“อธิบดีศาลเด็กคนใหม่” เผยวางนโยบาย 3 ข้อ ให้ผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่เป็นผู้ต้องหาต้องไม่ก้าวร้าวข่มขู่ ศาลสั่งยกฟ้อง หรือสั่งลงโทษ แต่ถูกควบคุมตัวครบเวลาแล้วต้องปล่อยตัวที่ศาลทันทีไม่ยื้อไปปล่อยตัวที่สถานพินิจฯ ส่วนเงินประกันถ้าผู้ต้องหายากจนโทษไม่ถึง 10 ปี ไม่ต้องมีหรือใช้น้อยที่สุด คดีสิ้นสุดต้องจ่ายเป็นเงินสดไม่ใช่เช็ค พร้อมให้ความสำคัญเยียวยาเด็กเหยื่ออาชญากรรม จ่อทำเอ็มโอยูกับสภาทนายความจัดหาทนายว่าความให้ฟรี ไม่ซ้ำเติมให้อับอายมีนักจิตวิทยาดูแล ด้าน “นายกสภาทนายความ” ยันพร้อมจัดที่ปรึกษากฎหมายไปช่วยเหลือทั่วประเทศ
ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางให้ความสำคัญเยียวยาเด็กเหยื่ออาชญากรรม เปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กล่าวว่า หลังเข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา มีนโยบายให้ความสำคัญเยียวยาเด็กที่เป็นเหยื่ออาชญากรรม รับผลกระทบจากการกระทำความผิดอาญา ใช้เครื่องมือตามกฎหมายมาแก้ไขให้เด็กและเยาวชนกระทำความผิดไม่กลับเข้าไปในวงจรอาชญากรรม ไม่กลับมาเป็น จำเลยในศาลเยาวชนฯอีก เด็กพ้นโทษต้องไม่กระทำความผิดซ้ำ มีความรู้ มีจริยธรรม มีวิชาชีพติดตัว วางนโยบายไว้ 3 ข้อ สอดคล้องกับนโยบายของนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา และยุทธศาสตร์ต้นแบบปฏิบัติต่อเด็กในกระบวนการยุติธรรม ปราศจากความรุนแรงที่ประเทศไทยเป็นภาคีของสหประชาชาติ
นายสิทธิศักดิ์กล่าวอีกว่า ข้อแรกบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบ เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติกับเด็กคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ก้าวร้าวข่มขู่ไม่ว่าทางกายหรือวาจา เมื่อเด็กเข้าสู่การพิจารณาคดีต้องคำนึงว่าเด็กต้องรับการเยียวยาไม่ควรใช้ความรุนแรง ผู้พิพากษาสมทบบางคนชอบแสดงกิริยาข่มขู่ด้วยสายตา คำพูดเหยียดหยาม ดุด่า ใช้ถ้อยคำหยาบคาย พูดจาดูหมิ่นดูแคลนเด็ก รับร้องเรียนมาหลายที่ ต่อไปนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นในบัลลังก์ศาลเยาวชนทั่วประเทศ ข้อสองต้องปล่อยตัวทันทีเมื่อศาลมีคำพิพากษายกฟ้องหรือหากพิพากษาลงโทษ แต่เด็กถูกควบคุมมาครบเวลากำหนดโทษแล้ว เช่นพิพากษาเวลา 10.00 น. ต้องออกหมายปล่อยกลับบ้านที่ศาล ไม่ต้องรอกลับไปปล่อยตัวที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร (บางนา) ที่ผ่านมากว่าจะปล่อยตัวเวลา 18.00 น. ขอถามว่าเมื่อคดีเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว มีสิทธิ์อะไรมากักตัวเด็กไว้อีก 7-8 ชั่วโมง เพราะผิดกฎหมาย
...
ข้อสามเรื่องเงินประกันตัวเด็กจะเน้นว่าถ้ายากจนและคดีโทษไม่เกิน 10 ปี ไม่ต้องวางเงินให้พ่อแม่มาสาบานตัวว่าจะดูแลเด็กให้ดีแล้วรับตัวกลับไป ถ้าจำเป็นต้องวางเงินให้ลดน้อยที่สุด เมื่อเอาเงินมาวางศาลแล้ว พิพากษาคดีเสร็จเด็ดขาด มารับเงินคืนเป็นเงินสดรับกันหน้าเคาน์เตอร์ ไม่ใช่จ่ายเป็นเช็คขีดคร่อมเข้าบัญชีผู้ถือ บางคนไม่มีบัญชีต้องไปเปิดบัญชี หากปล่อยตัว เวลา 16.00 น. เช็คคืนเวลา 17.00 น. จะไปเคลียร์ริ่งเช็คที่ไหน ศาลเอาเงินสดเมื่อคืนต้องคืนเงินสด พ่อแม่เด็กเดือดร้อนต้องใช้เงินจะรอเงินไม่ได้ เคยไปตรวจราชการที่ศาลเยาวชนแห่งหนึ่งในภาคใต้ พบว่ามีพ่อแม่เด็กรายหนึ่งเดินทางมาศาลด้วยสภาพสะบักสะบอมคล้ายร่างกายถูกทำร้าย สอบถามทราบว่าถูกเจ้าหนี้นอกระบบทำร้ายเพราะยืมเงินมาประกันตัวลูกแล้วไม่มีเงินคืนเขา ตนทราบแล้วรู้สึกไม่สบายใจ จะไม่ยอมให้มีสภาพแบบนี้อีก จะวางนโยบายกำหนดวงเงินประกันตัวที่ศาลให้น้อยที่สุดหรือไม่ต้องวางเงินเลย
นายสิทธิศักดิ์เผยต่ออีกว่า นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับสิทธิของผู้เสียหายที่เป็นเด็ก กล่าวคือเวลาเยาวชนกระทำผิด คนมักมองว่ามีกฎหมายคุ้มครองเด็กที่กระทำความผิดแต่ไม่คำนึงถึงคนที่เสียหาย ต่อไปนี้จะเยียวยาจัดหาทนายความ หรือที่ปรึกษากฎหมายฝ่ายผู้เสียหายบ้าง เดิมมีแต่ที่ปรึกษาฝ่ายจำเลย คือเมื่อเด็กถูกทำร้าย ถูกอนาจารหรือประทุษร้าย ให้มาขอที่ปรึกษา หรือทนายความที่ขึ้นทะเบียนดำเนินคดีเยาวชนได้ จะให้คำปรึกษาและว่าความให้เด็กฟรี ตนพบกับ ร.ต.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความรับปากว่า จะรีบจัดทนายความเหล่านี้โดยเร็ว จะมีการทำบันทึกลงนามข้อตกลงหรือเอ็มโอยูกัน ส่วนเบี้ยเลี้ยงทนายความจะขอเพิ่มจากเดิมวันละ 1,000 บาท ให้มากกว่าเดิมโดยของบประมาณจากกระทรวงยุติธรรม หากเด็กต้องการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาตามมาตรา 44/1 สามารถใช้ทนายความ หรือที่ปรึกษากฎหมายคนเดียวกันได้ทันที นอกจากนี้ จะจัดทนายความ ที่ปรึกษากฎหมายคดีเยาวชนกับฝ่ายผู้เสียหายประจำที่ศาลเยาวชนทั่วประเทศแห่งละ 2 คน ให้เสร็จในปี 2562 นี้
“เคยพบผู้เสียหายที่เป็นเด็กหญิงถูกรุมโทรมมาต้องอับอาย แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐและกระบวนการยุติธรรมกระทำให้เด็กรับผลกระทบซ้ำด้วยวิธีการ เด็กคนนี้ร้องไห้ในศาลว่าอย่าให้หนูต้องอายเลย หนูทนไม่ไหวแล้ว ผมสงสัยสอบถามทราบว่า ถูกเจ้าหน้าที่ซักถามเกี่ยวกับวิธีการที่คนร้ายข่มขืนว่าทำอย่างไร เจ็บหรือไม่ โดนกี่ครั้ง สิ่งเหล่านี้ผมจะยุติให้หมดสิ้น เพื่อไม่ให้เด็กกระทบจิตใจ จัดนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์และบุคลากรที่ผ่านการอบรมมาดูแลเด็ก เรื่องผู้เสียหายจะทอดทิ้งไม่ได้” อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางกล่าว
ด้านว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความเผยว่า หารือกับอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางแล้ว เรื่องที่จะให้จัดหาที่ปรึกษากฎหมายหรือทนายความที่ผ่านการอบรมของศาลเยาวชนไปรับเรื่องร้องเรียน หรือให้ความช่วยเหลือกับเด็กที่เป็นเหยื่ออาชญากรรม เพราะเห็นว่าเป็นหลักการที่ดี ที่ผ่านมาสภาทนายความจัดอบรมที่ปรึกษากฎหมายร่วมกับศาลเยาวชนไปหลายรุ่นแล้ว สภาทนายความมีความพร้อมจะจัดที่ปรึกษากฎหมายไปช่วยเหลือทั่วประเทศ