ย้อนรอยวีรกรรมสุดแสบ 'ซินแสโชกุน' จากมหากาพย์ฉ้อโกงเหยื่อทัวร์ญี่ปุ่นกลางสุวรรณภูมิ สู่ศาลจำคุกความผิด 871 กระทงรวม 4,355 ปี...
เรื่องทั้งหมดเริ่มขึ้นจาก วันที่ 11 เม.ย.60 สมาชิกกว่า 2,000 คน ตั้งหน้าตั้งตารอเดินทางไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แต่ปรากฏว่าไม่สามารถเดินทางได้ กลายเป็นความโกลาหล ซึ่งผู้เสียหายทั้งหมดเป็นสมาชิกขายตรงอาหารเสริม ยี่ห้ออลิเชี่ยน ของบริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด ที่มี น.ส.พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือ 'ซินแสโชกุน' เป็นผู้บริหาร โดยโฆษณารับสมัครสมาชิกด้วยเงินลงทุนหัวละ 9,730 บาท จะได้โปรโมชั่นไปเที่ยวญี่ปุ่นฟรีช่วงระหว่างวันที่ 11-16 เม.ย.60 แต่ทั้งหมดนั้นกลับถูกลอยแพ!
ต่อมา วันที่ 12 เม.ย.60 ตำรวจ ภ.จว.ระนอง ชุดสืบสวน บก.ป. และเจ้าหน้าที่ทหารจับกุม น.ส.พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือ ซินแสโชกุน พร้อมพวกรวม 9 คน ได้ที่ จ.ระนอง จึงควบคุมตัวมาสอบสวนที่กองบังคับการปราบปราม และ มทบ.11 โดยแจ้งข้อหา 'ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน'
ขณะที่ คดีนี้มีผู้เสียหายทั้งหมด 871 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 51 ล้านบาท สำหรับ 'ซินแสโชกุน' มีประวัติถูกจับ 6 คดี 3 หมายจับ ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์ทั้งหมด โดยถูกแจ้งความดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2555-2559 มีการเปลี่ยนชื่อนามสกุล 10 ครั้ง และเปลี่ยนชื่อบริษัท 7 ครั้ง

...
แต่ทั้งนี้ ซินแสโชกุน ยืนยันว่า ไม่ได้ฉ้อโกงประชาชน เพียงเปิดบริษัทขายสินค้าออนไลน์ และได้ชวนผู้สนใจเข้าร่วม โดยแบ่งโปรโมชั่นเรื่องยอดขายให้ และได้จัดโปรโมชั่นหลายอย่าง แต่สิ่งที่ทำให้คนสนใจคือการท่องเที่ยว ซึ่งได้จัดทริปท่องเที่ยวมาหลายครั้ง โดยเริ่มทำตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค.59 กระทั่งเดือน ม.ค.60
"สำหรับกรณีเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้จองตั๋วเครื่องบินไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้ให้นายทุนที่อยู่ฮ่องกงเป็นคนประสานให้ โดยไม่ทราบว่า ไม่สามารถเช่าเหมาลำจากประเทศไทยไปที่โอซาก้าได้ มาทราบทีหลังว่าต้องทำเรื่องจองล่วงหน้า 3-5 เดือน ส่วนเงินจากผู้เสียหาย 500 กว่าราย ที่มาร้องเรียน ที่ บก.ป. ไม่ได้อยู่ที่ตน แต่ถูกปรับเปลี่ยนไปในรูปแบบสินค้า ซึ่งการคืนเงินให้ผู้เสียหายต้องตรวจสอบก่อนว่าผู้เสียหายสมัครกับแม่ทีมคนไหน ต้องนำหลักฐานมายืนยันจึงจะคืนเงินได้" ซินแสโชกุน กล่าว

จากนั้น ศาลแขวงพระนครเหนือ ได้ออกหมายจับ น.ส.ภวิศ ภูริภัทร์เมฆินทร์ และ นายก้องศรัณย์ แสงประภา ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกง จากการตรวจสอบพบว่า น.ส.ภวิศ, น.ส.พสิษฐ์ และ ซินแสโชกุน คือบุคคลเดียวกัน แต่เหตุการณ์อันนี้เกิดเมื่อ เม.ย.59 โดยที่ น.ส.ภวิศ ได้หลอกลวงผู้เสียหายให้นำลูกอายุ 9 ขวบ ไปถ่ายแบบที่ประเทศญี่ปุ่น มีค่าดำเนินการเป็นเงิน 2.2 แสนบาท แต่เมื่อโอนเงินไปแล้วอ้างว่าถ่ายแบบไม่ได้ติดขัดเรื่องทีมงาน ซึ่งรับปากจะโอนเงินคืนทั้งหมด แต่เมื่อถึงไทยกับติดต่อ น.ส.ภวิศ ไม่ได้ จึงเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สน.ห้วยขวาง
จนกระทั้ง วันที่ 14 เม.ย.60 ซินแสโชกุน ให้การรับสารภาพว่า เริ่มก่อตั้งบริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด เลขที่ 88/6 หมู่ 9 ต.หนองยาว อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ตั้งแต่เดือน ม.ค.60 โดยหลอกลวงให้คนมาลงทุนสมัครสมาชิกในราคา 1,380 บาท ต่อมาได้หลอกผู้เสียหายว่า หากจะเดินทางไปท่องเที่ยว ผู้เสียหายจะต้องลงทุนเพิ่มอัพเกรดโดยต้องจ่ายเงิน 8,380 บาท และได้อาหารเสริมบำรุงสมอง 2 กระปุก ของ Allysian Sciences Mastermind และหากมีการบอกต่อจะได้ส่วนแบ่งหัวละ 1,000 บาท
ขณะที่ ทรัพย์สินที่ได้จากการหลอกลวงนั้น ได้แปลงเป็นทรัพย์สินอื่นๆ ตั้งแต่เดือน ก.พ.-เม.ย.60 โดยซื้อคอนโดมิเนียม 1 ห้อง ราคา 2 ล้านกว่าบาท และเช่า 5 ห้อง ในราคาเดือนละ 8,000-9,000 บาท ซื้อรถยนต์ 4 คัน ประกอบด้วยรถเบนซ์เอสแอลเค 350 รถเรนจ์โรเวอร์ รถโตโยต้า คัมรี และรถเก๋งฮุนได เงินอีกส่วนหนึ่งได้พาสมาชิกไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นและฮ่องกง เพื่อโปรโมตบริษัท รวมทั้งใช้ชีวิตสวยหรู เพื่อสร้างภาพให้น่าเชื่อถือไปแล้ว

ต่อมา พนักงานสอบสวน บก.ป. ส่งสำนวนให้อัยการ โดยมีความเห็นสมควรฟ้องบริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด โดย น.ส.พสิษฐ์ หรือ ซินแสโชกุน ผู้มีอำนาจในบริษัท พร้อมพวกรวม 9 คน ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ซ่องโจร ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ กรณีร่วมกันหลอกลวงให้ผู้เสียหายนำเงินมาลงทุนซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เพื่อให้ได้สิทธิเดินทางไปต่างประเทศ
...
หลังจากนั้น วันที่ 6 ก.ค.60 นายจิโรจน์ เอี่ยมโอภาส อัยการพิเศษฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 มีความเห็นสั่งฟ้องบริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด น.ส.พสิษฐ์ หรือ ซินแสโชกุน กรรมการบริษัทกับพวกรวม 10 คน ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และซ่องโจร พร้อมให้คืนเงินผู้เสียหาย 871 คน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดวันที่ 12 ก.ย.61 ศาลอาญา มีคำพิพากษาให้จำคุก น.ส.พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือ ซินแสโชกุน กรรมการบริษัท เวลท์เอเวอร์ จำเลยที่ 2 รวม 871 กระทง กระทงละ 5 ปี เป็นเวลาทั้งสิ้น 4,355 ปี และ ปรับ 20,000 บาท ตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และร่วมกันจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ควบคุมฉลากโดยแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงตามกฎหมายแล้วให้จำคุกสูงสุด 20 ปี โดยให้ปรับบริษัท เวลท์เอเวอร์ จำเลยที่ 1 ด้วย เป็นเงิน 435,520,000 บาท.