เจพี ประกันภัย ทำข้อตกลง MOU ด้านวิชาการ ร่วมพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิจัยพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อเป็นศูนย์กลางทุกภาคส่วน รองรับการเติบโตของธุรกิจยุค "ไทยแลนด์ 4.0" ตามนโยบายของรัฐบาล

เมื่อวันที่ 3 ก.ค.61 ดร.ฉัตรชัย ธนาฤดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เจพี ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ทางด้านวิชาการ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ซึ่งถือเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศไทยที่มีผลงานที่ได้รับการยอมรับ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมและเทคโนโลยี ที่มีศักยภาพในการผลิตบัณฑิต การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้บริการทางด้านวิชาการที่เป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วนรวมถึงธุรกิจประกันภัย และรองรับทิศทางการเติบโตของธุรกิจในยุค "ไทยแลนด์ 4.0" ตามนโยบายของรัฐบาล

"ภายใต้จุดเริ่มต้นความร่วมมือทางวิชาการใน 3 ปี ต่อจากนี้ ระหว่าง เจพี ประกันภัยและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จะมีการร่วมมือกันปฏิบัติการทางเทคโนโลยีร่วมกันเพื่อให้เกิด Insurance Technology ที่สมบูรณ์แบบ ทั้งปัญญาประดิษฐ์ (AI), การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงทำนาย (Predictive Analytics), อินเทอร์เน็ตอัจฉริยะ (Internet of Intelligence) และ ระบบโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ (Blockchain) รวมถึง เทคโนโลยีที่มีชื่อว่า RPA (Robotic Process Automation) ซึ่งเป็นการใช้ระบบหุ่นยนต์ในการช่วยประเมินค่าซ่อมที่เป็นธรรมและโปร่งใสเพื่อพัฒนาการบริการหลังการขาย โดยที่ทาง เจพี ประกันภัยได้ให้ความสำคัญกับโครงการนี้อย่างจริงจังด้วยการจัดเตรียมงบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการ และสร้างนวัตกรรมประกันภัยกับทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในการนำไปใช้พัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยตามกลยุทธ์ผู้นำด้านเทคโนโลยีประกันภัยหรือ "อินชัวร์เทค" (InsurTech) ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคและสังคมไทย

...

ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้มอบอำนาจให้ รศ.ดร.พยุง มีสัจ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โดย รศ.ดร.พยุง มีสัจ กล่าวว่า การผสานความร่วมมืออย่างจริงจังระหว่าง มจพ. และ เจพี ประกันภัย ในครั้งนี้ จะทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของบุคคลากรทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบัณฑิตทางการศึกษาเพื่อสร้างเด็กไทยสายพันธุ์ดิจิทัลในยุค 4.0 โดยจะมีการสนับสนุนการทำสหกิจกับนักศึกษาระดับปริญญาตรี สนับสนุนการวิจัยของนักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก เพื่อร่วมกันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านต่างๆ เสริมสร้างความเข้มแข็งของทั้งสองฝ่ายและเพื่อการพัฒนาบัณฑิตทุกระดับปริญญาของมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่เพื่อให้เกิดนวัตกรรมทางด้าน "อินชัวร์เทค" (InsurTech) รองรับยุคสมัยของ ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างแน่นอน.