ไม่รู้อะไรบังตา เมื่อคนที่มีการศึกษาสูงๆ ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านโลกมามากมาย กลับต้องกลายมาเป็นเหยื่ออาชญากรซึ่งบางรายมีความรู้เท่าหางอึ่ง เขาพูดอะไรก็เชื่อ เขาบอกอะไรก็ฟัง แถมยังทำตามขั้นตอนที่เขาขีดเส้นให้ปฏิบัติแบบไม่มีบิดพลิ้ว ถ้าเป็นเพื่อนสนิทชิดเชื้อกันมาก่อนยังพอจะเข้าใจได้ว่าทำไมถึงเชื่อ ทำไมถึงโอนอ่อนตาม แต่ถ้าไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลยทั้งชีวิต อาชญากรเหล่านี้จะแฝงตัวเข้ามาในรูปแบบไหน? 

ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ พูดคุยกับทีมงานเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม ล้วงลึกพฤติกรรมเสแสร้งแกล้งแสดงตบตาจนหลงเชื่อ "บุคคลประเภทไหน มีพฤติกรรมอย่างไร ที่คุณต้องระมัดระวัง" และหนีให้ห่างไกล ห้ามหลงกลไปเชื่อสนิทใจเป็นเด็ดขาด  

"เพื่อนสนิทคิดไม่ซื่อ" อาศัยความไว้ใจ ลวงเพื่อนไปทำมิดีมิร้าย

มดอะไรกัดเจ็บที่สุด? มดทรยิด มิตรทรยศ  ...ก็เพราะเพื่อนสนิทเราบางรายนี่แหละค่ะตัวดี ชี้นำไปทำอะไรผิดๆ เสียหาย และอาจอันตรายถึงตายได้ก็มี "เรารักเพื่อน แต่เพื่อนอาจไม่รักเรา" ความไว้วางใจที่มอบให้ไปกลับกลายเป็นดาบ 2 คมกลับมาทิ่มแทงตัวเอง 

...

เมื่อเพื่อสนิทมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม จะด้วยเพราะเหตุผลด้านการเงิน ยาเสพติด หรือสถานการณ์ต่างๆ บีบบังคับให้ต้องทำด้วยความจำยอมก็ตามที ให้สังเกตพฤติกรรมเพื่อนตัวดีของคุณไว้ เพราะลักษณะที่จะกล่าวต่อไปนี้ เริ่มไม่ปกติแล้วล่ะ

1.ผลักดันส่งเสริม เกินหน้าเกินตา, 2.พูดจาซ้ำๆ เดิมๆ พูดยุยงให้ทำในสิ่งที่เราลังเลใจ, 3.ทำอะไรไปโดยพลการ ไม่ถามความสมัครใจ, 4.นัดแนะเราให้รู้จักกับคนแปลกหน้า คะยั้นคะยอ การันตีว่าดี สร้างความเชื่อใจ, 5.ยืมเงินบ่อย ยืมแล้วไม่คืน แถมยืมคนอื่นไปทั่ว, 6.เอาข้อมูลลับของเราไปบอกต่อคนอื่นๆ, 7.ใส่ร้ายป้ายสี บิดเบือนข้อมูลเท็จโจมตีเรา จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต

เมื่อรู้ชัดเจนแจ่มแจ้งแล้วว่า เพื่อนเรามีพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัย หนีออกมาให้ห่างไกล อย่าไปหลงกล หลงเชื่อ หรือให้ความร่วมมือในกรณีใดๆ ทั้งสิ้น เพราะพฤติกรรมที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนส่งผลสู่เรื่องเลวร้ายท่ีอาจจะเกิดขึ้นกับคุณในอนาคต 

มิจฉาชีพในรูปแบบอาชญากร ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แฝงตัวตีสนิท แนบเนียน 

ปัจจุบันมีเยอะมาก จำแนกได้เป็นรูปแบบต่างๆ ทั้งในคราบของการลวงให้ลงทุน ชวนหุ้นบริษัท จัดฉากแนบเนียน และมีนกต่อทำกันเป็นทีม รวมไปถึงจำพวก แก๊งควาย แก๊งตกทอง คนพวกนี้จะรวมกลุ่มกันสร้างพฤติกรรมกะทันหันเหนือความคาดหมาย แต่ก็ทำให้คนฉลาดอย่างเราๆ ตกเป็นเหยื่อได้ในพริบตาเดียว ....ต้องระวังแค่ไหน? ถึงจะรอดพ้นน้ำมือคนพวกนี้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามเขาแนะวิธีสังเกตเอาไว้แล้วนะคะ 

มิจฉาชีพแปลกหน้า โผล่เข้ามาในชีวิต ชักจูงสารพัดวิธีให้เราเชื่อใจ 

ไม่สงสัยกันบ้างเหรอ เวลามีบุคคล 1 ราย แนะนำจูงใจชวนให้เราเข้าไปทำธุรกิจแปลกๆ แล้วส่งต่อเราไปคุยกับคนนู้นคนนี้ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่น โน้มน้าวสร้างความเชื่อใจ โชว์ศักยภาพพลังความเป็นทีม สร้างเรื่องให้เชื่อ เช่น ใช้เงินลงทุน 1 ล้านบาท แต่ผลประโยชน์ตอบแทนกลับมา 4 ล้านบาท แถมยังสร้างวิมารในอากาศ มีบ้านหรู รถแพง รวยแบบนั้นอย่างนี้ ได้บินฟรีไปเที่ยวต่างประเทศ เพราะมีธุรกิจที่ดีหนุนหลัง บทสรุปลงท้ายด้วยการปิดบริษัทหนีหาย เชิดเงินที่สมาชิกนำมาร่วมลงทุน นี่ยังไม่รวมถึงการชวนเล่นแชร์ แล้วฉกเงินหายเข้ากลีบเมฆ 

หรือจะมาในรูปแบบ "บ้านๆ" ดำเนินเหตุการณ์บนท้องถนน หรือสถานที่สาธารณะต่างๆ สร้างเรื่อง "บังเอิญเจอสร้อยคอทองคำ" ต่อหน้าต่อตาเรา ก่อนจะพูดเชิญชวนแบ่งผลประโยชน์ ยื่นข้อเสนอให้เราเป็นคนเอาทองไป แล้วนำเงินสดให้เขาเพียงเศษเสี้ยวของราคาทอง ...ดูแล้วเหมือนจะเป็นผู้เสียสละไม่มักมาก แต่ความเป็นจริงคือทองที่ว่านี้คือของปลอมต่างหาก ...นี่ยังไม่รวมพวกแก๊งตกหวย ลอตเตอรี่ ที่จะมาในรูปแบบ Team Work  

อย่าหวั่นไหว หลงเชื่อ การกระทำของบุคคลซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่มีพฤติกรรมดังนี้  

1.มากันเป็นกลุ่ม แบ่งงานกันทำเป็นทีม 

2.เสนอผลประโยชน์ที่สูงปรี๊ด อันไม่มีทางเป็นไปได้ แต่เขาทำให้คุณเชื่อได้ (ง่ายๆ)

3.บุคคลในกลุ่ม ในทีม มีหลายบุคลิก ทั้งหนุ่ม สาว หญิงสูงวัย มีบทบาทการแสดงต่างกัน

4.ทุกคนที่เราเจอพูดจาหว่านล้อมเก่ง

5.หาเรื่องเข้ามาปฏิสัมพันธ์ก่อน จากนั้นจะเสนอให้ทำบางอย่างเพื่อแลกผลประโยชน์

6.บางกลุ่ม บางบุคคล โฆษณาเกินจริง ประโคมข่าวด้วยคำพูดจากคนหมู่มาก

...

7.เอกสารปลอมลักษณะแนบเนียน มาโชว์ แสดงความเชื่อมั่น

8.ควรตรวจสอบชื่อบุคคลในเอกสาร เช่น เอกสารธนาคาร เอกสารราชการต่างๆ นานา 

9.อ้างรู้จัก สนิท เจ้าหน้าที่รัฐ กิจการมีผู้ใหญ่หนุนหลัง 

10.ในบางราย อ้างคนมีชื่อเสียงในแวดวงสังคม ร่วมกลุ่มทำธุรกิจนั้นๆ สร้างความเชื่อมั่นอีกทาง.