บิ๊กอู๋ สั่งเดินหน้า 113 ชุดปฏิบัติการตรวจเข้มแรงงานต่างด้าว พบจับกุมและดำเนินคดีนายจ้าง/สถานประกอบการและแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายแล้ว กว่า 1,000 ราย...
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่ง 113 ชุดปฏิบัติการออกตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมและดำเนินคดีนายจ้าง/สถานประกอบการและแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ระยะ 2 ระหว่าง 1-15 สิงหาคม 2561 เตือนพบกระทำผิดทั้งนายจ้างและแรงงานต่างด้าวถูกจับปรับเป็นแสน แนะให้รีบส่งกลับ ขณะที่กรมการจัดหางานเผยออกตรวจสอบนายจ้างแล้ว 2,140 แห่ง /ราย แรงงานต่างด้าว 43,201 คน ดำเนินคดีนายจ้างแล้ว 180 ราย แรงงานต่างด้าว 1,007 ราย
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตนได้สั่งการให้ 113 ชุดปฏิบัติการ ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน ตำรวจ และฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ที่ออกตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมและดำเนินคดีนายจ้าง/สถานประกอบการและแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคม 2561 ซึ่งที่ผ่านมาได้ออกตรวจสอบนายจ้างไปแล้วจำนวน 2,140 แห่ง/ราย แรงงานต่างด้าวจำนวน 43,201 คน โดยได้จับกุมดำเนินคดีนายจ้างไปแล้ว 180 แห่ง/ราย ข้อหารับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จำนวน 138 แห่ง/ราย แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และดำเนินคดีในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 จำนวน 7 แห่ง/ราย ความผิดตาม พรก.การบริหารฯและ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ฯ จำนวน 35 แห่ง/ราย จับกุมดำเนินคดีแรงงานต่างด้าว 1,007 คน
ทั้งนี้ จำแนกเป็นชาวเมียนมา 558 คน กัมพูชา 274 คน ลาว 95 คน เวียดนาม 54 คน และอื่นๆ อีก 26 คน แบ่งเป็นดำเนินคดีในข้อหาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานจำนวน 566 คน แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และดำเนินคดีในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 จำนวน 257 คน พรก.การบริหารฯและ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ฯ จำนวน 184 คน ดังนั้น จึงขอย้ำเตือนนายจ้างให้รีบส่งแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกลับประเทศต้นทางโดยเร็วเพราะมีความผิดตามกฎหมาย หากประสงค์จะจ้างแรงงาน 3 สัญชาติต่อ ขอให้นำเข้ามาทำงานตามระบบ MOU
...
ด้าน นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า นายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวทำงานโดย ไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับ 10,000 - 100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ขณะเดียวกันแรงงานต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้จะมีโทษปรับ 5,000 – 50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับแล้ว คนต่างด้าวจะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และห้ามขออนุญาตทำงานภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับโทษ แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ขณะเดียวกันทั้งนายจ้างและแรงงานต่างด้าว ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 โดยนายจ้างมีความผิดข้อหาให้ที่พักพิง ซ่อนเร้นคนต่างด้าวผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 50,000 บาท และให้คนต่างด้าวเข้าพักอาศัยไม่แจ้ง มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ขณะที่แรงงานต่างด้าวมีความผิดข้อหา 1) อยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท 2) ประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท 3) ไม่แจ้งการอยู่ในราชอาณาจักรเกิน 90 วัน มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
ทั้งนี้ หากผู้ใดพบเห็นคนต่างด้าวทำงานผิดกฎหมายหรือพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าว สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้ที่ กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือโทร. 0 2354 1729 สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทร. สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบต่อไป.