มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน “ครบรอบ 42 ปี 6 ตุลาฯ 2519” ร่วมรำลึกและไว้อาลัยแก่ผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ มีนักวิชาการ ตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วม สรุปบทเรียน วิธีแก้ปัญหาความขัดแย้ง
วันที่ 6 ตุลาคม 2561 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงาน “ครบรอบ 42 ปี 6 ตุลาฯ 2519” ประจำปี 2561 เพื่อร่วมรำลึกและไว้อาลัยแก่ผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 โดยมีการทำบุญตักบาตร วางดอกไม้บริเวณสวนประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มีองค์กรต่างๆ ญาติผู้เสียชีวิต นักวิชาการ และตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วม อาทิ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ สุธรรม แสงประทุม นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ นายวรชัย เหมะ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์


...
นายบุญสม อัครธรรมกุล ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า บทเรียนจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทย 6 ตุลาคม 2519 สู่การตระหนักถึงการเมืองที่กำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งที่อาจเกิดความขัดแย้งเห็นต่างว่า เป็นปกติที่จะเกิดความเห็นต่างในสังคม แต่ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละยุคสมัยจะมีการจัดการความขัดแย้งอย่างไร


"แม้หลายคนยังคิดว่า รากเหง้าความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่ ไม่เพียง 6 ตุลาฯ ยังรวมถึงเหตุการณ์ปี 2552, 2553 และ 2557 โดยเชื่อว่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น นั่นเพราะว่าการใช้ความรุนแรงหรือเข่นฆ่าทำลายกันไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหา โดยการจัดงานวันนี้จึงหยิบยกเรื่อง “สันติประชาธรรม” ของศาสตราจารย์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ที่ชี้ว่าจะเป็นวิธีที่แก้ปัญหาความขัดแย้งได้ ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ช่วงใกล้เข้าสู่การเลือกตั้งที่จะมีการต่อสู้ทางการเมือง เกิดการเสนอความคิดที่โจมตีฝ่ายตรงข้าม โดยต้องว่าไปตามกระบวนการยุติธรรม หากเกิดการปลุกระดมเกิดความไม่พอใจในสังคม และหวังว่าการต่อสู้ทางการเมืองของแต่ละพรรคจะเกิดความสร้างสรรค์ เมื่อเทียบกับการเมืองการเลือกตั้งในต่างประเทศ ไม่ได้ต่างกัน แต่ต้องยอมรับว่าพลเมืองของประเทศเขามีการจัดการมีวิจารณญาณที่ต่างกัน และเชื่อว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นอาจจะดีกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา"


...
นายบุญสมระบุว่า การสืบทอดอำนาจไม่ได้มีแต่ในไทย ซึ่งต่างประเทศก็เคยเกิดขึ้น โดยขึ้นอยู่กับวิธีการจัดการและป้องกันความขัดแย้ง แม้เหตุการณ์หลังการเลือกตั้งอาจเกิดขึ้น กรณีเกิดขั้วเห็นต่างระหว่างกลุ่มที่ไม่เอา คสช. กับ กลุ่มที่สนับสนุน หากรัฐบาลหลังการเลือกตั้งเร่งการแก้ไขปัญหาพื้นฐานของสังคมประชาชนได้ดี ประเด็นเรื่องความขัดแย้ง "เอาหรือไม่เอา คสช." จะเลือนหายไป ซึ่งเชื่อว่าทหารจะสรุปวิเคราะห์บทเรียน เพราะถือว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ.