"อดุลย์" เผยผลปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จแรงงานต่งด้าว มีมาจัดทำทะเบียนประวัติขออนุญาตทำงานกว่า 3.5 แสนราย และขณะนี้มีทำงานอย่างถูกต้องแล้ว 3.2 ล้านคนยีนเข้าระบบเกือบ 100% ด้าน อธิบดีกรมจัดหางาน ตั้งแต่ 1 ก.ค. ก.แรงงานกำหนดแผนตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม แรงงานที่เข้ามาทำงานอย่างผิด กม.

เมื่อวันที่ 1 ก.ค.61 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน แถลงผลปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ระยะที่ 2 พบเป็นที่น่าพอใจ มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา มาจัดทำทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงาน ณ ศูนย์ OSS จำนวนทั้งสิ้น 347,067 คน คิดเป็น 99.73 % เป็นกัมพูชา 156,569 คน ลาว 18,210 คน เมียนมา 172,288 คน ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมา มีแรงงานฯ ที่ต้องเข้าศูนย์ OSS ตามมติ ครม. 16 มกราคม 2561 จำนวน 1,320,035 คน โดยดำเนินการไปแล้วภายใน 31 มีนาคม 2561 จำนวน 840,736 คน และต่อมามติ ครม. ได้มีการขยายเวลาให้แล้วเสร็จภายใน 30 มิถุนายน 2561 โดยดำเนินการศูนย์ OSS ในระยะที่ 2 เป้าหมายจำนวนทั้งสิ้น 348,022 คน

สรุปมียอดแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบถูกต้องตามกฎหมายจำนวนทั้งสิ้น 1,187,803 คน คิดเป็น 90 % เป็นกัมพูชา 350,840 คน ลาว 59,746 คน เมียนมา 777,217 คน ซึ่งจากผลสำเร็จนี้ แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่เดิมทำงานอยู่โดยไม่ได้รับอนุญาตและได้รับการผ่อนผันมาตั้งแต่ปี 2558 ได้เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องแล้ว ในส่วนที่ไม่ได้เข้าระบบก็จะเปลี่ยนสถานภาพการทำงานในรูปแบบอื่น เช่น MOU Borderpass จ้างงานตามฤดูกาล เป็นต้น

...

"ขณะนี้มีแรงงานต่างชาติอยู่และทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายจำนวน 3.2 ล้านคน หากผู้ใดพบคนต่างด้าวทำงานผิดกฎหมายหรือพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าว สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้ที่ กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือโทร. 0 2354 1729 หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน" รมว.แรงงานกล่าว

ด้านนายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงการบังคับใช้กฎหมายว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานจะบูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดแผนการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมและ ดำเนินคดีแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายโดยเคร่งครัดต่อเนื่อง หากพบกระทำผิด ทั้งนายจ้างและแรงงานต่างด้าวจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป กล่าวคือ หากคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับ 5,000 – 50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับแล้ว คนต่างด้าวจะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และห้ามขออนุญาตทำงานภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับโทษ ส่วนนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม.

...