ดีใจแทนประชาชนคนไทย ที่ตำรวจยุคนี้ สมัยนี้ ใช้รอยหยักในสมองเร่งพัฒนาขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวล้ำตามทันสภาพแวดล้อมสังคมไทย ทำให้เห็นเด่นชัดว่า นาทีนี้ หน่วยงานใดบ้าง? ที่ผู้ใต้บังคับบัญชากระตือรือร้นขานรับนโยบายผู้นำหน่วย และพร้อมจะผลักดันสู่มาตรฐานความเป็นสากล สะท้อนกลับตอบโจทย์เข้าถึง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข เป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนอย่างแท้จริง
กองบังคับการปราบปราม หน่วยที่เรียกได้ว่า เปรียบเสมือนเสาหลักสำคัญของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากคนไทยทั้งประเทศ สู่การติดตามคดีใหญ่ คดียาก ไขปริศนาทำความจริงให้ปรากฏ ไลล่า ลากตัวอาชญากรระดับชาติ เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย....และนั่น เป็นเพียงแค่หนึ่งหน้างานภาคปฏิบัติ ที่ตำรวจกองปราบยึดมั่นถือมั่นสืบทอดเจตนารมณ์สานต่อกันมาหลายช่วงเวลา จวบจนเข้าสู่การนำทัพของ พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ผู้บังคับการกองปราบปราม ผลักดันความก้าวล้ำทันสมัยของเทคโนโลยี 4.0 ปรับใช้ควบคู่กับหน่วยงานในหลายมิติ ยกระดับสู่ความเป็นสากล
...
- รื้อระบบสายตรวจตู้แดง ข้ามผ่านการสแกน QR Code -
พ.ต.อ.วิจักขณ์ ตารมย์ รรท.ผกก.สนับสนุน ป., พ.ต.ท.เนติ วงษ์กุหลาบ รรท.รองผกก.สนับสนุน ,หัวหน้ารถสายตรวจกองปราบ หัวหน้าทีม IO หรือ Information Operation (ยุทธการทางข้อมูลข่าวสาร โดยการใช้โครงข่ายอินเทอร์เน็ตและอิเล็กทรอนิกส์) กองปราบปราม เปิดตัวโปรแกรมสมองกล "สายตรวจ บก.ป." หรือ "สายตรวจ ฉลามบก" คิดค้นและเขียนแบบโครงสร้างขึ้นมาเอง โดยตำรวจชุดทีมงาน โละระบบตู้แดง พัฒนาล้ำหน้าเหนือกว่า "สายตรวจ QR Code"
ประชาชน และชาวบ้านทั่วไป คงจะคุ้นชินกับระบบสายตรวจตู้แดง ภาพตำรวจขี่มอเตอร์ไซค์วนรอบเขตพื้นที่รับผิดชอบ หยุดจอดตามจุดที่มีตู้แดงแขวนไว้หน้าบ้าน หรือหน้าสถานที่นั้นๆ เพื่อป้องปรามเหตุอาชญากรรมที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมเซ็นชื่อเป็นลายลักษณ์อักษรลงในสมุดยืนยันให้ผู้บังคับบัญชาทราบว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจตามระยะเวลาที่กำหนด
และเมื่อไม่นานมานี้ ตำรวจหลายหน่วยผุดไอเดียล้ำสมัย "สายตรวจ QR Code" ไม่ต้องเปิดสมุดเซ็นชื่อ ประหยัดงบประมาณการซื้อตู้แดงในแต่ละพื้นที่ เพราะแค่มือถือเครื่องเดียวก็สามารถสแกนบาร์โค้ด รายงานตัวกับผู้บังคับบัญชาว่า "ได้เข้ามาตรวจพื้นที่จุดดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว" ....สะดวกขึ้น ง่ายขึ้น ทันสมัย สบายขึ้น แต่ "สายตรวจ QR Code" ก็ไม่ถือว่าตอบโจทย์การเข้าถึงประชาชน ในการลงพื้นที่ปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรม เพราะระบบดังกล่าว เอื้ออำนวยประโยชน์ เว้นช่องว่างให้เจ้าหน้าที่ ไม่ละเอียดถี่ถ้วน ไม่ใส่ใจปฏิบัติงานเท่าที่ควร
- เปลืองงบ ควบคุมยาก ค้นหาลำบาก ตำรวจลักไก่ ไม่ตรวจตรงเวลา -
ที่ผ่านมาเสียงสะท้อนของชาวบ้าน เป็นหลักเกณฑ์ชี้วัดได้ดีที่สุด ผู้สื่อข่าวเคยได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับตำรวจสายตรวจหลายหน่วยงาน ในพื้นที่ต่างๆ เล่าถึงพฤติกรรมตำรวจสายตรวจบางนาย ไม่ซื่อตรงในหน้าที่ ลักไก่หวังทำงานสบาย ไม่คำนึงถึงเหตุด่วนเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน
ข้อเสียของสายตรวจตู้แดง ควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ได้ยาก บางนาย เซ็นชื่อรอไว้ล่วงหน้า 3 เวลาเช้า เที่ยงเย็น ... ใน 1 วัน ออกตรวจแค่ 1 ครั้ง ผู้บังคับบัญชามองไม่เห็นภาพรวมการปฏิบัติงาน
และหากจะค้นหาข้อมูลย้อนหลังกลับไป 2-3 ปี เพื่อตรวจสอบว่าตรงจุดต่างๆ เหล่านี้ ตำรวจนายใดรับผิดชอบดูแล ก็ต้องกลับไปรื้อค้นเอกสาร แผ่นกระดาษกองโต ยุ่งยากเสียเวลา รวมไปถึงงบประมาณการซื้อตู้แดงพื้นที่ทั่วประเทศ มูลค่ามหาศาล
...
ข้อเสียของสายตวจ QR Code ถึงแม้จะดูทันสมัยล้ำหน้า เอื้ออำนวยความสะดวกให้ตำรวจได้มากยิ่งไปกว่าการเซ็นชื่อลงสมุดตามจุดตู้แดงต่างๆ ...แต่ "สายตรวจ คิวอาร์โค้ด" ก็สามารถอาศัยช่องว่าง ลักไก่ ถ่ายภาพบาร์โค้ดจุดต่างๆ เก็บไว้ในตัว ..นั่นหมายความว่าอาจเป็นไปได้ที่ วันทั้งวัน สายตรวจคิวอาร์โค้ด ไม่ต้องโผล่โชว์ตัวเข้าดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่ "แค่นอนเล่นอยู่บ้าน" ถึงเวลาตรวจ นำบาร์โค้ดที่ถ่ายเก็บไว้ สแกนรายงานตัวได้ทันท่วงที" และนี่คือสิ่งที่ชาวบ้านเคยร้องเรียนกันเข้ามา
...
- โปรแกรมสุดล้ำ ขีดกรอบตำรวจ นำร่องที่แรก "สายตรวจ บก.ป." -
พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ผู้บังคับการกองปราบปราม มอบนโยบายผู้ใต้บังคับบัญชา เน้นย้ำอุดทุกช่องโหว่ของการทำงาน ตอบโจทย์ให้ประโยชน์สุขต่อประชาชน นำร่องใช่ระบบ "สายตรวจ บก.ป." คิดค้นออกแบบโปรแกรม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม ซึ่งมีความรู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เขียนโปรแกรมละติจูด ลองติจูด โลเคชั่นสถานที่สำคัญที่สายตรวจต้องเข้าถึงจุด
พ.ต.ท.เนติ วงษ์กุหลาบ ให้ข้อมูลว่า มือถือสมาร์ทโฟนของตำรวจสายตรวจทุกเครื่อง ต้องติดตั้งโปรแกรมเชื่อมโยงกับระบบโยงใบรวมกัน สายตรวจทุกนายต้องขับรถไปยังจุดตรวจให้อยู่ในรัศมี 30 เมตร จึงจะสามารถเช็กอินลงชื่อได้ จากนั้นต้องใช้เวลาตรวจอย่างทั่วถึงถี่ถ้วน ถ่ายภาพบรรยากาศแวดล้อมแนบไฟล์ภาพ พร้อมรายงานข้อมูลทั้งหมดผ่านทางสมาร์ทโฟน ส่งเข้าสู่ระบบ
...
"ในแต่ละวัน โปรแกรมดังกล่าวจะสามารถประมวลผลสรุปการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจสายตรวจแต่ละนาย ระบุว่าใครเข้าตรวจยังจุดไหน มีความใส่ใจ ใช้เวลามากน้อยเพียงใด ความเคลื่อนไหวอยู่ในสายตาผู้บังคับบัญชา นอกจากนี้ หากต้องการจะเช็กข้อมูลย้อนหลังกลับไป 2-3 ปี ก็สามารถตรวจสอบได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว กดค้นหาได้ทันทีจากในระบบ"
- ป้องกันตำรวจ ประพฤตินอกลู่นอกทาง -
"ในภายภาคหน้า หากพบว่าตำรวจสายตรวจกองปราบนายใดประพฤติมิชอบ เช่น เรียกรับผลประโยชน์ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ก็สามารถตรวจสอบได้ง่าย ชี้จุดตรงตัว เรียกได้ว่าตอบโจทย์ทุกระบบการทำงาน สนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง" พ.ต.ท.เนติ วงษ์กุหลาบ
ที่สำคัญโปรแกรมดังกล่าว ยังประมวลผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกนาย บ่งชี้พฤติกรรม ความมีระเบียบวินัย ส่งผลสู่ภาพลักษณ์ที่ดีงามต่อองค์กร สร้างความเชื่อมั่น ไว้วางใจจากประชาชนได้มากยิ่งขึ้น
- ทดสอบแล้ว 1 สัปดาห์ ผลตอบรับดี ประชาชนชื่นชอบ -
จากการนำรถสายตรวจ บก.ป. ลงพื้นที่ปฏิบัติงานในกรุงเทพมหานคร ปรากฏว่ามีเสียงสะท้อนจากประชาชนกลับมาในด้านดี เพราะตำรวจมีความละเอียดรอบคอบ ใส่ใจทำงานมากยิ่งขึ้น วัดได้จากการประเมินผลรายวัน ตรงต่อเวลา มีวินัย ใส่ใจประชาชน และพฤติกรรมทั้งหมดนี้ จะถูกนำมาประเมินผล ด้านตำแหน่งหน้าที่การงานรายปีของข้าราชการตำรวจแต่ละนายอีกด้วย
"อันดับแรกเลย เมื่อชาวบ้านเห็นรถสายตรวจ บก.ป. เปลี่ยนโฉมใหม่ เป็นสีฟ้า สัญลักษณ์คล้ายปลาฉลาม หลายคนให้ความสนใจเพราะค่อนข้างโดดเด่น เห็นแล้วสบายตา เข้าไปตรวจตรงจุดไหนก็รู้ว่า สายตรวจกองปราบกำลังปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งต้องไปทุกวัน ทุกจุดตรวจที่กำหนดไว้ หลังเริ่มต้นใช้งานเพียง 1 สัปดาห์ พัฒนาดีขึ้นทุกๆด้าน เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ ประชาชนในกรุงเทพฯ และทั่วประเทศ จะคุ้นชินกับภาพรถสายตรวจ บก.ป. สีฟ้าเบาๆสบายตา สร้างความเป็นมิตร สนิทสนม ลดช่องว่างระหว่างตำรวจกับประชาชน ให้ความร่วมมือร่วมใจ ชี้เบาะแสข้อมูลเจ้าหน้าที่ นำสู่การยับยั้งกวาดล้างอาชญากรรมต่อไป" พ.ต.อ.วิจักขณ์ ตารมย์ รรท.ผกก.สนับสนุน ป. กล่าวทิ้งท้าย