นักวิชาการ ชี้ ไม่เห็นด้วย ยกเลิกพาราควอตทันที อาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี เพราะสารเคมีตัวใหม่อาจก่อมลพิษสิ่งแวดล้อม หรือเกษตรกรแบกรับต้นทุนไม่ได้ แนะ วิจัยทางเลือกเพิ่มไม่ต้องพึ่งสารเคมี
วันที่ 20 ก.ย รศ.ดร.จำรูญ เล้าสินวัฒนา อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ย้ำถึงกระแสข่าวการต่อต้านพาราควอต ว่า ไม่เห็นด้วยหากจะยกเลิกการใช้แบบทันที โดยที่ยังไม่มีมาตรการรองรับที่ชัดเจน เพราะหากยกเลิกการใช้สารพาราควอตแบบทันด่วน อาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี เนื่องจากต้องพิจารณาด้วยว่าเกษตรกรจะใช้อะไรทดแทนสารกำจัดวัชพืชดังกล่าว ส่วนตัวมองว่าอาจส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรในพื้นที่ขนาดใหญ่เพราะคงไม่มีใครไปใช้มือถอนวัชพืชเอง และยังไม่มีแนวทางที่ดีกว่าให้เลือก เพราะหากยังไม่มีแนวทางที่ดีให้กับเกษตรกร
“ถ้ายกเลิกพาราควอตทันที มีโอกาสสูงที่เกษตรกรจะไปใช้สารชนิดอื่นที่เป็นสารเคมีป้องกัน กำจัดวัชพืช เพื่อนำมาทดแทนพาราควอตที่มีฤทธิ์ในการฆ่าใกล้เคียงกัน ยกตัวอย่าง สารเลือกทำลายชนิดอื่นๆ เช่น ฟูเอซีฟอส ซึ่งเราก็ไม่มีข้อมูลว่ามันอันตรายมากน้อยกว่ากันอย่างไร ดีไม่ดีอาจมีในปริมาณที่สูงกว่าพาราควอต และอาจสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านอื่นเพิ่มเติมแทน”
รศ.ดร.จำรูญ กล่าวต่อว่า หากยกเลิกพาราควอตทันทีคือจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกร เพราะถ้าหากเกษตรกรไม่ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช จะทำให้ผลผลิตลดน้อยลง และถ้าใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชตัวอื่นแทน เกษตรกรอาจต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่มากขึ้นเพราะมีราคาสูงกว่ายาตัวเดิมมาก อีกทั้งสารเคมีชนิดอื่นก็อาจก่อปัญหาในแง่อื่นตามมาด้วย
ทั้งนี้ ส่วนตัวขอเสนอว่า สำหรับกระบวนการการยกเลิกนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะมีนโยบายสนับสนุน หรือเตรียมการรองรับในการสนับสนุนนักวิจัยที่วิจัยเกี่ยวกับทางเลือกในการไม่ใช้สารเคมี ให้นำเทคโนโลยีหรือนำความรู้ตรงนั้นมาใช้ เพื่อให้เกษตรได้ปรับตัว และเพื่อให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีอื่นๆ มาทดแทนได้ ซึ่งอาจใช้เวลาสักระยะ เพราะหากยกเลิกทันทีก็เหมือนไม่มีทางเลือกให้แก่เกษตรกรเลยจะเกิดปัญหาหลายด้าน ดังนั้นควรประเมินผลกระทบในด้านอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นให้มีความชัดเจนก่อน
...