มะเร็งร้ายคร่าชีวิต พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ ด้วยวัย 88 ปี ทิ้งผลงาน คุณงามความดีให้กับสังคมเป็นจำนวนมาก รวมถึงงานเขียน นวนิยายอันทรงคุณค่าหลากหลายแนว ภายใต้นามปากกา ”โก้ บางกอก” ซึ่งได้ตั้งขึ้นเองสมัยเป็นร้อยตำรวจเอก ตำแหน่งรองสารวัตร
พล.ต.อ.วสิษฐ เข้าสู่วงการนักเขียน ก่อนรับราชการตำรวจ กระทั่งเกษียณอายุยังคงเขียนหนังสือมาอย่างต่อเนื่อง โดยวัยเด็กคลุกคลีมากับนิตยสารเพลินจิตต์ นวนิยายหลากหลายแนวของ ป.อินทรปาลิต ผู้เขียน ”พล นิกร กิมหงวน” ซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลาย
เริ่มแรกขณะ พล.ต.อ.วสิษฐ เป็นนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนเรื่อง "ปากกาพา (ให้เป็น) ไป" ในวารสาร "มหาวิทยาลัย" ของสโมสรนิสิตจุฬาฯ และเมื่อเรียนจบจากสหรัฐอเมริกา ได้เป็นอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประมาณ 1 ปีกว่า จึงลาออก กระทั่งถูกทาบทามมาเขียนคอลัมน์ "นาครสนทนา" ในนิตยสาร "ชาวกรุง" จนมีชื่อเสียง และร่วมกลุ่ม "บางกอก" หนังสือสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ เขียนบทความและนวนิยาย รวมถึงนิตยสารอื่นๆ อีกหลายเล่ม
ที่ผ่านมา พล.ต.อ.วสิษฐ ใช้นามจริงและนามปากกาในการเขียนหนังสือ นวนิยาย เรื่องสั้น สารคดี และบทละคร โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับตำรวจ ซึ่งสร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการสีกากี เริ่มเขียนนวนิยาย ”สารวัตรเถื่อน” เป็นเรื่องแรก ลงในหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ มีตัวละครชื่อธนุส นิราลัย เป็นพระเอก สวมรอยเป็นสารวัตรใหญ่ ตัดหน้าสารวัตรตัวจริงที่จะไปรับตำแหน่งในอำเภอวัฒนานิมิตร ที่สมมติขึ้นมาใน จ.ชัยภูมิ เพื่อกำจัดอาชญากรรมระดับเจ้าพ่อ ซึ่งนวนิยายเรื่องนี้ฮิตมากในสมัยนั้น จนทำเป็นเล่มและขายดีที่สุด ได้รับการตอบรับจากผู้อ่าน รวมถึงนวนิยายเรื่องอื่นๆ ที่ว่าด้วยพฤติการณ์ของตัวละครที่ชื่อ ธนุส นิราลัย อาทิ แม่ลาวเลือด
...
นอกจากนี้นวนิยายเรื่อง ”สารวัตรเถื่อน” ยังถูกนำไปทำเป็นละครหลายครั้ง ในแนวแอ็กชั่นดราม่าที่สอดแทรกแง่คิดในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความรัก มิตรภาพ ความเสียสละ รวมถึงความสามัคคี ซึ่งตัว ”ธนุส” สารวัตรเถื่อนที่มาสวมรอย ได้ปราบพวกโจรผู้ร้ายจนสิ้นซาก จากความช่วยเหลือของกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน
ส่วนนวนิยายเรื่อง ”ลว.สุดท้าย” ซึ่ง ลว.หมายถึง ลาดตระเวน เป็นเรื่องราวของนายตำรวจตงฉิน ในอุดมการณ์ของ พล.ต.อ.วสิษฐ ทำหน้าที่ปฏิบัติภารกิจเสี่ยงตาย ในฐานะตำรวจตระเวนชายแดน ไปยังทุกถิ่นทุรกันดาร ไม่ยอมก้มหัวให้กับความไม่ชอบธรรม
รวมถึงนวนิยาย ”สารวัตรใหญ่” มี พ.ต.ต.ใหญ่ เวโรจน์ เป็นตัวละคน ซึ่งยึดมั่นในคุณธรรม และประพฤติตนเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อย่างแท้จริง โดยสะท้อนชีวิตจริงของตำรวจทั้งในด้านบวกและด้านลบ แสดงให้เห็นว่ายังมีตำรวจชั่วแอบแฝงอาศัยเครื่องแบบและอำนาจหน้าที่หาประโยชน์ที่มิชอบโดยไม่กลัวกฎหมายและศีลธรรม
ถือเป็นส่วนหนึ่งผลงานนวนิยายแนวอาชญนิยายของ พล.ต.อ.วสิษฐ แสดงความเป็นตัวตนของผู้เขียน โดยเฉพาะตัวอย่างของตำรวจตงฉินในสังคมไทย สมเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ !!