ก.แรงงาน ปลดล็อก 39 อาชีพสงวนคนไทย ให้ต่างด้าวทำได้ 12 อาชีพ อีก 28 อาชีพ รวมนวดไทย ห้ามทำเด็ดขาด โดยเฉพาะงานที่แสดงถึงอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย ส่วนงานบัญชี วิศวกรรมโยธา สถาปัตย์ มีข้อตกลงอาเซียนให้เปิดไฟเขียว "อดุลย์" ออกประกาศบังคับใช้ พร้อมเร่งแจงนายจ้างใน 1 เดือน ฝ่าฝืนผิดจับปรับหนัก ด้านผู้ประกอบการมึน "ขายของหน้าร้าน-เสริมสวย" ให้แจงชัดเจน เป็นงานห้าม ให้ทำได้แค่ไหน หวั่นเป็นช่องทางเรียกรับผลประโยชน์ ที่กระทรวงแรงงาน

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.61 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พิจารณาการกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 โดยกรมการจัดหางานเสนอให้ที่ประชุมเห็นชอบงานที่ปลดล็อกให้คนต่างด้าวทำได้ 1 งาน งานที่ทำได้ แต่มีเงื่อนไข 11 งาน และงานที่ห้ามทำโดยเด็ดขาด 28 งาน ซึ่งเป็นข้อสรุปจากการเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากนายจ้าง สถานประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแล้วหลายครั้งก่อนเสนอเข้าที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบอาชีพสงวนใหม่สำหรับคนไทย ก่อนออกประกาศกฎกระทรวงบังคับใช้ หลังจาก 39 อาชีพสงวนเดิมบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2522

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยใน 39 อาชีพเดิม ให้ปลดล็อกให้คนต่างด้าวทำได้ 1 งาน คือ งานกรรมกร และให้ทำได้ โดยมีเงื่อนไข 11 งาน ซึ่งจะอนุญาตให้ทำเท่าที่จำเป็น และต้องเป็นลูกจ้างเท่านั้น ได้แก่ 1. กสิกรรม เลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรือประมง ยกเว้นงานที่ใช้ความชำนาญ 2. งานก่ออิฐ ช่างไม้ หรือก่อสร้างอื่น 3. ทำที่นอนหรือผ้าห่มนวม 4. ทำมีด 5. ทำรองเท้า 6. ทำหมวก 7. ประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย 8. ปั้นหรือทำเครื่องปั้นดินเผา

...

ส่วนอีก 3 งาน ได้แก่ งานควบคุม ตรวจสอบ ปฏิบัติงานหรือให้บริการทางบัญชี ยกเว้นตรวจสอบภายในเป็นครั้งคราว ที่สภาวิชาชีพบัญชีเป็นผู้ให้การรับรองคุณสมบัติ งานในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธา ที่เกี่ยวกับงานออกแบบและคำนวณ จัดระบบ วิจัย วางโครงการทดสอบ ควบคุมการก่อสร้างหรือให้คำแนะนำ และงานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับงานออกแบบ เขียนแบบ ประมาณราคา อำนวยการก่อสร้าง หรือให้คำแนะนำให้ทำได้ เพราะไทยต้องปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งคนต่างด้าวต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามกฎหมายไทยก่อนขอรับใบอนุญาตทำงาน

สำหรับงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาดมี 28 งาน แบ่งเป็นงานที่แสดงถึงอัตลักษณ์ไทยและส่งเสริมการสืบทอดภูมิปัญญาไทย 16 งาน ได้แก่ 1. แกะสลักไม้ 2. ทอผ้าด้วยมือ 3. ทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องไม้ด้วยกก หวาย ปอฟาง หรือเยื่อไม้ 4. ทำกระดาษสาด้วยมือ 5. ทำเครื่องเขิน 6. ทำเครื่องดนตรีไทย 7. ทำเครื่องถม 8. ทำเครื่องทอง เครื่องเงิน หรือเครื่องนาก 9. ทำเครื่องลงหิน 10. ทำตุ๊กตาไทย 11. ทำบาตร 12. ทำผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมด้วยมือ 13. ทำพระพุทธรูป 14. ทำร่มกระดาษหรือผ้า 15. เรียงตัวพิมพ์อักษรไทยด้วยมือ 16. สาวหรือบิดเกลียวไหมด้วยมือ 

และงานที่คำนึงถึงโอกาสในการประกอบอาชีพของคนไทย จำนวน 11 งาน ได้แก่ 1. ขับขี่ยานยนต์ในประเทศหรือขับขี่ยานพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องจักรหรือเครื่องกลในประเทศ ยกเว้นขับขี่เครื่องบินระหว่างประเทศ 2. ขายของหน้าร้าน 3. ขายทอดตลาด 4. เจียระไน หรือขัดเพชรหรือพลอย 5. ตัดผม ดัดผม หรืองานเสริมสวย 6. นายหน้า หรืองานตัวแทน ยกเว้นงานนายหน้าหรืองานตัวแทนในธุรกิจการค้าหรือการลงทุนระหว่างประเทศ 7. มวนบุหรี่ด้วยมือ 8. มัคคุเทศก์ หรืองาน จัดนำเที่ยว 9. เร่ขายสินค้า 10. เสมียนพนักงานหรือเลขานุการ และ 11. ให้บริการทางกฎหมายหรืออรรถคดี ยกเว้นงานปฏิบัติหน้าที่อนุญาโต และงานที่แสดงถึงอัตลักษณ์ไทยฯ และคำนึงถึงโอกาสในการประกอบอาชีพของคนไทย 1 งาน ได้แก่ นวดไทย โดยจะออกประกาศเป็นกฎกระทรวง ให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่อว่า ขายของหน้าร้านเป็นงานห้ามเด็ดขาด แต่ต่างด้าวทำได้ในสถานะเป็นลูกจ้าง และต้องมีนายจ้างอยู่ด้วย เป็นเจ้าของร้านหรือผู้ประกอบการเองไม่ได้ จับเงินหรือทอนเงินให้ลูกค้าไม่ได้ ทำได้เพียงอำนวยความสะดวกในการหยิบของให้ลูกค้า จัดวางสินค้า งานเสริมสวย ทำเล็บ ก็ห้ามทำเด็ดขาด ต่างด้าวไม่สามารถสระผม หรือทำเล็บได้ การใช้แรงงานต่างด้าวขับรถยนต์ จะให้ทำได้เฉพาะในสถานประกอบการเท่านั้น สิ่งเหล่านี้ได้มีการศึกษาอย่างรอบด้าน โดยคำนึงถึงโอกาสทำงานของคนไทย อย่างไรก็ตามในเรื่องดังกล่าวนี้จะมีการกำหนดคำนิยามให้เกิดความชัดเจนว่าแต่ละอาชีพแรงงานต่างด้าวสามารถทำงานลักษณะใดได้แค่ไหน 

"1 ก.ค.กฎหมายใหม่ จะมีผลบังคับใช้แล้ว หลังจากผ่อนผันมานาน แต่ขณะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านในการประกาศงานห้ามต่างด้าว เป็นเรื่องใหม่ที่จะต้องทำความเข้าใจ จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง เกิดความเข้าใจ โดยจะใช้เวลาประชาสัมพันธ์ ประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้น จะเร่งตรวจจับให้เป็นไปตามกฎหมาย แรงงานต่างด้าวจะต้องทำเฉพาะงานที่อนุญาตให้ทำเท่านั้น" รมว.แรงงาน กล่าว

ด้านนายพิภูเอก สกุลหลิม ตัวแทนผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าวกล่าวว่า อาชีพขายของหน้าร้านยังไม่มีความชัดเจนว่านายจ้างสามารถใช้แรงงานต่างด้าวทำงานได้แค่ไหน เนื่องจากกำหนดอยู่ในกลุ่มงานห้ามเด็ดขาด แต่ก็ให้ทำได้โดยมีนายจ้างอยู่ด้วย การอำนวยความสะดวกในการขายให้นายจ้าง หรือช่วยสนับสนุนการขาย มันกว้างเกินไป จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานกำหนดคำนิยามให้ชัดเจน ก่อนวันที่ 1 ก.ค. ว่างานขายของหน้าร้าน ต่างด้าวทำอะไรได้ หรือไม่ได้ อย่างไรบ้าง เพราะกฎหมายมีผลบังคับใช้ หากคลุมเครืออาจเป็นช่องทางให้มีการเรียกรับผลประโยชน์ได้