เลิกใบอนุญาตรง.ผิดเงื่อนไข
ล้อมคอกขยะพิษ “ประวิตร วงษ์สุวรรณ” สั่งตั้งคณะกรรมการขันนอตทุกหน่วยงาน ห้ามนำเข้าเศษอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติกทำผิดเงื่อนไขใบอนุญาต กำชับกรมศุลกากรสแกนถี่ยิบขบวนการแจ้งสำแดงเท็จ ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเพิ่มบทลงโทษโรงงานที่ทำผิด หากใช้ช่องทางกฎหมายปกติไม่ได้ผลพร้อมงัด ม.44 ออกมาจัดการ คาดโทษเจ้าหน้าที่รับสินบน หรือบกพร่องถือว่าทุจริตในหน้าที่
รัฐบาลขันนอตคุมเข้มห้ามนำเข้าขยะพิษอิเล็กทรอนิกส์ผิดเงื่อนไข เปิดเผยเมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 20 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ถึงการแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ว่า ไม่มีแล้ว ไม่ให้มีการนำเข้ามาในประเทศไทยอีกแล้ว เรื่องใดที่อาจต้องใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาจะต้องตั้งคณะกรรมการบูรณาการปัญหา
ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. เสนอที่ประชุมให้กระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกใบอนุญาต เพื่อไม่ให้นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ต่อไปจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา มี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน มีทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ กรมศุลกากรที่ดูแลการนำเข้าและการขนย้าย กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้อนุญาตตั้งโรงงาน กระทรวงมหาดไทยเกี่ยวข้องกับท้องถิ่นที่ตั้งโรงงานเพื่อพิจารณาเรื่องนี้
“ไม่ใช่เฉพาะแค่ขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่อาจจะมีการนำขยะอื่นเข้ามาอีก ต้องมาออกข้อกำหนดว่าถ้าไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและเป็นภาระเกิดผลกระทบและไม่คุ้มค่าจะไม่อนุญาตให้นำเข้ามา ที่นำเข้าได้ก่อนหน้านี้มีสาเหตุจากการอนุญาตตามโควตา แต่บริษัททำผิดเงื่อนไขนำเข้ามาเกินและเป็นขยะที่ไม่ถูกต้อง จึงต้องหยุดด้วยการยกเลิกการอนุมัติให้นำเข้าก่อน เมื่อกำหนดประเภทการอนุญาตให้นำเข้าแล้ว หากยังพบว่าทำผิดจะดำเนินการตามกฎหมาย” รมว.มหาดไทยกล่าว
...
พล.อ.อนุพงษ์กล่าวอีกว่า กระทรวงมหาดไทยคือท้องถิ่นต้องรับผิดชอบเรื่องพื้นที่ แต่ยังติดปัญหาการเข้าไปตรวจสอบอาจกลายเป็นการบุกรุกพื้นที่ จึงต้องบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นควบคู่กันไปด้วย โดยจะไปหามาตรการเพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปตรวจสอบไม่โดนฟ้องในภายหลัง และไม่ให้เกิดช่องทางที่ท้องถิ่นเข้าไปทำอะไรที่ไม่ถูกไม่ควร ส่วนความจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 หรือไม่นั้น หากจำเป็นก็จะใช้ แต่ถ้าได้รับอนุญาตแล้วทำผิดเงื่อนไขต้องยกเลิกการอนุญาต โดยไม่ต้องใช้มาตรา 44 แต่ใช้วิธีแก้กฎกระทรวงที่มีการอนุญาต เพื่อแก้ปัญหาต่อไป โดยจะใช้เวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ ระหว่างนี้ ต้องตรวจที่สนามบินและศุลกากรไม่ให้เล็ดลอดเข้ามาได้อีก
ขณะที่ พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมมีมาตรการเร่งด่วนคือ ระงับการอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากโรงงานที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามอนุสัญญาบาเซล ให้ผลักดันนำกลับขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่สำแดงเท็จพร้อมดำเนินคดีผู้กระทำความผิด หากนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกแล้วส่งไปโรงงานกำจัดที่ไม่ถูกต้องตามใบอนุญาตให้ส่งกลับไปยังโรงงานที่ได้รับอนุญาต หรือนำไปกำจัดให้ถูกต้อง พร้อมดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดกฎหมาย รัฐบาลจะเพิ่มความเข้มงวด การพิจารณาใบอนุญาตการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก กำหนดเงินประกันกรณีเกิดความเสียหาย กรมศุลกากรต้องเข้มงวดการตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ที่สำแดงว่าเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องเพิ่มความเข้มงวดการตรวจสอบโรงงานขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก และเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำความผิด
พล.ท.คงชีพกล่าวว่า พล.อ.ประวิตรสั่งการให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กรมควบคุมมลพิษ กรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดยให้พิจารณาเร่งด่วนในประเด็นห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกหรือขยะสารพิษในทันที หากจำเป็นที่ต้องใช้มาตรการ 44 แก้ปัญหาเพราะเห็นว่ากฎหมายปกติใช้ไม่ได้ก็ต้องดำเนินการ พร้อมยังกำชับเจ้าหน้าที่ให้ทำงานอย่างเข้มแข็ง ห้ามรับสินบน หากบกพร่องจะถือว่าทุจริตในหน้าที่