"อดุลย์" เข้าพบ ผอ.ใหญ่ ILO ยื่นสัตยาบันพิธีสาร ปี 2014 ส่วนเสริมอนุสัญญา ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ ยืนยันดูแลสิทธิแรงงานในระดับสากล
วันที่ 4 มิ.ย.61 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เข้าพบผู้อำนวยการใหญ่ ILO เพื่อยื่นสัตยาบันพิธีสารปี 2014 ส่วนเสริมอนุสัญญา ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ.1930 ซึ่งมีความสำคัญกับประเทศไทย เพราะเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ให้การจดทะเบียนฯ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นในการยกระดับการแก้ไขปัญหาแรงงานให้เป็นสากล ทั้งยังแสดงเจตนารมณ์ว่าไทยมีความพร้อมและมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับประชาคมโลกอย่างจริงจังในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนอีกด้วย
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า การยื่นการให้สัตยาบันพิธีสารปี 2014 ส่วนเสริมอนุสัญญา ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ.1930 มีวัตถุประสงค์หลักคือ การขจัดการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและคุ้มครองเยียวยาเหยื่อ เป็นการแสดงท่าทีของรัฐบาลไทยในการส่งเสริมความเท่าเทียมกันและความเสมอภาคทางเพศ ดังจะเห็นได้จากการดำเนินการดังนี้ 1.หลักของการไม่เลือกปฏิบัติรวมถึงความเท่าเทียมกันระหว่างเพศหญิงและชาย บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญของไทยและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 มุ่งเน้นพัฒนาคนที่ศูนย์กลางความครอบคลุม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
...
2.พระราชบัญญัติความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ พ.ศ.2558 และยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรี 2560-2564 3.นโยบายระดับชาติ ประเทศไทย 4.0 ที่จะปรับโครงสร้างประเทศไทยให้เป็นสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อก้าวสู่ประเทศที่มีรายได้สูง 4.ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีในข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการส่งเสริมให้อำนาจและความเสมอภาคแก่สตรี โดยเฉพาะการให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 111 ในปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นของไทยในการพัฒนาสตรีและการรวมสตรีเข้าสู่กระบวนการพัฒนาประเทศอย่างเสมอภาคกัน นอกจากนี้ยังยืนยันในการให้ความร่วมมือกับ ILO และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศและอาชีพต่อไป
รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า รัฐบาลไทยเห็นความสำคัญของอนุสัญญาฉบับนี้ที่จะแก้ไขปัญหาด้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลได้พยายามพัฒนากฎหมายให้สอดรับกับพิธีสารโดยได้ยกร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการใช้แรงงานบังคับ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2561 นี้ และการให้สัตยาบันยังเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยมีความพยายามในระดับหนึ่งและยังเป็นการแสดงเจตนารมณ์ว่าไทยมีความพร้อมและมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับประชาคมโลกอย่างจริงจังในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนอีกด้วย.