“แทน เทือกสุบรรณ” เฮ ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง คดีที่ตกเป็นจำเลยร่วมกับพวกรวม 4 คน รุกป่าเขาแพง จ.สุราษฎร์ธานี ศาลชี้บรรยายฟ้องโจทก์ เพียงแค่ยกถ้อยคำตัวบทกฎหมายมาบรรยายให้ครบองค์ประกอบความผิด ฟังไม่ได้ว่าที่ดินที่จำเลยครอบครองเป็นที่ดินป่าไม้เป็นที่ดินของรัฐตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะชี้ว่าจำเลยทั้งหมดมีความผิด ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ยกฟ้อง ด้านอธิบดีอัยการคดีพิเศษเผย จะคัดคำพิพากษามาดูรายละเอียด ทำความเห็นเสนออธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลสูงพิจารณาจะยื่นฎีกาหรือไม่
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ยกฟ้องแทน เทือกสุบรรณ กับพวก พ้นผิดคดีรุกป่าเขาแพง เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 2 ต.ค. ที่ห้องพิจารณาคดี 910 ศาลอาญา ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายพรชัย ฟ้าทวีพร อายุ 53 ปี ผจก.ห้างหุ้นส่วนเรืองปัญญาคอนสตรัคชั่น จำเลยที่ 1, นายสามารถ หรือโกเข็ก เรืองศรี อายุ 61 ปี หุ้นส่วน หจก.เรืองปัญญาคอนสตรัคชั่น และนายหน้าขายที่ดิน จำเลยที่ 2, นายแทน เทือกสุบรรณ อายุ 37 ปี บุตรชายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. จำเลย ที่ 3 และนายบรรเจิด เหล่าปิยะสกุล อายุ 63 ปี อดีตเลขานุการส่วนตัวของนายสุเทพ จำเลยที่ 4 ในความผิดฐานร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถางป่า หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองและผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่อสร้าง หรือเผาป่าในที่ดินของรัฐโดยมิได้มีสิทธิ ครอบครอง หรือไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่
...
กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 27 ก.ย.2543-5 ต.ค.2544 ต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ทำลาย แผ้วถางป่าเขาแพง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 31 ไร่ 2 งาน 97 ตารางวา ส่วนจำเลยที่ 3-4 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ทำลาย แผ้วถางป่าเขาแพง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 14 ไร่ ด้วยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ เหตุเกิดที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ก.ย.59 ลงโทษจำคุกนายพงษ์ชัย และนายสามารถ หรือโกเข็ก จำเลยที่ 1-2 คนละ 5 ปี ส่วนนายแทนและนายบรรเจิด จำเลยที่ 3-4 จำคุกคนละ 3 ปี นัดนี้จำเลยทั้งสี่ซึ่งได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์มาฟังคำพิพากษาด้วยสีหน้ามั่นใจ โดยนายแทนยิ้มแย้มใบหน้าสดใส
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การบรรยายฟ้องของโจทก์เป็นเพียงหยิบยกเอาถ้อยคำของตัวบทกฎหมายแต่ละฉบับมาบรรยาย เพื่อให้ครบองค์ประกอบความผิดเท่านั้น มิได้บรรยายข้อเท็จจริงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1-2 กระทำอย่างไร ที่โจทก์ถือว่าเป็นการยึดถือครอบครองป่า นอกจากนี้ โจทก์มิได้บรรยายข้อเท็จจริงให้เห็นว่าจำเลย 1-2 ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างประเภทใด ขนาด และจำนวนเท่าใด หรือตัดต้นไม้ หรือทำให้ป่าเสื่อมสภาพ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ในข้อนี้ไม่เคลือบคลุมนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยที่ 1-2 อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
ส่วนการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่นั้น เห็นว่า คำเบิกความของพยานโจทก์รับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า ก่อนเกิดเหตุชาวบ้านถือครองที่ดินโดยมีหนังสือทำประโยชน์ ส.ค.1 และได้ปลูกพืชผลทางการเกษตร เช่น มะพร้าว มะม่วงหิมพานต์อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ที่ดินที่พวกจำเลยเข้าไปสร้างอ่างเก็บน้ำและถนนคอนกรีต มีพื้นที่ที่ดินข้างเคียงติดกับของชาวบ้าน บริเวณอ่างเก็บน้ำมีการปลูกพืชผลทางการเกษตรบางส่วนเช่นกัน และส่วนของที่ดินที่มีการก่อสร้างถนนคอนกรีต ยังมีบริษัทเอกชนอื่นร่วมถือครองด้วย ไม่ใช่ที่ดินรกร้างหรือไม่มีผู้ครอบครอง อีกทั้งที่ผ่านมา ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าอธิบดีกรมที่ดินได้สั่งเพิกถอนการออกหนังสือครอบครองที่ดินเพราะจะเป็นที่ดินรัฐหรือที่ป่า
ส่วนพยานโจทก์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์สภาพการใช้ที่ดินจากภาพถ่ายทางอากาศ และข้อมูลจากดาวเทียม เป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรมด้านวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศและแผนที่เบิกความว่า เมื่อปี 2553 ขณะดำรงตำแหน่ง ผอ.ส่วนพิสูจน์ที่ดิน ได้ไปช่วยอ่านแปลพื้นที่ เนื่องจากมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ พบว่าสภาพที่ดินของที่พิพาทด้านทิศตะวันออกถึงปลายแหลมของรูปโฉนดที่ดิน มีลักษณะเป็นป่า ในเขตโฉนดที่ดินจะมีไม้ขนาดกลางและขนาดเล็ก ส่วนที่อยู่นอกโฉนดที่ดิน จะเป็นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม้ดังกล่าวเป็นป่าดิบชื้นไม่ใช่พืชเกษตร พื้นที่ที่อยู่รอบแนวโฉนดที่ดินเหนือขึ้นไปก็เป็นป่าดิบชื้น และพื้นที่บริเวณอื่นโดยรอบก็มีลักษณะเป็นป่าดิบชื้น ส่วนพื้นที่นอก น.ส.3 ก. ที่อยู่ทิศใต้ของยอดปลายแหลม ส่วนใหญ่มีการปลูกมะพร้าว มะม่วงหิมพานต์ แทรกอยู่นั้น
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้พยานเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญเบิกความสภาพที่ดินตามที่ลงไปดูพื้นที่ และอธิบายสภาพของป่าดิบชื้น ความแตกต่างระหว่าง ป่าสมบูรณ์กับป่าทุติยภูมิตามความรู้ แต่ปัญหาที่ว่า ที่ดินพิพาทเป็นป่าหรือไม่ ย่อมต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) ที่บัญญัติว่า ป่าหมายถึงที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน อีกทั้งยังมีพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่เบิกความว่า ไม่ทราบว่าเจ้าของเดิมจะครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอย่างไร เพราะพยานไม่ได้ตรวจสอบในเรื่องนี้ และเบิกความรับว่าที่ดินของประชาชนที่ได้ครอบครองจนออก น.ส.3 ก. ที่ดินจะกลับมาเป็นของรัฐต่อเมื่อ เจ้าของที่ดินปล่อยทิ้งร้าง มีเจตนาสละการครอบครอง แต่ที่ดินนี้พยานไม่พบว่ามีการเจตนาสละการครอบครอง หรือมีคำสั่งศาลให้เพิกถอนการออก น.ส.3 ก. เป็นดุลพินิจของพนักงานที่ดินสาขานั้น
...
น.ส.3 ก. ทั้ง 3 ฉบับออกโดยอาศัยหลักฐานเลขที่ 3301, 3302 และ 3285 ตามเอกสารหลักฐาน สค.1 เลขที่ 85, 95, 97 เป็นที่ดินที่ได้แจ้งการครอบครอง และมีการทำประโยชน์ตามสมควรแก่สภาพท้องถิ่น แม้พยานจะอ้างว่าคณะกรรมการสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องการออกที่ดินดังกล่าวเสียงข้างมากที่เห็นว่าโฉนดที่ดินออกไปโดยคลาดเคลื่อน เนื่องจากได้นำที่ดินนอก น.ส.3 ก. ที่อยู่ในภูเขา เป็นพื้นที่ที่มี ความลาดชันเกิน 35% อันเป็นที่ต้องห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดิน การนำพื้นที่ดังกล่าวมารวมออกโฉนดจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นผลให้โฉนดที่ดินดังกล่าวออกโดยคลาดเคลื่อน และมีคำสั่งให้แก้ไขรูปแผนที่เนื้อที่ในโฉนดที่ดิน แต่ความเห็นดังกล่าวไม่สอดคล้องกับผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมาย ที่ดิน และจำเลยที่ 3 ยังโต้แย้งฟ้องคดีต่อศาลปกครองจังหวัดนครศรีธรรมราชให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว อีกทั้งพยานหลายปากมิได้ระบุว่าที่ดังกล่าวเป็นที่ผืนป่าชัดเจน พยานมิได้ยืนยันข้อเท็จจริง และมิได้หยั่งรู้ถึงสภาพที่ดินอันเป็นข้อพิพาท อันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี
...
แม้ที่ดินของรัฐและป่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาติ แต่เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 3-4 กระทำผิดตามฟ้อง โจทก์ย่อมมีภาระการพิสูจน์ถึงการกระทำผิดของจำเลยที่ 3-4 ให้ครบองค์ประกอบความผิด พยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า ในขณะที่มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ และถนนคอนกรีตที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐและเป็นป่าตามองค์ประกอบของกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดดังที่โจทก์ฟ้อง พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ว่ามีการกระทำความผิด อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้ง 4 ทุกข้อกล่าวหา
ภายหลังเสร็จสิ้นการอ่านคำพิพากษา นายแทน เทือกสุบรรณ กับพวก ต่างยิ้มแย้มดีใจที่ศาลยกฟ้อง หันไปพูดคุยกับบุคคลใกล้ชิดที่มาให้กำลังใจด้วยความยินดี ก่อนเดินทางกลับทันทีโดยไม่ให้สัมภาษณ์
ด้านนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อธิบดีอัยการคดีพิเศษ กล่าวว่า ขณะนี้ทางอัยการยังไม่ได้เห็นคำพิพากษาฉบับสมบูรณ์ จะต้องคัดคำพิพากษามาดูโดยละเอียดเพื่อพิจารณาต่อไป พร้อมดำเนินการ คัดคำพิพากษาฉบับสมบูรณ์โดยเร็ว เพื่อมาศึกษาว่าคำพิพากษาดังกล่าวชอบด้วยเหตุผลหรือไม่ ขั้นตอนหลังได้คำพิพากษามา สำนักงานคดีพิเศษจะนำคำพิพากษามาศึกษา พร้อมทำความเห็นเสนออธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลสูงพิจารณาว่าจะยื่นฎีกาหรือไม่ ระยะเวลาในการยื่นฎีกาจะต้องยื่นภายใน 30 วัน หากมีการคัดคำพิพากษาไม่ทัน หรือเหตุอื่นๆ สามารถขอขยายระยะเวลาฎีกาได้