ปรับค่าวัดใหม่เข้มรถควันดำ

นายกฯขอบคุณทุกฝ่ายทำงาน จนค่าฝุ่นลดลง ขณะที่บอร์ดสิ่งแวดล้อมยังไม่ปรับลดค่ามาตรฐาน PM 2.5 ตามที่เรียกร้อง โยน กก.ควบคุมมลพิษ พิจารณาให้รอบด้าน พร้อมชง ครม.คุมแหล่งกำเนิดมลพิษรถยนต์ดีเซล-ควันดำ เร่งติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ กทม.ครบ 50 เขต-เมืองใหญ่ หนำซ้ำยังไม่ควรวางใจ หลังกรมอุตุนิยมวิทยาเตือนฝุ่นพิษอาจกลับมาอีก รับ “วาเลนไทน์” 13-15 ก.พ.นี้ เหตุสภาพอากาศปิด ด้านผู้ว่าการ ททท.วอนหน่วยงานหลักให้ควบคุมการให้ข่าวเรื่องฝุ่น หวั่นมีการนำไปบิดเบือนใช้ข้อมูลเท็จ ส่งผลกระทบการท่องเที่ยวของไทย

จากปัญหาวิกฤติฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นใน กทม.และหลายพื้นที่ทั่วประเทศต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัด ทส. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมว่า ได้พิจารณาแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกทม.และปริมณฑล มีมติเห็นชอบให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการระยะเร่งด่วนอย่างเคร่งครัดและเข้มงวดที่สุด เพื่อลดผลกระทบและแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM 2.5 ควบคู่กับสร้างความเข้าใจให้ประชาชนมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องฝุ่น PM 2.5 ให้อยู่บนข้อเท็จจริงและไม่บิดเบือนความจริงในสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งบังคับใช้กฎหมายควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษให้ชัดเจน เพราะจากการตรวจสอบพบว่า กทม.และปริมณฑล สาเหตุหลักของฝุ่น PM 2.5 มาจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลปล่อยควันดำออกมา มากกว่าร้อยละ 50 ต้องเพิ่มความเข้มงวดการตั้งจุดตรวจรถยนต์วัดควันดำบริเวณจังหวัดรอยต่อ บนถนนสายหลักและสายรองทุกเส้นทางที่มีรถบรรทุกและรถโดยสารมุ่งหน้าเข้า กทม.เพื่อควบคุมรถที่มีค่าควันดำเกินมาตรฐานจากต่างจังหวัดไม่ให้เข้าสู่ กทม.ต่อเนื่องทุกวัน กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และกระทรวงคมนาคม ได้ปรับมาตรฐานตรวจจับควันดำใหม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ต้องไม่เกินร้อยละ 30 จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 45 หากเกินจะถูกเปรียบเทียบปรับ 5,000 บาท และพ่นห้ามใช้ทันที

...

ปลัด ทส.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ให้หน่วยงานท้องถิ่นที่เป็นเมืองใหญ่ติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น โดย กทม.ต้องติดตั้งให้ครบทั้ง 50 เขตภายในปีนี้ พร้อมปรับปรุงมาตรฐานน้ำมันดีเซล ให้มีค่ากำมะถันต่ำกว่า 10 ppm หรือยูโร 5 จะนำร่องใช้ทั้งหมดก่อนใน กทม.และปริมณฑล ให้รถยนต์ดีเซลเก่าติดตั้งตัวกรองฝุ่นละออง ทั้งหมดนี้จะนำเสนอผลการประชุมต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 5 ก.พ. นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่าต้องเฝ้าระวังฝุ่นละอองเพิ่มขึ้นใน 2 ช่วงเวลาคือวันที่ 7 ก.พ.และระหว่างวันที่ 13-15 ก.พ. เนื่องจากสภาพอากาศจะปิดและลมสงบอีกครั้ง

นายวิจารย์กล่าวถึงมาตรการแก้ปัญหาระยะกลางและระยะยาวว่า บอร์ดสิ่งแวดล้อมมีมติให้คณะกรรมการควบคุมมลพิษกลับไปทบทวนการปรับค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ราย 24 ชั่วโมงของประเทศไทยให้สอดคล้องกับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ คือในระดับที่ 3 อยู่ที่ระดับไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. จากที่ใช้อยู่ปัจจุบันคือ 50 มคก./ลบ.ม. และปรับค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 รายปี ในระดับที่ 3 อยู่ที่ระดับไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม. ต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบที่สุด ก่อนประกาศใช้ค่าเฉลี่ยเกณฑ์ใหม่ในอนาคต เพื่อไม่ให้ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อประเทศในระยะยาว โดยระบบคมนาคมขนส่งต้องเสร็จสมบูรณ์

ด้านนายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์คณะ สาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 เทียบกับช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมาไม่ได้แตกต่างกันมากนัก โดยเฉพาะค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงพบว่าลดลงมากกว่าช่วงปีที่ผ่านมา ถือว่าทิศทางค่าเฉลี่ยของไทยดีขึ้นและมีแนวโน้มเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานรายปีที่ไทยกำหนดไว้ที่ 25 มคก./ลบ.ม.ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาที่ค่า PM 2.5 สูงขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนในลักษณะคล้ายกับ กทม.ถูกครอบไว้ด้วยฝาชี ส่งผลให้อากาศกดฝุ่นละอองให้ต่ำลงและสะสมตัว แต่เมื่ออากาศเปิดฝุ่นจะกระจายตัวสูงขึ้นจนกลับสู่ค่าปกติ ดังนั้น ต้องควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษทั้งในรถยนต์ดีเซลและการเผาในที่โล่ง และประชาชนต้องใส่ใจสุขภาพตัวเองมากขึ้น ขณะเดียวกันภาคเอกชนต้องปรับระบบการทำงานโดยไม่ต้องเข้ามาในพื้นที่ กทม. เชื่อว่าหากดำเนินการตามมาตรการต่างๆอย่างเคร่งครัดค่าฝุ่น PM 2.5 ค่อยๆลดลงจนสู่เกณฑ์แนะนำของ WHO ที่ค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองรายปี ในระดับที่ 3 อยู่ที่ระดับไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม. จากปัจจุบันใช้ค่าเฉลี่ยในระดับที่ 2 อยู่ที่ระดับไม่เกิน 25 มคก./ลบ.ม.

ขณะที่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประชาชนต้องตระหนักไม่ใช่ตระหนกและต้องทำความเข้าใจการอ่านค่าดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศ (AQI) ในแอปพลิเคชันต่างๆอย่าง ระมัดระวัง ขอให้ยึดถือแอปพลิเคชันของคพ.เป็นหลัก โดยค่า AQI เป็นค่าฝุ่นละอองภาพรวม 6 สารมลพิษ ไม่ใช่แค่ค่าฝุ่น PM 2.5 ที่เฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงของ PM 2.5 ต้องไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. เมื่อเกิน 90มคก./ ลบ.ม.จะมีผลกระทบต่อสุขภาพอยู่ในระดับสีแดง แต่ประชาชนกลับเข้าใจผิดว่า ค่า AQI ที่มีตัวเลขสูงเป็นค่าฝุ่น PM 2.5 ทั้งหมด และขณะนี้กรมควบคุมโรคยังไม่พบผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจาก PM 2.5 แบบฉับพลัน แต่กลับพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มากขึ้นในช่วงเวลานี้

...

ส่วนการแก้ปัญหาฝุ่นละอองด้วยการฉีดพ่นละอองน้ำจากที่สูงนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดวันที่การพ่นละอองน้ำในหลายจุด ทำให้ภาพรวมอากาศใน กทม.ตลอดวันอยู่ในเกณฑ์ดี ค่าฝุ่น PM 2.5 ลดลง ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยที่โรงแรมใบหยกสกาย ชั้น 85 เจ้าหน้าที่ทหารจากศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม นำเครื่องพ่นละอองน้ำเพื่อลดฝุ่นในอากาศมาติดตั้งบนดาดฟ้าตึกใบหยก เพื่อทดลองการใช้ลดฝุ่นในอากาศในรัศมี 50 เมตร จากตึกโรงแรมใบหยกสกาย ตามคำสั่งของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ฉีดพ่นน้ำจากบนระเบียงชั้น 81 และดาดฟ้าชั้น 85 โรงแรมใบหยกสกาย ขณะที่ในพื้นที่เขตราชเทวี ได้รับความร่วมมือจากตึกสูง 8-9 อาคาร ติดตั้งเครื่องฉีดละอองน้ำ เบื้องต้นกำหนดเวลาฉีดละอองน้ำในชั่วโมงเร่งด่วนเวลา 06.00-09.00 น. และเวลา 15.00-19.00 น.

เช่นเดียวกับโรงเรียนการบินกรุงเทพ ได้นำเครื่องบิน cessna 172 ขึ้นบินปล่อยละอองน้ำจำนวน 8 เที่ยวบิน เริ่มตั้งแต่ 08.00-13.00 น. บินโปรยละออง น้ำรอบๆพื้นที่แสมดำ ครอบคลุมพื้นที่ 16 ตร.กม.รวมถึงแนวถนนพระราม 2 โดยเป็นการบินโปรยละอองน้ำ เพื่อลดฝุ่นในอากาศเป็นวันสุดท้าย เนื่องจาก กทม.ประเมินสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯตลอดช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา พบว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ

...

ในส่วนของกระทรวงคมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ได้ทำความสะอาดแล้วคืนพื้นผิวการจราจรเส้นทางการก่อสร้างเส้นรถไฟฟ้าทุกสายที่ทำให้ผิวการจราจรคับแคบจนเกิดความแออัดของรถยนต์จนปล่อยควันดำที่ก่อฝุ่นละออง PM 2.5 ให้ลดลง ไม่ได้หยุดการก่อสร้างรถไฟฟ้าควบคู่กับการฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกเส้นทางและด่านเก็บเงินบนทางด่วน รวมถึงทำความสะอาดเครื่องจักรกลที่ใช้น้ำมันดีเซลในกระบวนการก่อสร้าง เป็นต้น เช่นเดียวกับที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็มีการเปิดระบบพ่นละอองไอน้ำ บริเวณดาดฟ้าอาคาร สำนักงานใหญ่ กฟผ.อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ช่วยบรรเทาปัญหาการฟุ้งกระจายของฝุ่น PM 2.5 บริเวณพื้นที่ชุมชนโดยรอบได้ส่วนหนึ่ง

ทั้งนี้ วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล หลังทราบว่าสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองใน กทม.และปริมณฑลอยู่ในเกณฑ์ดีขึ้นว่า ขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว ขอให้ช่วยกันต่อไป

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย (ททท.) แถลงแนวทางการรับมือปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในด้านการท่องเที่ยว ว่าอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง อาทิ กรมควบคุมมลพิษ และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ควบคุมการให้ข่าวที่เป็นข้อเท็จจริง เพื่อไม่ให้มีการกล่าวอ้างหรือใช้ข้อมูลเท็จ จนเกิดความวิตกกังวลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพราะเวลาเกิดข่าวขึ้นในไทย สื่อต่างประเทศก็นำไปเผยแพร่ต่อ สำนักข่าว CNN ของสหรัฐฯ และ BBC ของอังกฤษ มีแค่การให้ข้อเท็จจริงถึงมาตรการของรัฐบาลในการควบคุมปัญหา เช่น การปิดโรงเรียน แต่ในประเทศที่เป็นคู่แข่งของไทย เช่นเวียดนาม และสิงคโปร์มีการนำข่าวไปขยาย อย่างไรก็ตาม ถึงขณะนี้ปัญหาฝุ่นละอองยังไม่ส่งผลต่อการท่องเที่ยว เห็นได้จากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1-28 ม.ค.2562 มีจำนวน 3.41 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7

...