ทปอ.ประกาศผลแอดมิชชั่นปี 2561 มี 9 ดาวเด่นทำคะแนนสูงสุด เด็กเก่งจากเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ คว้าที่ 1 นิเทศฯจุฬาฯ วอนปรับระยะเวลาทีแคสแต่ละรอบที่ยาวเกินไป ทำให้รู้สึกกดดัน เสียสุขภาพจิต...
เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2561 ที่สำนักงานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ชั้น 3 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. ได้แถลงข่าวการประกาศผลการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2561 ในระบบทีแคส รอบที่ 4 รอบแอดมิชชั่นกลาง โดยมีที่นั่งว่างในมหาวิทยาลัย สามารถรองรับได้ 119,484 ที่นั่ง มีผู้สมัครจำนวน 52,535 คน ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก 44,371 คน คิดเป็น 37.16% ซึ่งมีนักเรียนที่ได้คะแนนโดดเด่น จำนวน 9 ราย
สามารถตรวจสอบผล แอดมิชชั่น รอบ 4 ได้ที่นี่
ผู้ที่ได้คะแนนอันดับ 1 ได้แก่ นางสาวชญานิษฐ์ ศรีวิโรจน์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ กรุงเทพฯ สอบได้คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยคะแนน 91.29
ส่วนอันดับที่ 2 นายวิศรุต กองสุข โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว จ.สมุทรปราการ สอบได้คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยคะแนน 87.19
อันดับที่ 3 นางสาวชุติกาญจน์ กวีวรญาณ โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล จ.สกลนคร สอบได้ คณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยคะแนน 85.85
อันดับที่ 4 นางสาวฐิตาภรณ์ ชูโต โรงเรียนสตรีวิทยา 2 กรุงเทพฯ สอบได้ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยคะแนน 85.63
อันดับที่ 5 นายชญาพงศ์ สุวรรณชาติ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จ.ลพบุรี สอบได้ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยคะแนน 84.64
...
อันดับที่ 6 นางสาวนิธินันท์ ลีธนะกุล โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม สอบได้ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยคะแนน 84.22
อันดับที่ 7 นายโสภณ โพธิรัชต์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ สอบได้ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยคะแนน 83.91
อันดับที่ 8 นางสาวปณิดา เพชรไพรินทร์ โรงเรียนชุมแพศึกษา จ.ขอนแก่น สอบได้ คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยคะแนน 82.80
อันดับที่ 9 นายชัชพล พงษ์เย็น โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.ปทุมธานี สอบได้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยคะแนน 82.48
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธาน ทปอ.กล่าวต่อว่า ขอแสดงความยินดีกับเด็กๆ ทุกคนที่ได้คะแนนสูงสุดของแต่ละคณะ สำหรับปีนี้จะเห็นว่าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ได้คะแนนสูงสุดในรอบการคัดเลือกแอดมิชชั่นกลาง ซึ่งพบว่าคณะนิเทศศาสตร์ได้รับความนิยมได้คะแนนสูงเป็นอันดับหนึ่งติดต่อกันมา 3 ปีแล้ว ซึ่งหลายฝ่ายอาจเห็นว่าอาชีพของสื่อสารมวลชนกำลังประสบปัญหา แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าอาชีพนี้จะไม่มีวันสูญหายไป เพียงแต่สื่อจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบไป จากสื่อสิ่งพิมพ์เป็นสื่อดิจิทัล และเทคโนโลยีในการรายงานข่าว เทคนิคการเขียน ทักษะของนักสื่อสารมวลชน ต้องมีทักษะด้านสื่อดิจิทัลเพิ่มเข้ามา เข้าใจเทคโนโลยีทุกด้านมากขึ้น เป็นอาชีพที่มีความท้าทายมากขึ้น
สำหรับคณะวิศวกรรมศาสตร์นั้น ปีนี้ได้คะแนนเป็นอันดับที่ 9 ของรอบแอดมิชชั่น เนื่องจากคณะวิศวกรรมศาสตร์มีการกำหนดคุณสมบัติความสามารถพิเศษเฉพาะด้านมากขึ้น เช่น รับผู้มีความสามารถด้านบังคับหุ่นยนต์ เขียนโปรแกรม และพบว่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค มีการรับนักศึกษาไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ทีแคส รอบที่ 1 รอบแฟ้มสะสมงาน, รอบที่ 2 รอบโควตา และ รอบที่ 3 รอบรับตรงร่วมกัน
สำหรับความในใจของเด็กเก่งที่ได้คะแนนสูงสุดในแต่ละคณะนั้น น.ส.ชญานิษฐ์ ศรีวิโรจน์ หรือ น้องนีน่า นักเรียน ร.ร.เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ สอบได้คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยคะแนนสูงถึง 91.29 กล่าวว่า พอทราบว่าสอบติดและได้คะแนนสูงสุด รู้สึกดีใจมาก คุณพ่อ คุณแม่ เป็นหมอทั้งคู่ แต่ไม่ได้บังคับให้ต้องเรียนแพทย์ โดยให้เลือกเรียนที่แฮปปี้จะได้ทำให้ดีที่สุด การรับสมัครทีแคสปีนี้ยอมรับว่า ค่อนข้างวุ่นวาย มีหลายรอบและตารางเวลาค่อนข้างสับสน ตนเองเลือกสอบรอบแอดมิดชั่นรอบเดียว เพราะคิดว่าคะแนนสอบวิชาความถนัดทั่วไป หรือ GAT และวิชาความถนัดทางวิชาการ/และวิชาชีพ หรือ PAT ของตนไม่สูงมาก จึงมาลุ้นรอบเดียว อย่างไรก็ตามระบบทีแคสก็มีทั้งข้อดี ข้อเสีย อยากให้ ทปอ.ปรับเวลาที่ต้องรอนานทำให้เสียสุขภาพจิต ที่เลือกเรียนนิเทศฯ เพราะมีความใฝ่ฝันอยากเป็นผู้ประกาศข่าว ส่วนที่มองว่าสาขานิเทศฯ เป็นช่วงขาลงนั้น เชื่อว่าความเป็นเด็กรุ่นใหม่และมีความพยายามก็จะประสบความสำเร็จได้แน่นอน
...
นายวิศรุต กองสุข หรือ น้องฟิล์ม นักเรียน ร.ร.ราชวินิตบางแก้ว สอบติดคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ด้วยคะแนน 87.19 กล่าวว่า ตนตั้งใจเข้าศึกษาต่อคณะแพทยศาสตร์ แต่หลังศึกษาเกณฑ์จึงเปลี่ยนใจมาเลือกคณะจิตวิทยา และเตรียมตัวอ่านหนังสืออย่างจริงจังเพียงช่วงระยะเวลา 3 เดือนก่อนสอบ การเลือกเรียนในคณะจิตวิทยา เพราะได้ศึกษาพฤติกรรมของคน การได้คะแนนสูงสุดอันดับ 2 ถือว่าเกินความคาดหมาย สำหรับระบบทีแคส ปี 2561 นี้ ต้องยอมรับว่าทำให้เด็กเครียดพอสมควร เพราะจากที่ได้มีการหารือกับรุ่นพี่เรียนอยู่ในคณะดังกล่าว ก็ประมาณแล้วว่าคะแนนน่าจะอยู่ในระดับที่สามารถสอบติดในรอบที่ 3 รับตรงร่วมกันได้ แต่ปรากฏว่าสอบไม่ติดทั้ง รอบ 3/1 และ 3/2 จึงมาเลือกคณะดังกล่าวอีกครั้งในรอบที่ 4 แอดมิชชั่น ทั้งนี้อยากฝาก ทปอ.ให้ปรับระยะเวลาในแต่ละรอบเพราะยาวนานมากจนเด็กรู้สึกกดดัน
น.ส.ชุติกาญจน์ กวีวรญาณ หรือ น้องอามุ่ย นักเรียน ร.ร.สตรีวิทยา 2 สอบติดคณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาการปกครอง จุฬาฯ คะแนน 85.85 กล่าวว่า ตนเรียนวิทย์-คณิตแต่มารู้ว่าความจริงตัวเองชอบวิชาสังคมและสนใจข่าวสารบ้านเมือง จึงตัดสินใจเลือกเรียนคณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาการปกครอง เพราะเป็นศาสตร์ที่น่าสนใจ เคล็ดลับในการเรียนนั้นก็สนใจเรียนในห้องและไปเรียนกวดวิชาเหมือนเด็กทั่วไป ส่วนระบบทีแคสนั้นมองว่าเป็นความพยายามของ ทปอ.ที่จะแก้ไขปัญหาของระบบที่ผ่านมา ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยสิ่งที่อยากจะขอให้ ทปอ.แก้ไขคือเรื่องระยะเวลาที่ยาวนาน ทำให้เด็กและผู้ปกครองรู้สึกกดดัน
...
ด้าน น.ส.ฐิตาภรณ์ ชูโต หรือ น้องโบนัส นักเรียน ร.ร.สตรีวิทยา 2 สอบได้คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คะแนน 85.63 กล่าวว่า ตนชอบเกี่ยวกับภาพยนตร์ แม้จะมีความกังวลบ้างเกี่ยวกับอนาคตของอาชีพด้านสื่อสารมวลชน และตั้งใจจะเรียนให้ดีที่สุด ที่ผ่านมาตนสมัครทีแคสรอบ 3 เช่นกัน แต่ไม่ได้คณะที่ชอบ จึงสมัครในรอบที่ 4 รอบแอดมิชชั่นกลาง ซึ่งระหว่างรอก็รู้สึกเครียด เพราะเพื่อนๆ ในโรงเรียนมีที่เรียนกันหมดแล้ว ส่วนตัวเห็นว่าอยากให้ผู้เกี่ยวข้องปรับปรุงระบบ โดยลดช่วงการคัดเลือกในสั้นลงกว่านี้ เพราะกว่าจะคัดเลือกเสร็จใช้เวลาหลายเดือน และใกล้เปิดภาคเรียนแล้วก็ยิ่งทำให้เด็กเครียด และรอบที่ 3 รอบรับตรงร่วมกันก็อยากมีการเลือกแบบเรียงลำดับ และประกาศเพียง 1 คณะ
นายชญาพงศ์ สุวรรณชาติ นักเรียน ร.ร.สาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ลพบุรี สอบได้คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คะแนน 84.64 กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากตั้งใจเลือกเรียนศิลปศาสตร์ เพราะชอบเรียนภาษา ไม่ชอบเรียนสายวิทยาศาสตร์ ส่วนอนาคตยังไม่ได้คิดว่าจะทำอาชีพอะไร ตอนนี้คิดเพียงแต่อยากเรียนภาษา ชอบภาษาอังกฤษ ส่วนปัญหาทีแคสที่เกิดขึ้นในปีนี้นั้น ส่วนตัวไม่ได้สนใจอะไรมาก เลยไม่ทราบรายละเอียด
...
ด้าน น.ส.นิธินันท์ ลีธนะกุล หรือ น้องอัพ นักเรียน ร.ร.มหิดลวิทยานุสรณ์ นครปฐม สอบได้คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ คะแนน 84.22 กล่าว่า ตอนทีแคสรอบ 3 ตนเลือกสมัครเข้าแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) แต่ไม่ติด จึงเลือกแอดมิสชั่นเข้านิติศาสตร์ จุฬาฯ เพราะคุณพ่อก็จบคณะเดียวกัน มองว่าการเรียนกฎหมายเป็นสิ่งที่ดี สามารถนำไปใช้ในการช่วยเหลือคนได้ ทั้งนี้ส่วนตัวเรียนไม่ค่อยเก่ง เกรดเฉลี่ยเพียง 3.5 แต่ตั้งใจเรียนในห้องเรียนให้ดีทีสุด และเป็นเด็กซิ่ว เพราะจบ ม.6 มา 3 ปีแล้ว แต่ไปเรียนต่อที่ประเทศจีน ไปเรียนภาษาจีนโดยเฉพาะ และกลับมาสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ ยอมรับว่าระบบทีแคสปีนี้ค่อนข้างยุ่งยากและใช้เวลานานเกินไป ส่วนตัวอยากให้ทดลองระบบก่อนนำมาใช้จริง ไม่ใช่เกิดปัญหาแล้วมาตามแก้ เพราะอนาคตเด็กไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
นายโสภณ โพธิรัชต์ หรือ น้องเปรม นักเรียน ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา สอบติดคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยคะแนน 83.91 กล่าวว่า ตนพยายามตั้งใจเรียนในห้องเรียนให้ดีที่สุด และคิดว่าไม่มีอะไรยากเกินความสามารถของตัวเอง เพียงแต่ขอให้เราทำทุกอย่างแบบเต็มที่ การประสบความสำเร็จในครั้งนี้มาจากการเตรียมความพร้อมที่ดีในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนอ่านหนังสือ การวางแผนเตรียมทำข้อสอบ การทำโจทย์ต่างๆ และที่สำคัญคือการวางแผนการสอบ
น.ส.ปณิดา เพชรไพรินทร์ หรือ น้องหมิว นักเรียน ร.ร.ชุมแพศึกษา ขอนแก่น สอบติดคณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เลือกเรียนคณะเภสัชศาสตร์ ซึ่งเมื่อได้เรียนก็รู้สึกว่ามีความสนใจทางภาษามากจึงเลือกตัดสินใจแอดมิชชั่นใหม่อีกครั้ง ยอมรับความเครียดและต้องเตรียมตัวอย่างดีเนื่องจากมีโอกาสสอบเพียง 1 ครั้ง โดยเตรียมฝึกทำโจทย์ภาษาอังกฤษและดูคะแนนว่ายังอ่อนในเรื่องใด จากนั้นก็จะซื้อหนังสือมาศึกษาอย่างจริงจัง โดยส่วนตัวแล้วรู้สึกว่าระบบทีแคสมีปัญหาทั้งระยะเวลาที่ล่าช้า และเป็นระบบใหม่ที่พยายามจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่กลับเป็นการสร้างปัญหาที่ใหญ่กว่าเดิม
นายชัชพล พงษ์เย็น หรือ น้องโอ๊ต ร.ร.จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี สอบติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนเริ่มอ่านหนังสือเรียนและเน้นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐาน รวมถึงตั้งใจเรียนในห้องเรียน จากนั้นก็เริ่มทำโจทย์และแนวข้อสอบ มีการเรียนพิเศษวิชาวิทยาศาสตร์บ้าง เหตุที่เลือกเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพราะชอบและถนัดการคำนวณ โดยคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) คณิตศาสตร์ 100 คะแนน และสอบวิชาสามัญ 9 วิชา วิชาคณิตศาสตร์ 1 ได้คะแนน 96 คะแนน ยอมรับว่าระบบทีแคสทำให้เครียด เพราะตนสอบไม่ติดรอบ 3 รับตรงร่วมกัน แต่มาติดรอบ 4 แอดมิชชั่น รู้สึกดีใจมาก.