ใช้ PPP ให้เอกชนร่วมทุน O&M มอเตอร์เวย์ใหม่ 2 สาย
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง ชี้แจงกรณีการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ว่า หลักการของรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน PPP Gross Cost เป็นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 22 ส.ค.60 โดยมีระยะเวลาร่วมลงทุนไม่เกิน 30 ปีนับแต่เปิดให้บริการ เนื่องจากผลการศึกษาพบว่าการให้เอกชนร่วมลงทุน รูปแบบ PPP Gross Cost มีต้นทุนค่าใช้จ่ายของภาครัฐ “ต่ำกว่า” รูปแบบรัฐดำเนินการเอง (PSC) ลดภาระรายจ่ายงบประมาณแผ่นดิน รวมถึงลดภาระการบริหารจัดการด้านบุคลากร เนื่องจากปัจจุบันมอเตอร์เวย์ 2 สายทางในปัจจุบัน ระยะทาง 204 กม. (M7 กรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา และ M9 วงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก) ต้องใช้ลูกจ้างปฏิบัติงานมากกว่า 2,200 อัตรา
นอกจากนี้ รัฐจะได้รับประโยชน์จากประสิทธิภาพจากภาคเอกชน (Private Sector Efficienies) จากการใช้สัญญารูปแบบ PPP ที่ให้เอกชนลงทุน บำรุงรักษา และบริหารจัดการในระยะยาว (Life Cycle Approach) เกิดความคล่องตัวของภาคเอกชนในการดำเนินการ เมื่อเทียบกับกลไกการใช้งบประมาณโดยปกติของภาครัฐ ทั้งนี้ กรมทางหลวงขอเรียนว่าการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรีนั้น ภาครัฐไม่ได้เสียเปรียบเอกชนและไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนแต่อย่างใด.