"มันนานมากแล้ว สมัยนั้นไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีลางบอกเหตุใดๆ ไม่รู้แม้กระทั่งชื่อพายุ และไม่มีการเตือนล่วงหน้าจากหน่วยงานภาครัฐ ขณะนั้นดิฉันอาศัยอยู่ฝั่งตะวันตก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งถือว่าไกลจากแหลมตะลุมพุก ซึ่งอยู่ทางด้านฝั่งตะวันออกพอสมควร ผู้คนที่มีบ้านพักอยู่ริมแหลมตะลุมพุก ถูกคลื่นทะเลและลมพายุพัดเสียหายพังพินาศเป็นหน้ากลอง ขณะที่บ้านดิฉันซึ่งอยู่ติดลุ่มแม่น้ำปากพนัง มีฝนถล่มหนักตลอดทั้งวัน น้ำตรงท่าเรือนอกชานหลังบ้านก็สูงปริ่มหนือทางขึ้นบันได ก๋งสั่งให้พวกเราอยู่แต่ในบ้าน เพราะบ้านเราค่อนข้างมีโครงสร้างที่แข็งแรง" 

...นี่เป็นคำพูดของหญิงวัยสูงอายุ ที่เล่าย้อนกลับไปหวนนึกถึงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2505 ซึ่งเป็นวันที่พายุโซนร้อนชื่อ “แฮเรียต” เข้าถล่มภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ถูกผลกระทบทุกหย่อมหญ้า แต่หนักที่สุดเห็นจะเป็น แหลมตะลุมพุก สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2505 พายุดีเปรสชัน 78W เคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเข้ามาในอ่าวไทย ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนนอกชายฝั่ง จ.สงขลา ในเช้าวันที่ 25 ตุลาคม ได้รับการตั้งชื่อว่า "แฮเรียต" จากนั้นเปลี่ยนทิศทางตรงไปยัง จ.นครศรีธรรมราช เคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศไทยในตอนค่ำของวันที่ 25 ตุลาคม ที่แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง ด้วยความเร็วลมสูงสุดวัดที่สถานีตรวจอากาศนครศรีธรรมราช ได้ 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมคลื่นพายุซัดฝั่ง หรือสตอร์มเซิร์จ ในช่วงกลางดึก

...


ความรุนแรงของพายุลูกนี้ ทำลายล้างบ้านเรือนประชาชน สิ่งของต่างๆ และร่างมนุษย์นับพัน ไหลตามกระแสน้ำไปอย่างไม่รู้ทิศทาง น่าตกใจไปกว่า เมื่อสำรวจจำนวนประชากรแล้วพบว่า แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง ที่มีผู้คนอยู่อาศัยราว 4,000 คน และทั้งหมดนั้นอันตรธานหายไปจนหมดสิ้น 

"ยังเด็กมาก ตอนนั้นดิฉันยังเด็ก พายุพัดมา ครอบครัวเราก็ได้แต่อยู่ในบ้านตามคำสั่งก๋ง พี่ชาย พี่สาว หลายคนไปเรียนต่อที่กรุงเทพมหานครกันหมดแล้ว ภาพที่ติดตาที่สุดคือ มีคนอพยพเดินทางข้ามเรือหางยาวจากฝั่งตะวันออกมาฝั่งตะวันตกบ้านเรา สมัยนั้นหากใครมีรถจะต้องข้ามมาด้วยแพขนานยนต์ ส่วนใครที่เดินทางมาแต่ตัวต้องอาศัยเรือหางยาวข้ามฝั่งมาเท่านั้น  ซึ่งบ้านดิฉันตั้งอยู่ในลุ่มแม่น้ำปากพนัง เดินออกไปนอกชานบ้านก็จะเห็นทุกอย่าง ผู้คนโกลาหล พากันเข้ามาพักอาศัยอยู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งหลายหลังที่ปลูกสร้างไม่แข็งแรง หลังคาก็ถูกพัดปลิวว่อนตลอดทั้งวัน" 

ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 25 ตุลาคม 2505 ฝนตกหนัก เกิดลมพัดแรงเป็นระลอก ส่งผลให้บ้านเรือนที่ปลูกสร้างไม่แข็งแรงริมแหลมตะลุมพุกพังทลายลง มีคลื่นสูงใหญ่กว่าระลอกแรก สูงเท่ากับยอดต้นมะพร้าว เหตุนี้เองทำให้แม่น้ำปากพนังเอ่อล้นเข้าท่วมตัวเมืองภายในเวลาไม่กี่นาที

"มีศพลอยเหนือแม่น้ำปากพนังหลายร้อยศพ คือลอยอยู่นอกชานบ้านเรา ยืนมองออกไปก็เห็นว่ามีเจ้าหน้าที่พยายามช่วยกันนำร่างที่ลอยอยู่ขึ้นมาไว้บนเรือ ซึ่งหลังจากนั้นก็ไม่ทราบว่าเค้าเอาศพไปไหน แต่ภาพศพลอยเกลื่อนยังติดตามาจนทุกวันนี้ และคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะสะเทือนขวัญร้ายแรงที่สุดในชีวิตดิฉัน"

พายุโซนร้อนแฮเรียต ส่งผลกระทบต่อ 12 จังหวัดในภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปถึงจังหวัดนราธิวาส มีผู้เสียชีวิต 911 คน สูญหาย 142 คน บาดเจ็บสาหัส 252 คน ไร้ที่อยู่อาศัย 16,170 คน อาคารบ้านเรือนทั่วทั้งจังหวัดพัง 22,296 หลัง ชำรุด 50,775 หลัง โรงเรียนพังเสียหาย 435 แห่ง สวนยางสวนผลไม้เสียหายประมาณ 790 ล้านต้น สถานที่ราชการ โรงเรียน วัด การไฟฟ้า และสถานีวิทยุ สถานีตำรวจ เสียหายหนัก ต้นไม้โค่นล้มขวางทางยาวนับสิบกิโลเมตร รถไฟด่วนสายใต้ต้องหยุดเดินรถ เพราะภูเขามีดินพังทลายทับรางระหว่างสถานีรถไฟช่องเขากับสถานีรถไฟร่อนพิบูลย์ ประเมินความเสียหาย 377-1,000 ล้านบาท

...

"หลังเกิดเหตุ พี่สาวได้เดินทางไปยังแหลมตะลุมพุกเพื่อดูความเสียหาย และช่วยเหลือชาวบ้านเท่าที่ทำได้ พี่สาวได้อุ้มดิฉันเดินริมทะเล พบมีศพนอนเรียงรายเต็มระหว่างทางเดิน ไม่รู้ว่าศพใครเป็นศพใคร จากนั้นก็มีชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ช่วยกันฝัง เรียกว่าตายตรงไหนขุดหลุมฝังตรงนั้น บางศพยังมีแขนโผล่ออกมา 2 ข้างทางก็เต็มไปด้วยศพ ถามว่ากลัวมั้ย? ทำยังไงได้ในเมื่อเราเดินเข้ามาแล้วก็ต้องเดินต่อ น่าสงสารชาวบ้านเป็นอย่างมาก เพราะแหลมตะลุมพุกเป็นชุมชนหนึ่งที่ถือว่าเจริญมากในสมัยนั้น มีผู้คนอาศัยอยู่มากมาย ทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่คนต่างจังหวัดมักจะมาแวะเวียนมาพักผ่อนหย่อนใจ ความเสียหายที่เกิดขึ้นครั้งนั้นจึงประเมินค่าทางจิตใจไม่ได้เลย "

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชานุเคราะห์ผู้ประสบวาตภัยในครั้งนี้หลายๆ ประการ โดยโปรดเกล้าฯ ให้อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ จดทะเบียนตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2506 และพระราชทานเงินจำนวน 3 ล้านบาท และให้วิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิตกระจายข่าวให้ประชาชนร่วมบริจาคกับพระองค์ ส่วน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กล่าวถึงคนไทยทั้งชาติว่า รู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง มีนานาประเทศทั้ง อังกฤษ, อิตาลี, เวียดนาม, สวีเดน และสหรัฐอเมริกา ยื่นมือให้ความช่วยเหลือและบริจาคให้กับผู้ประสบภัย 

"เชื่อว่าหากเกิดพายุขึ้นอีกครั้ง น่าจะไม่มีรุนแรงเหมือนเมื่อหลาย 10 ปีก่อน เพราะประเทศไทยเรามีเทคโนโลยีที่ทันสมัยล้ำหน้า และมีการเตรียมตัวเป็นอย่างดี เนื่องจากที่ผ่านมาเราผ่านพายุมาหลายต่อหลายครั้ง ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นได้ถูกนำมาพัฒนาเฝ้าระวัง และน่าจะไม่เกิดความสูญเสียเทียบเท่าครั้งที่ผ่านมา".

...