กทม.กลับลำให้ขายต่อ-แจงขายบนถนนไม่ได้ตำรวจไม่ให้ปิดจราจร
ที่ศาลาว่าการ กทม. เมื่อวันที่ 10 ส.ค. นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมเรื่องการจัดระเบียบพื้นที่ถนนข้าวสาร ว่า ได้เชิญผู้แทนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) สำนักงานเทศกิจ มาหารือถึงแนวทางการจัดระเบียบถนนข้าวสาร ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาในหลายมิติว่าจะทำอย่างไรให้พื้นที่ถนนข้าวสารเป็นแลนด์มาร์กการท่องเที่ยวของประเทศไทยที่ถูกต้องตามกฎหมาย ข้อสรุปเบื้องต้นคือ ให้ผู้ค้าสามารถค้าขายบนทางเท้าได้อย่างถูกกฎหมายและเท่าเทียมกัน โดย กทม.จะร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องกำหนดจุดผ่อนผันตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 มาตรา 20 ซึ่งใช้เวลาในการร่างประกาศดังกล่าวประมาณ 1-2 เดือน
ทั้งนี้ ร่างประกาศดังกล่าว จะครอบคลุมรวมไปถึงการจัดระเบียบถนนบริเวณโดยรอบถนนข้าวสารด้วย อาทิ ถนนจักรพงษ์ ถนนรามบุตรี ถนนไกรสีห์ และถนนสิบสามห้าง หลังจากนี้มอบหมายให้สำนักงานเขตพระนคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแผนการจัดระเบียบทางเท้าในถนนข้าวสาร เช่น การลดขนาดแผงลงให้เป็นไปตามแบบแผนที่จะดำเนินการในอนาคต รวมถึงพิสูจน์สิทธิผู้ค้าในพื้นที่ ในส่วนนี้ให้ดำเนินการภายใน 10 วัน เบื้องต้นมีผู้ค้าที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานเขตจำนวน 230 กว่าราย อย่างไรก็ตาม ในการจัดระเบียบถนนข้าวสารนี้ กทม.จะทำประชาพิจารณ์ โดยเชิญผู้ค้า และเจ้าของตึกแถวมาร่วมแสดงความคิดเห็นก่อนการจัดระเบียบด้วย
รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวต่อว่า สำหรับการกำหนดพื้นที่ตั้งแผงค้าหลังมีการประกาศกรุงเทพฯแล้ว กทม.จะกำหนดสิทธิ 1 คนต่อ 1 แผง ขนาด 1.50×1.50 เมตร ให้เริ่มตั้งแผงค้าได้ตั้งแต่ 16.00-24.00 น. โดยห้ามตั้งวางบนผิวจราจร ทั้งนี้ ระหว่างที่ กทม.ยังไม่ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องกำหนดจุดผ่อนผัน จะอนุโลมให้ค้าขายบนทางเท้าได้ ตั้งแต่เวลา 18.00-24.00 น. นอกจากนี้ กทม.มีแนวคิดสร้างซุ้มประตูทางเข้าถนนข้าวสารทั้ง 2 ฝั่ง พัฒนาลานบริเวณด้านหน้าอาคารของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้พื้นที่จัดกิจกรรม หรือเป็นจุดเช็กอินของนักท่องเที่ยว
...
ผู้สื่อข่าวถามว่า แผนการจัดระเบียบเดิมที่จะให้ผู้ค้าลงไปขายบนผิวการจราจร ที่ประชุมมีความเห็นเป็นอย่างไร นายสกลธีกล่าวว่า บช.น.แจ้งว่า เงื่อนไขการออกข้อบังคับจราจรขอปิดการจราจรชั่วคราวนั้น เพื่อความปลอดภัยและความสะดวก แต่การดำเนินการดังกล่าวพิจารณาแล้วยังไม่เข้าเงื่อนไข เพราะมีการกำหนดทุกวัน ไม่ใช่แค่ชั่วคราว “ทั้งนี้ กทม.มีความกังวล กรณีที่ออกประกาศกำหนดจุดผ่อนผันที่ถนนข้าวสาร แล้วมีจุดอื่นๆที่ถูกยกเลิกจุดผ่อนผันไปแล้วขอกลับมาขายจุดเดิม ซึ่งต้องชี้แจงว่าจุดที่ยกเลิกไปมีอัตลักษณ์การท่องเที่ยวไม่เหมือนถนนข้าวสาร ดังนั้น จะมาอ้างว่าเหมือนกันเพื่อให้ กทม.อนุโลมคงทำไม่ได้ เช่น ที่นานา ประตูน้ำ หรือตามแนวถนนสุขุมวิท เห็นควรให้ยกเลิกจุดผ่อนผันเนื่องจากกระทบต่อการจราจรภาพรวม”.