ศมส.เปิดตัวแอปพลิเคชั่น "SmartSAC" คลังความรู้ มานุษยวิทยา โดยพัฒนาเป็นนวัตกรรมเฉลิมพระเกียรติ 'พระเทพรัตนฯ' เพื่อจัดเก็บฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ และการอนุรักษ์ และพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น...
เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2561 นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.กระทรวงวัฒนธรรม แถลงข่าวเปิดตัวแหล่งเรียนรู้และแอพพลิเคชัน SMARTSAC ส่งเสริมการเรียนรู้ทางมานุษยวิทยา เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน 2561ว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็น เจ้าฟ้านักมานุษยวิทยา ทรงมีความสนพระราชหฤทัยในความหลากหลายของมานุษยวิทยา ทรงมีพระราชดำริจัดตั้ง ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (ศมส.) (องค์การมหาชน) เพื่อรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับด้านมานุษยวิทยา และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ขณะนี้ ศมส.ได้พัฒนาความก้าวหน้าของการดำเนินงาน โดยจัดทำแอปพลิเคชัน SMARTSAC เพื่อสนองแนวพระราชดำริของพระองค์ ที่ทรงต้องการให้จัดเก็บฐานข้อมูลมานุษยวิทยาอย่างเป็นระบบ และ ให้มีช่องทางบริการประชาชนให้เข้าถึงได้ทุกรูปแบบ
...
รมว.วัฒนธรรม กล่าวต่อว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นต้นแบบของนักมานุษยวิทยาในประเทศไทย ในโอกาสที่ เสด็จฯ ไปยังประเทศต่างๆ จะทรงศึกษาสิ่งที่ได้ทอดพระเนตรอย่างลึกซึ้ง ทั้งด้านมานุษยวิทยา ชาติพันธุ์ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ และห้องสมุด และจดหมายเหตุ จากนั้นทรงนำองค์ความรู้กลับมาพัฒนาประเทศ อีกทั้งพระราชทานคำแนะนำต่างๆ ในการดำเนินงานให้ ศมส. โดยเฉพาะภารกิจหลัก ในการดูแลและเก็บข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ และการอนุรักษ์ และพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ทำให้ศมส. พัฒนาการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
นายวีระ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามตนจะนำการพัฒนาแอปพลิเคชัน SMARTSAC เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นตัวอย่างในการพัฒนานวัตกรรมทางด้านการมานุษยวิทยา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ รัฐบาล มีโครงการสร้างพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยา ที่ ต. คลองห้า จ.ปทุมธานี โดยมอบหมายให้ ศมส. เป็นหน่วยงานให้ข้อมูลด้านมานุษยวิทยา และจัดพื้นที่จัดแสดง ชุมชนชาติพันธุ์จากทั่วประเทศไทย ด้วย
ด้าน นายพีรพน พิสณุพงศ์ ผอ.ศมส.กล่าวว่า ศมส.ใช้ประสบการณ์กว่า 25 ปี มาพัฒนาฐานเรียนรู้และนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ทางมนุษยวิทยา สำหรับแอปพลิเคชั่น SmartSAC จะรองรับนิทรรศการออนไลน์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทางมานุษยวิทยา ประกอบด้วยห้องนิทรรศการพระราชประวัติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ซึ่งมีโซนพระราชประวัติ โซนห้องทรงงาน คือ หมู่บ้านและพสกนิกร และโซนจัดแสดงหนังสือพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีกว่า 50 เล่ม และห้องพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาที่ทำในประเทศไทย เป็นระบบภาพเสมือน 360 องศา เหมือนเดินชมอยู่ในสถานที่จริง พร้อมข้อมูลภาพ เสียงและภาพเคลื่อนไหว
ผอ.ศมส.กล่าวด้วยว่า โดยเฉพาะห้องเครื่องปั้นดินเผา ใช้เทคโนโลยี AR รองรับข้อมูลเครื่องปั้นดินเผาแบบสามมิติ ทำให้รับชมนิทรรศการใกล้ชิดมากขึ้น เข้าใจและรู้จักโบราณวัตถุแต่ละชิ้นมากขึ้น นอกจากนี้ ยังพัฒนาเว็บไซต์นิทรรศการ ศมส. สามารถเข้าชมนิทรรศการแบบ 360องศา รองรับการแสดงผลบนคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ รองรับไลฟ์สไตล์คนยุค 4.0.