นอกจากการขับขี่รถโดยใช้ความเร็วเกินจากที่กฎหมายกำหนด สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุบนทางพิเศษ ส่วนหนึ่งมาจากความประมาท และไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับการใช้ทางพิเศษ
โดยเฉพาะการฝ่าฝืนขับขี่ในช่องไหล่ทาง จนเกิดการเฉี่ยวชนกับรถที่จอดเสียในช่องไหล่ทาง ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายครั้งหลายราย ล่าสุด การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ไม่ได้นิ่งนอนใจ เตรียมหามาตรการป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก โดยรองผู้ว่าการฝ่ายปฏิบัติการ กทพ. ดำเกิง ปานขำ จะมาให้รายละเอียดกับรายงานพิเศษในวันนี้
ถาม-การทางพิเศษฯ มีมาตรการป้องกันอุบัติเหตุรถชนในช่องไหล่ทางอย่างไรบ้าง และคาดว่าจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน
ดำเกิง–มาตรการแรก กทพ. ได้พัฒนา Application EXAT Portal โดยเปิดช่องทางในการแจ้งเหตุฉุกเฉิน (SOS) บนทางพิเศษ กรณีรถเสีย รถเกิดอุบัติเหตุ น้ำมันหมด ยางแตก ซึ่งผู้ใช้ทางสามารถกดขอความช่วยเหลือจากศูนย์ควบคุมทางพิเศษของแต่สายทางได้ทันที ผ่านทาง Application EXAT Portal โดยผู้ใช้ทางสามารถติดตั้ง Application EXAT Portal ได้แล้ววันนี้เฉพาะระบบ Android ส่วนระบบ iOS จะสามารถติดตั้งได้ต้นปี 2562
สำหรับขั้นตอนขอความช่วยเหลือ ผ่าน Application EXAT Portal มีดังนี้ กดเข้า Application EXAT Portal เข้าไปยังหน้าแรก สังเกตสัญลักษณ์ขอความช่วยเหลือ SOS มุมบนด้านขวามือ แล้วกดเข้าไป เมื่อเข้าไปแล้วจะปรากฏหน้าขอความช่วยเหลือ (SOS) แล้วเข้าไปกดขอความช่วยเหลือ โดยเลือกสาเหตุขอความช่วยเหลือ อุบัติเหตุ น้ำมันหมด ยางแตก และอื่นๆ พร้อมทั้งกรอกหมายเลขโทรศัพท์แล้วกดตกลง
ระบบจะส่งข้อมูลไปยังศูนย์ควบคุมทางพิเศษ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูล และระบบพบตำแหน่งของผู้แจ้งแล้วจะปรากฏ “พี่ลัดฟ้า” ขึ้นบนหน้าจอ ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมทางพิเศษจะดำเนินการประสานพนักงานกู้ภัยที่อยู่ใกล้ท่านที่สุดเข้าช่วยเหลือ โดยผู้ใช้ทางไม่ต้องลงจากรถ ช่วยให้สะดวก และปลอดภัยยิ่งขึ้น
...
มาตรการที่ 2 กทพ. เตรียมติดตั้งเส้นชะลอความเร็ว (Rumble Strips) เพื่อเตือนผู้ใช้ทางที่เข้าไปใช้ช่องไหล่ทาง รวมทั้งติดตั้งป้ายจราจร ข้อความ“ระวังรถจอดไหล่ทาง”และ “ห้ามรถวิ่งไหล่ทาง ฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมาย” เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น
สำหรับเส้นชะลอความเร็ว ติดตั้งทุกๆระยะทาง 50 เมตร ตีเป็นเส้นเฉียง สีขาวแต่ละช่วงจะมีทั้งหมด 5 เส้น ความหนาประมาณ 3-6 มม. ขึ้นอยู่กับทางพิเศษ ถ้าเป็นทางพิเศษในเขตเมือง หนา 3 มม.นอกเมือง หนา 6 มม. จะเริ่มติดตั้งนำร่องบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร หรือทางด่วนขั้นที่ 1 ทางพิเศษฉลองรัช หรือทางด่วนสายรามอินทรา-วงแหวนรอบนอก และทางพิเศษกาญจนาภิเษก หรือทางด่วนสายบางพลี-สุขสวัสดิ์ คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.2562 เมื่อได้ผลดีจะขยายไปยังเส้นทางอื่นๆต่อไป
ถาม–จะมีการนำมาตรการด้านกฎหมายมาบังคับใช้ด้วยหรือไม่
ดำเกิง–ปัจจุบันกทพ.ร่วมกับตำรวจ กวดขันวินัยจราจรบนทางพิเศษอย่างต่อเนื่องแล้ว ในอนาคตจะมีการติดตั้งกล้องตรวจจับรถบริเวณทางร่วม ทางแยก รวมถึงในช่องไหล่ทางบนทางพิเศษสายทางต่างๆที่พบผู้ใช้ทางฝ่าฝืนกระทำผิดจำนวนมาก เนื่องจากการติดตั้งกล้องต้องใช้งบประมาณจำนวนมากอาจจะทยอยติดตั้ง โดยเน้นสายทางพิเศษในเขตเมืองก่อน นอกจากกวดขันเรื่องวินัยจราจรแล้ว ยังช่วยเรื่องการตรวจสอบสภาพการจราจร และอุบัติเหตุบนทางพิเศษ โดยจะมีการเชื่อมสัญญาณมายังศูนย์ควบคุมทางพิเศษ และศูนย์ควบคุมจราจรของตำรวจ ด้วยเชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ใช้ทางฝ่าฝืนกระทำผิดลดลง รวมถึงอุบัติเหตุจะลดลงตามไปด้วย.