"ลักษณ์" นำกระทรวงเกษตรฯ ลุยทำแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร พัฒนาสู่เกษตร 4.0 หวังช่วยชาวนา พร้อมสานนโยบาย 15 ด้าน เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร มุ่งพัฒนาทั้งด้านคุณภาพเพื่อสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี...
เมื่อวันที่ 17 ต.ค.61 นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในปี 2558 ประเทศไทยประสบภัยแล้ง ส่งผลให้การเพาะปลูกข้าวนาปรังลดลงมาก ต่อมาในปี 2559 การผลิตและการตลาดข้าวยังประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุปทานข้าวมากกว่าอุปสงค์ ชาวนาถูกเอารัดเอาเปรียบ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว จึงมีมติมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง จัดทำแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ซึ่งเป็นการบริหาร จัดการสินค้าข้าวตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การผลิต การสีแปรสภาพ จนถึงการตลาด โดยใช้หลักการ การตลาดนำการผลิต แยกตลาดข้าวทั่วไปกับตลาดเฉพาะ เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต สร้างความเป็นธรรมในการขายข้าวของชาวนา

โดยปรับกระบวนทัศน์สำคัญในการพัฒนาข้าวไทย คือ 1. ใช้การตลาดนำการผลิต มีการวางแผนการผลิตและการตลาดข้าว ให้อุปทานสมดุลกับอุปสงค์ โดยนำอุปสงค์เป็นตัวตั้งในการกำหนดการผลิต 2. แยกตลาดทั่วไป (Mass Market) กับตลาดข้าวเฉพาะ (Niche Market) โดยแบ่งแผนการส่งเสริมการตลาดตามลักษณะของตลาดข้าว 3. ปรับโครงสร้างการผลิตครบวงจร โดยพื้นที่เหมาะสมการปลูกข้าวจะส่งเสริมสนับสนุน ให้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่วนพื้นที่ไม่เหมาะสมให้ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น หรือทำกิจกรรมอื่น ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าการปลูกข้าว รวมทั้งให้มีการลดรอบการทำนาในรอบที่ 2 โดยส่งเสริมให้ปลูกพืชหมุนเวียนหลังนา เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน 4. สร้างความเป็นธรรมให้แก่ชาวนาในการนำข้าวไปขาย โดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบในการชั่งน้ำหนักการวัดความชื้น มีการปรับปรุงแก้ไขกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการบูรณาการร่วมกันมากขึ้นระหว่าง 4 กระทรวงหลัก พาณิชย์ เกษตรฯ มหาดไทย การคลัง
...

ทั้งนี้ แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรได้ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบันปี 2561 เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ประกอบด้วย 5 ช่วง ได้แก่ 1. ช่วงการกำหนดอุปสงค์ และอุปทาน 2. ช่วงการผลิต 3. ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว 4. ช่วงการตลาดในประเทศ และ 5. ช่วงการตลาดต่างประเทศ

"กระทรวงเกษตรฯ สานต่องานนโยบาย 15 ด้าน โดยมุ่งเน้นการนำนโยบายไปปฏิบัติให้บรรลุผล และยกระดับการบริหารจัดการมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่เกษตร 4.0 เน้นการบริหารจัดการด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ความสมดุลของ Demand และ Supply การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร มุ่งพัฒนาทั้งด้านคุณภาพ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ โดยการนำหลักบริหารจัดการสินค้าเกษตรที่สำคัญแบบครบวงจร ร่วมกับการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม องค์ความรู้ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาการเกษตรสู่เกษตร 4.0 อย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี" นายลักษณ์ กล่าว