นี่แค่เริ่มต้น! ยอดเจ็บ - ตาย เพียบ สาเหตุหลัก "ดื่มแล้วขับ" ร้อยละ 40.49 "ขับรถเร็ว" ร้อยละ 26.62 จังหวัดเกิดอุบัติเหตุสูงสุด เชียงราย 18 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด อำนาจเจริญ
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 12 เม.ย. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา แถลงสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2561 ว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 11 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่สองของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 447 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 39 ราย ผู้บาดเจ็บ 461 คน
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 40.49 ขับรถเร็ว ร้อยละ 26.62 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.96 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,031 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,413 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 678,566 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 128,260 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 35,582 ราย มอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัย 35,090 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 18 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ อำนาจเจริญ เลย นครศรีธรรมราช นครพนม บุรีรัมย์ ชลบุรี เพชรบูรณ์ 2 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 18 คน

...
นายวีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า ศปถ.ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายจราจรและคำสั่งหัวหน้า คสช.อย่างเคร่งครัด เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ในการดูแลเส้นทางหลัก สายรอง และเส้นทางโดยรอบสถานที่ท่องเที่ยว คุมเข้มการขับรถเร็ว เมาแล้วขับ ไม่สวมหมวกกันน็อก ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย รวมถึงประชาสัมพันธ์เส้นทางเลี่ยง ทางลัด จุดเสี่ยงอุบัติเหตุ และบริเวณที่มีการก่อสร้างถนน เพื่อให้ผู้ขับขี่เพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนน อีกทั้งเพิ่มความถี่ในการเรียกตรวจรถโดยสารสาธารณะ
พร้อมกวดขันความพร้อมของพนักงานขับรถ โดยเฉพาะการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์และสารเสพติด เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยบริเวณสถานที่ท่องเที่ยว พื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ คุมเข้มสถานประกอบการเช่ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ให้ตรวจสอบใบอนุญาตขับขี่รถของผู้เช่ารถทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศทุกครั้ง ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศรับทราบ และปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด
เมื่อถามถึงพื้นที่ที่เป็นจุดอ่อน และต้องเน้นย้ำเป็นพิเศษ นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ครม.ได้จัดกลุ่มพื้นที่โดยแบ่งแต่ละอำเภอออกเป็นกลุ่มสีต่างๆ ตั้งแต่ A-D เราไม่ได้หว่านมาตรการไปทั่ว แต่เราได้สำรวจพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังให้ตรงกับเหตุ
เมื่อถามว่า จะมีการควบคุมผู้ดื่มสุราในพื้นที่ที่ไม่ใช่ถนนสายหลักอย่างไรบ้าง นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ในพื้นที่ที่มีการจำกัดการดูอยู่แล้วไม่มีปัญหาเท่าใดนัก แต่พื้นที่อื่นเมื่อประชาชนเดินทางถึงที่หมายแล้วมีการซื้อสุราเข้าไปดื่ม ตรงนี้เราต้องอาศัยจุดคัดกรอง หรือด่านชุมชนที่คอยดูแลคนในพื้นที่ นอกจากนี้เราได้มีการขอความร่วมมือกับผู้หลักผู้ใหญ่และผู้เฒ่าผู้แก่ในแต่ละพื้นที่ให้ช่วยเข้าไปห้ามปราม ซึ่งเป็นการใช้มาตรการทางสังคม
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ในวันที่ 13 เม.ย.นี้เป็นวันมหาสงกรานต์ ศปถ.จึงได้กำชับให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินงานตามแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2561 ภายใต้กลไก ประชารัฐขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ และดูแลความปลอดภัยในการสัญจร โดยเฉพาะการดำเนินมาตรการ “1 ท้องถิ่น 1 ถนนปลอดภัย” เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ พร้อมดำเนินมาตรการทางสังคม โดยกำหนดกติกาชุมชน ประชาคมหมู่บ้าน
สำหรับเป็นข้อตกลงร่วมกันในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย รวมถึงจัดโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัยและปราศจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งเสริมการเล่นน้ำสงกรานต์ตามประเพณีวิถีไทย และฝากผู้ใช้รถใช้ถนนยึดการปฏิบัติตามหลัก “4 ห้าม 2 ต้อง” 4 ห้าม ได้แก่ ห้ามขับรถเร็ว ห้ามเมาแล้วขับ ห้ามโทรแล้วขับ ง่วงห้ามขับ 2 ต้อง ได้แก่ ต้องสวมหมวกกันน็อก และต้องคาดเข็มขัดนิรภัย.