เที่ยวสงขลา ไม่ได้ไปจับนมนางเงือกทอง แปลว่ายังมาไม่ถึงสงขลา สัญลักษณ์ที่อยู่คู่บ้านเมืองมาหลายชั่วอายุคน และตำนานเงือกทองที่อยู่คู่กับหาดสมิหลา ถูกเล่าต่อกันมาหลายชั่วอายุคน คุณปู่ คุณย่า เคยบอกว่า สัญลักษณ์ที่สร้างขึ้นมา เนื่องจากเมื่อนานมาแล้ว จะมีชาวสงขลาพบเห็นผู้หญิงที่มีหางเป็นปลา ลักษณะเหมือน "นางเงือก" ในวรรณคดี จะมานั่งหวีผมบนชายหาดด้วยหวีทองคำตอนกลางดึก สืบเนื่องมาจากก่อนนี้แหลมสมิหลา มีชื่อว่า "สามีลา" คำว่า สามีลา มาจาก ผู้หญิงคนหนึ่งไปส่งสามีขึ้นเรือไปรบ และสัญญากันว่าจะเดินทางกลับมาให้ตรงตามเวลาที่นัดกันไว้ แต่นานวันเข้าสามีก็ไม่กลับมา หญิงสาวผู้นี้จึงมานั่งรอสามีอยู่ที่ริมหาดทุกวัน จวบจนวันสุดท้ายของชีวิต ทำให้ชาวบ้านสมัยนั้นเห็นนางเงือกนั่งหวีผมด้วยหวีทองคำ 

ขณะที่คนแก่เฒ่าบางครอบครัว ได้เล่านิยายปรัมปราเกี่ยวกับนางเงือกไว้ว่า "นางเงือกจะมานั่งหวีผมบนชายหาดด้วยหวีทองคำ วันหนึ่งบังเอิญว่ามีชายชาวประมงเดินผ่านมา ทำให้นางเงือกตกใจ รีบหนีลงทะเลไปโดยลืมหวีทองคำไว้ ฝ่ายชาวประมงเห็นดังนั้นก็เก็บหวีทองคำไว้ และเฝ้าคอยนางเงือกที่หาดนั้นเสมอ แต่นางเงือกก็ไม่เคยปรากฏกายให้เห็นอีกเลย"

เด็กสงขลาที่เติบโตมากับรูปปั้น จะทราบถึงเรื่องเล่าตำนานต่างๆ ของนางเงือกทองเป็นอย่างดี เนื่องจากผู้ปกครองและครูจะเล่าให้ฟัง เหตุนี้เองจึงเป็นที่มาที่จะสร้างรูปปั้นนางเงือกในท่าที่กำลังหวีผม เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเมืองสงขลา ใช้งบประมาณของเทศบาล 60,000 บาทในการสร้าง โดยให้ศิลปินนักปั้นชั้นครูมือหนึ่งของเมืองไทยในสมัยนั้น "อาจารย์จิตร บัวบุศย์" อาจารย์ใหญ่โรงเรียนเพาะช่าง (ผู้ที่มีผลงานการปั้นพานรัฐธรรมนูญ บนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อปี พ.ศ.2483) เป็นผู้ออกแบบ หล่อและปั้นรูปนางเงือก สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2509  

...

ด้วยสถานที่มีธรรมชาติสวยงาม บริเวณแหลมสมิหลา รูปปั้นนางเงือกนั่งแปรงผมยาวสลวยอยู่บนโขดหินธรรมชาติได้อย่างเหมาะเจาะพอดีกับทุกสิ่งทุกอย่างในบริบทนั้น บนหาดสวย ริมทะเลงาม มีเกาะหนู เกาะแมว เป็นฉากหลัง เพราะฉะนั้นผู้ที่มาเยือนเมืองสงขลา ต้องไม่พลาดที่จะมาถ่ายรูปคู่กับนางเงือกทองสงขลาแห่งนี้ .....นี่ยังไม่รวมตำนานเกาะหนู เกาะแมว หาดทรายแก้ว เขาตังกวน ที่เด็กๆ รุ่นเก่าเคยได้ร่ำเรียนกันในหนังสือเรียน "มานี มานะ" ชั้นประถม 

เมื่อ 52 ปีที่ผ่านมา ชาวสงขลาจึงสร้างนางเงือกรูปปั้นตัวนี้ขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความซื่อสัตย์ และเป็นจุดแลนด์มาร์คสำคัญที่นักท่องเที่ยวต้องไปเช็กอินทุกครั้งเมื่อมาเยือนเมืองสงขลา

ก่อนหน้านี้ในทุกๆ ปี คนในพื้นที่จะทราบดีถึงข่าวการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กและผู้ใหญ่บริเวณหาดสมิหลาใกล้นางเงือกทอง บางปีจมน้ำเสียชีวิตติดต่อกันหลายราย บางปีจมน้ำหายพร้อมกันถึง 2-3 คน เหตุการณ์แบบนี้ว่าไปแล้วอาจไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่เมื่อไหร่ที่เกิดขึ้นมา จะเกิดถี่ และมีข่าวให้ได้เห็นกันต่อเนื่อง หากลองไปค้นหาสถิติข้อมูลจะสามารถนับได้ว่า ในรอบหลายปีที่ผ่านมา บริเวณหาดสมิหลาใกล้นางเงือกทอง มีคนจมน้ำมาแล้วกี่ชีวิต? 

กระทั่งพักหลัง หลายปีที่ผ่านมา ข่าวคราวเด็กจมน้ำเสียชีวิตค่อยๆ หายไป และไม่ปรากฏเป็นข่าวให้เห็นถี่เหมือนเมื่อก่อน กระทั่งเกิดการลอบวางระเบิดนางเงือกทองเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561 ซึ่งถือว่าคนร้ายอุกอาจหาญกล้า จงใจทำลายสัญลักษณ์เมืองสงขลา ที่มีมาช้านาน น่าเชื่อว่าเป็นการข่มขู่ข่มขวัญ เขย่าความมั่นคงของผู้ก่อความไม่สงบ อีกทั้งใกล้จะถึงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง เห็นได้ว่าที่ผ่านมา ห้วงเวลานี้จะมีผู้ไม่ประสงค์ดีก่อเหตุร้ายขึ้น เป้าหมายหวังเอาชีวิตคน แต่ครั้งนี้เหตุระเบิดเกิดขึ้นกลางดึก จึงเป็นไปได้ว่า “อาจจะแค่ท้าทายข่มขู่” หรือ “ระเบิดทำงานผิดเวลา” โชคดีที่สุดที่ไม่มีคนตายในเหตุการณ์นี้

กระทั่งวันที่ 1 มกราคม 2562 เด็กหญิงวัย 7 ขวบ จมน้ำเสียชีวิตตรงหาดสมิหลา ใกล้จุดที่ตั้งรูปปั้นนางเงือกทองอีกครั้ง ทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัย ว่าทำไมจึงเกิดขึ้น อุบัติเหตุ หรืออาถรรพณ์กันแน่? ไม่ทันที่ความสงสัยจะยุติลง วันที่ 2 มกราคม 2562 เกิดเหตุเด็กชายวัย 7 ขวบ จมน้ำจุดเดียวกันซ้ำอีกครั้ง โชคดีที่ว่าครั้งนี้น้องยังไม่เสียชีวิต แต่อาการสาหัส ไม่รู้สึกตัว เรียกไม่ฟื้น ต้องหามส่งโรงพยาบาล

...

ปัจจุบัน เงือกทอง ก็มีอายุ 50 กว่าปี ตั้งตระหง่านอยู่คู่เมืองสงขลา มีผู้คนมากมายแวะเวียนมาท่องเที่ยวเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ชาวสงขลาบางส่วนเชื่อว่า เป็นความเฮี้ยน อาถรรพณ์ของนางเงือกทอง ที่ต้องการจะสื่อสารบอกอะไรสักอย่างกับคนสงขลา ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งเข้าใจว่ามันคืออุบัติเหตุที่เกิดจากภัยธรรมชาติ เนื่องจากขณะนี้พายุคลื่นลมแรง หากลงเล่นน้ำไม่ระมัดระวัง ก็อาจเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นซ้ำๆ กันได้.