หลังเปิดช่องร้องเรียนขี่ จยย.ทางเท้า-กว่า 7 พันคดีปรับได้แค่ 506 คดี
จากที่ กทม.ได้ออกระเบียบ กทม.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การแบ่งค่าปรับที่ได้จากการเปรียบเทียบปรับให้แก่ผู้แจ้งความนำจับตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2560 เช่น ขี่ จยย.บนทางเท้า ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค.2560 โดย กทม.เปิดช่องทางให้ผู้แจ้งเบาะแสส่งหลักฐานหลายช่องทาง ทั้งแอพพลิเคชั่นไลน์ เฟซบุ๊ก อีเมล นั้น
เมื่อวันที่ 3 เม.ย. นายธีรพันธ์ อธิรัฐธนภรณ์ ผอ.สำนักเทศกิจ เปิดเผยว่า ข้อมูลจนถึงวันที่ 30 มี.ค. มีผู้ติดตามแอดไลน์ “รางวัลนำจับ” แล้ว 107,537 ราย ในส่วนนี้มีการแจ้งเบาะแสและได้รับแจ้งเป็นคดี 7,919 คดี เปรียบเทียบปรับแล้ว 506 คดี รวมยอดค่าปรับ 170,540 บาท ทั้งนี้ มีประชาชนผู้แจ้งเบาะแสติดต่อขอรับส่วนแบ่ง 395 คดี เป็นเงิน 137,640 บาท ขณะที่การดำเนินการที่ผ่านมา พบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการ อาทิ การส่งข้อมูลแจ้งเบาะแสไม่ครบ ก็ไม่สามารถดำเนินคดีได้ หรือบางครั้งมีผู้ส่งข้อมูลเข้ามา เมื่อเจ้าหน้าที่ไปถึงพื้นที่ตามที่ได้รับแจ้งแต่ไม่พบการกระทำความผิดแล้ว เจ้าหน้าที่จะต้องนำข้อมูลทะเบียนรถไปประสานกรมการขนส่งทางบก เพื่อขอข้อมูลที่อยู่ผู้ครอบครองรถ ขณะเดียวกันต้องไปแจ้งความที่ สน.ท้องที่ จากนั้นจึงจะส่งหนังสือแจ้งให้ผู้ครอบครองรถมาเพื่อสอบสวน ก่อนดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับ
นายธีรพันธ์กล่าวอีกว่า ขณะนี้สำนักเทศกิจอยู่ระหว่างทดลองระบบการใช้แอพพลิเคชั่นรางวัลนำจับ ซึ่งได้พัฒนา ขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรับแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด โดยแอพพลิเคชั่นนี้จะมีความแตกต่างจากการรับแจ้งผ่านไลน์ หรือช่องทางอื่นๆที่ต้องมีเจ้าหน้าที่นั่งประจำรอตรวจสอบข้อมูล โดยแอพฯนี้จะช่วยคัดกรองตรวจสอบข้อมูลอัตโนมัติ หากเอกสาร หลักฐานครบองค์ประกอบการรับแจ้ง จะมีการส่งต่อข้อมูลไปยังพื้นที่เขตรับผิดชอบทันที.
...