีข้อจำกัดอยู่ภายใต้อธิปไตยและเขตอำนาจศาลของประเทศตนเท่านั้น จากข้อจำกัดดังกล่าว การขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหานี้อย่างต่อเนื่องยาวนานเป็นเวลากว่า 3,300 ปี ซึ่งกรณีนี้รัฐบาลประเทศบาห์เรนได้มีการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนมายังรัฐบาลไทยแล้ว

ดังนั้นประเด็นที่ว่าการจับนายฮาคีมเกิดขึ้นจากหมายจับของตำรวจสากล (Interpol) นั้นชอบหรือไม่ จึงไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะเมื่อรัฐบาลไทยได้รับคำร้องขอแล้ว เมื่อบุคคลที่ถูกร้องขอให้ส่งตัวกลับ (Requested Person) ซึ่งก็คือนายฮาคีม เดินทางเข้ามาถึงไทย เจ้าหน้าที่ของไทยมีอำนาจจับกุมได้โดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว
ส่วนสถานะความเป็นผู้ลี้ภัยของประเทศออสเตรเลียนั้น ในทางกฎหมายการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งให้การคุ้มครองบุคคลใดบุคคลหนึ่งในสถานะผู้ลี้ภัย นั่นหมายความว่า บุคคลดังกล่าวได้รับการคุ้มครองเมื่อบุคคลดังกล่าวนั้นอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของประเทศที่ให้สถานะดังกล่าว ซึ่งกรณีนายฮาคีมได้สมัครใจเดินทางออกจากประเทศผู้ให้สถานะผู้ลี้ภัยกับตนเอง ประกอบกับประเทศไทยเป็นประเทศผู้รับคำร้องให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศบาห์เรนแล้ว แม้ประเทศไทยจะไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับบาห์เรนก็ตาม แต่ธรรมเนียมการปฏิบัติในการให้ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องนี้ได้เป็นไปตามหลัก “ประติบัติต่างตอบแทน” (Principle of Reciprocity) เมื่อประเทศไทยพิจารณาว่าความผิดที่นายฮาคีมได้กระทำไว้ในประเทศบาห์เรน มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีขึ้นตามกฎหมายไทยไปถือว่าครบองค์ประกอบที่จะดำเนินการในการให้ความร่วมมือระหว่างประเทศด้วยวิธีการส่งนายฮาคีมให้กับประเทศบาห์เรนได้ การดำเนินการดังกล่าวถือว่าชอบด้วยหลักกฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติในทางระหว่างประเทศในการนำตัวผู้กระทำความผิดกลับไปพิจารณาหรือรับโทษที่ควรได้รับสำหรับการกระทำนั้น
ข้อสังเกตหนึ่งที่จะเห็นได้ในกรณีนายฮาคีม คือ กระทรวงการต่างประเทศได้ส่งเรื่องมาให้อัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลางแล้ว แสดงให้เห็นว่ากรณีนี้ได้รับการพิจารณาแล้วว่าไม่ใช่กรณีที่มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งในทางปฏิบัติการจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีที่ผู้ถูกร้องให้ส่งตัว (Requested Person) ไปกระทำความผิดขึ้นในหลายประเทศ และประเทศเหล่านั้นต่างร้องขอให้รัฐบาลไทยส่งตัวกลับ
กรณีนี้กฎหมายจะเปิดช่องให้รัฐบาลเป็นผู้พิจารณาว่าเมื่อมีหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำผิดของบุคคลคนเดียว รัฐบาลเลือกที่จะส่งบุคคลที่ถูกร้องให้กับประเทศใด เพราะความรับรู้เกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศ เป็นเรื่องเกินกว่าความรับรู้ของศาล ดังนั้นกฎหมายจึงเปิดช่องให้รัฐบาลเป็นผู้วินิจฉัยเลือกประเทศที่จะส่ง
...

แต่สำหรับกรณีนายฮาคีม ประเทศออสเตรเลียไม่ใช่ประเทศผู้ได้รับความเสียหายจากการที่นายฮาคีมเข้าไปทำผิดในประเทศแล้วหลบหนีออกมา อันจะมีเหตุให้ร้องขอให้ส่งตัวนายฮาคีมกลับไปยังประเทศออสเตรเลียตามหลักเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนแต่อย่างใด อีกทั้งไม่สามารถอ้างว่าประเทศออสเตรเลียได้ให้สถานะผู้ลี้ภัยกับนายฮาคีมแล้ว เพราะเรื่องดังกล่าวผูกพันแต่เฉพาะในอธิปไตยของประเทศออสเตรเลียเท่านั้น
เมื่อไทยไม่ได้ให้สถานะผู้ลี้ภัยกับนายฮาคีม และการร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนของประเทศบาห์เรนได้ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติในทางระหว่างประเทศแล้ว ทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ การปฏิเสธตามคำร้องขอของรัฐบาลออสเตรเลีย และการส่งตัวนายฮาคีมให้กับรัฐบาลบาห์เรนจึงเป็นเรื่องที่ชอบด้วยทั้งกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว คราวนี้ก็เหลือเพียงแต่ว่าข้อต่อสู้ของนายฮาคีมที่จะยกขึ้นในการพิจารณาต่อศาลนั้น จะมีเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้ศาลรับฟัง และเป็นเหตุให้ปฏิเสธการส่งตัวนายฮาคีมหรือไม่เท่านั้น
...
ดังนั้นการดำเนินการทั้งชั้นจับกุมและการพิจารณาส่งตัวนายฮาคีมไปฟ้องศาลเพื่อไต่สวนส่งผู้ร้ายข้ามแดนจึงเป็นเรื่องที่ชอบแล้ว
มาร์ค เจริญวงศ์
เด็กติดเกาะในแดนไกล
๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ร.ศ. ๒๓๗