ทนายยื้อเวลาขอหาหลักฐานสู้คดี
ศาลอาญานัดสอบคำให้การคดีอัยการต่างประเทศเสนอส่งตัว “ฮาคีม อัล-อาไรบี” อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน กลับไปดำเนินคดีอาญา 4 ข้อหา มีเจ้าหน้าที่ทูตออสเตรเลีย ฟีฟ่า และองค์กรสิทธิฯนับ 10 สำนักมาให้กำลังใจและคัดค้านการส่งตัว ศาลสอบถามคำให้การ นายฮาคีมแถลงปฏิเสธไม่ขอกลับไปประเทศบาห์เรน อ้างเป็นเรื่องศาสนา ขอเวลารวบรวมหลักฐานสู้คดี ศาลนัดใหม่วันที่ 22 เม.ย. ขณะที่ทนายความเร่งหาช่องกฎหมายเอาตัวออกจากเรือนจำ จะให้กักบริเวณ หรือใส่กำไลข้อเท้าก็ได้ จนท.ทูตออสเตรเลียตั้งข้อสังเกต ระหว่างที่นายฮาคีมลี้ภัยอยู่ที่ประเทศออสเตรเลียตั้งแต่ปี 57 รัฐบาลบาห์เรนไม่เคยติดต่อแม้แต่ครั้งเดียว แต่พอรู้ว่ามาเที่ยวเมืองไทยรีบประสานขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ทำให้ประเทศไทยอยู่ในสถานะที่ลำบาก
กรณีทางการบาห์เรนขอให้ประเทศไทยส่งตัวนายฮาคีม อัล-อาไรบี อายุ 25 ปี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน ที่ลี้ภัยอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย และเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยพร้อมกับภรรยา แต่ถูกเจ้าหน้าที่ สตม.กักตัวไว้เนื่องจากมีหมายจับของตำรวจสากล ต่อมาอัยการส่งคำร้องขึ้นสู่ศาลเพื่อส่งตัวนายฮาคีมกลับไปดำเนินคดีที่ประเทศบาห์เรนตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าจากศาลอาญา เมื่อวันที่ 4 ก.พ. เวลา 10.00 น. ศาลนัดสอบคำให้การคดีพนักงานอัยการสำนักงานต่างประเทศ ยื่นคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน นายฮาคีม อัล-อาไรบี เป็นจำเลย กลับไปดำเนินคดีที่ประเทศบาห์เรน ตามคำขอของทางการบาห์เรน ซึ่งนายฮาคีมได้รับการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยจากประเทศออสเตรเลียตั้งแต่ปี 2560 เนื่องจากถูกศาลบาห์เรนพิพากษาจำคุก 10 ปี ฐานความผิดลอบวางเพลิง ชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมายมากกว่า 5 คนในที่สาธารณะและใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อวัตถุประสงค์ในการก่ออาชญากรรมและก่อกวนความสงบเรียบร้อยของประชาชน ครอบครองวัตถุไวไฟซึ่งเป็นระเบิดขวด เพื่อวัตถุประสงค์ก่ออันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จากเหตุการณ์เผาสถานีตำรวจในประเทศบาห์เรนเมื่อปี 2555
...
นายฮาคีมถูกเบิกตัวจากเรือนจำมาศาล โดยมีตัวแทนจากสถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ รวมถึงสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) และญาติสนิทประมาณ 10 คน มาสังเกตการณ์และให้กำลังใจ ระหว่างเจ้าหน้าที่นำตัวนายฮาคีมไปยังห้องพิจารณาคดี มีช่างภาพสื่อมวลชนรอบันทึกภาพจำนวนมาก นาฮาคีมตะโกนบอกสื่อมวลชนว่า “ได้โปรดบอกเขา อย่าส่งตัวผมกลับบาห์เรน” จนนายเครก ฟอสเตอร์ อดีตกัปตันฟุตบอลทีมชาติออสเตรเลีย แกนนำรณรงค์การปล่อยตัวนายฮาคีม แคมเปญ “เซฟฮาคีม” ที่มารอตั้งแต่เช้าตะโกนบอกนายฮาคีมว่า ภรรยาบอกให้เขาเข้มแข็ง นายฟอสเตอร์เผยด้วยว่า การนำตัวนายฮาคีมมาขึ้นศาลพร้อมโซ่ตรวนเป็นการส่งสัญญาณที่น่ากลัวไปทั่วโลก จะกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย รวมถึงบทบาทของไทยในการจัดแข่งขันฟุตบอลระหว่างประเทศ เพราะไม่มีหลักประกันว่านักฟุตบอลต่างชาติที่มาจะได้รับการคุ้มครอง
ด้านนางณัฐาศิริ เบิร์กแมน ทนายความนายฮาคีมเผยว่า จะยื่นคัดค้านคำร้องของอัยการ เพื่อยับยั้งการส่งตัวนายฮาคีม เพราะมีหลักฐานมากพอแสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องการเมือง ไม่ควรไต่สวนต่อ และจะรอดูว่าอัยการของไทยจะเรียกใครขึ้นเป็นพยาน นายฮาคีมรู้สึกเครียดกับการถูกคุมตัวในเรือนจำและการมาขึ้นศาล อีกทั้งป่วยจากไข้หวัด
ต่อมาศาลอ่านและอธิบายคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้นายฮาคีมฟังผ่านล่าม แล้วสอบถามว่ายินยอมถูกส่งตัวกลับไปรับโทษที่ประเทศบาห์เรนตามคำร้องหรือไม่ นายฮาคีมกล่าวผ่านล่ามให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน ศาลมีคำสั่งให้จำเลยยื่นคัดค้านคำร้องอัยการต่อศาลภายใน 10 วัน แต่จำเลยแถลงว่า ไม่สามารถยื่นได้ทัน เนื่องจากต้องร้องขอเอกสารจากต่างประเทศในการสู้คดีหลายประเด็น มีทั้งประเด็นการเมืองและศาสนา
ทั้งนี้ นายฮาคีมแถลงต่อศาลผ่านล่ามภาษาอาหรับว่า ขอปฏิเสธเอกสารสำนวนคดีที่พิจารณาพิพากษากล่าวหาตน ฉบับแรกระบุว่า เหตุเกิด 18.00 น. ส่วนเอกสารฉบับที่สองระบุว่า ตนแข่งฟุตบอลเสร็จเวลา 19.15 น. เอกสารจึงขัดแย้งกัน หลังเกิดเหตุตนถูกคุมตัวประมาณ 3 เดือน จากนั้นมีหนังสือจากสมาคมฟุตบอลให้ไปแข่งขันฟุตบอลเป็นระยะ ตนก็เดินทางไปแข่งขันตามปกติ ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี สาเหตุที่ถูกดำเนินคดีคาดว่า มาจากเรื่องที่ตนยื่นคำขอลี้ภัยไปออสเตรเลีย เป็นเรื่องศาสนา ระหว่างที่ตนอยู่ออสเตรเลียยังยื่นจดหมายถึงกษัตริย์บาห์เรนทำให้กลัวว่า หากถูกส่งกลับไปจะได้รับโทษสถานหนัก อันตรายถึงชีวิต ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความเป็นธรรม จึงให้จำเลยยื่นคำคัดค้านได้ภายในวันที่ 5 เม.ย.2562 และนัดตรวจหลักฐานวันที่ 22 เม.ย.2562
ต่อมานายมาร์ค วอร์น็อค เลขานุการโท นักการทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ฐานะโฆษกเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณว่า ในนามของเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ขอแถลงว่า รัฐบาลบาห์เรนทราบดีอยู่แล้วว่า นายฮาคีมอาศัยอยู่ที่ประเทศออสเตรเลียตั้งแต่ปี 2557 เป็นเวลา 4 ปีแล้ว รัฐบาลบาห์เรนไม่เคยแสดงความพยายามหรือแจ้งรัฐบาลออสเตรเลียแม้แต่ครั้งเดียวถึงกรณีนายฮาคีม หรือต้องการตัวกลับประเทศบาห์เรน แต่ทันทีที่นายฮาคีมและภรรยาเดินทางมาพักผ่อนที่ประเทศไทย รัฐบาลบาห์เรนประสานมาที่รัฐบาลไทยอย่างเร่งด่วน เพื่อขอให้ควบคุมตัวนายฮาคีม และดำเนินการขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนทันที การกระทำของรัฐบาลบาห์เรนทำให้ประเทศไทยอยู่ในสถานะที่ลำบากมาก จริงๆแล้วปีนี้เป็นปีสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประชาชนชาวไทยและประเทศไทย ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่ารัฐบาลออสเตรเลียต้องการให้นายฮาคีมกลับไปประเทศออสเตรเลียโดยเร็วที่สุด เพราะเขาเป็นผู้ลี้ภัยและเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย และนายฮาคีม เป็นนักฟุตบอลที่เป็นที่รักของแฟนฟุตบอลทั่วประเทศออสเตรเลีย หวังว่านายฮาคีมจะได้กลับไปหาครอบครัว และภรรยาของเขาถามว่ารัฐบาลออสเตรเลียพูดคุยโดยตรงกับรัฐบาลบาห์เรนหรือไม่ นายมาร์คกล่าวว่า ไม่อยู่ใน อำนาจที่จะตอบได้ แต่เรื่องนี้รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียเคยแถลงท่าทีไว้ในเว็บไซต์กระทรวงต่างประเทศออสเตรเลียแล้ว
นางณัฐาศิริ เบิร์กแมน กล่าวอีกครั้งว่า ขณะนี้ เพิ่งได้รับสำเนาคำฟ้อง มีเอกสารกว่า 100 หน้า ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะต่อสู้คดีประเด็นใดบ้าง แต่กรอบจะอยู่ใน พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน วันนี้ตนแถลงคัดค้านว่านายฮาคีมผู้คัดค้าน ขออนุญาตศาลขอส่งคำคัดค้านเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 60 วัน พร้อมพยานหลักฐานมาแสดงให้ศาลเห็นว่า การส่ง นายฮาคีมไปประเทศบาห์เรนจะทำให้เกิดอันตรายได้ และไม่มีเหตุที่จะส่งตัวนายฮาคีมไป วันนี้ที่ขึ้นศาลได้อ่านเอกสารเพียงเล็กน้อย เนื่องจากมีเวลาไม่มาก แต่แถลงไปชัดเจนว่าขอคัดค้านการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน
...
เมื่อถามว่า มีการเตรียมพยานสู้คดีไว้กี่ปาก นางณัฐาศิริกล่าวว่า ยังไม่ได้เตรียมพยาน เนื่องจากเพิ่งได้รับคำฟ้อง จะพิจารณาหลังจากศึกษาคำฟ้องอย่างละเอียดก่อน เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้เคยยื่นหนังสือไปยังรัฐบาลเกี่ยวกับการขอไม่ให้ส่งนายฮาคีมไปบาห์เรนมีความคืบหน้าอย่างไร นางณัฐาศิริ ตอบว่า ตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ จะดูเฉพาะด้านกฎหมายและการให้ความช่วยเหลือทางคดี คดีนี้ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว เราเตรียมหาช่องทางทำให้นายฮาคีมไม่ถูกขังระหว่างนี้ ส่วนเรื่องแนวทางอื่นนอกจากยื่นขอประกัน เช่น การจำกัดบริเวณ เรากำลังศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต้องดูว่าอะไรเหมาะสมที่สุด จากนั้นเวลา 16.00 น. นายฮาคีมถูกส่งตัวกลับเรือนจำ มีพรรคพวกญาติสนิทให้กำลังใจระหว่างเดินทางขึ้นรถอย่างคึกคัก
สื่อต่างประเทศรายงานด้วยว่า สหภาพนักฟุตบอลออสเตรเลียเรียกร้องคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) และฟีฟ่า พิจารณาคว่ำบาตรด้านกีฬาต่อประเทศไทยและประเทศบาห์เรน กรณีควบคุมตัวนายฮาคีมเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากลของนายฮาคีม ในฐานะผู้อาศัยถาวรและผู้ลี้ภัยของประเทศออสเตรเลีย
ล่าสุด โลกโซเชียลติดแฮชแท็ก #SaveHakeem และพูดกระแสแฮชแท็ก #BoycottThailand ประท้วงทางการไทยในเรื่องนี้ด้วย