"หน้าที่หลักของตำรวจทางหลวง คือการที่ต้องยืนอยู่บนถนน

เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้รถ จนกว่ารถจะหมดถนน ใน 1 วัน"

...... 3 ปี กับภาระหน้าที่ รับผิดชอบดูแลอำนวยความสะดวกประชาชน ในฐานะตำรวจทางหลวง รับผิดชอบพื้นที่ จ.อยุธยา จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี บริหารจัดการจราจร ระบายรถติด แก้ไขสารพัดอุบัติเหตุ และเข้าถึงทุกความเดือดร้อนของประชาชน จากการขอความช่วยเหลือระหว่างเดินทาง หลายครั้งที่ต้องเจอกับเหตุการณ์ “ดีมาก - ดีน้อย” ในแต่ละวัน แต่ทั้งหมดนั้นคือ "ความเต็มใจ และตั้งใจ" สานต่อเจตนารมณ์จิตใต้สำนึกของตัวเอง ไทยรัฐออนไลน์ โดย Police Community แนะนำรู้จัก "สารวัตรไอซ์" พ.ต.ท.ขุนเขา โพธิ์สุวรรณ สว.ส.ทล.1กก.1บก.ทล.

"ผมคิดเสมอว่าปัญหาต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามา มีไว้ให้เราเรียนรู้และแก้ไข ไม่ได้มีไว้ให้วิ่งหนี หรือโยนปัญหาภาระใส่คนอื่น ค่อยๆ คิด ค่อยๆ แก้ ทางออกมันมีมากมาย ขอแค่เรามีสติที่จะจัดการกับมัน"

...

อยากเป็นทหารเหมือนพ่อ

หลังจากที่ผมเรียนจบมัธยมจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ผมตัดสินใจสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารด้วยความมุ่งหวังที่จะเป็นทหาร เพราะผมเกิดในครอบครัวข้าราชการทหาร คุณพ่อคือ พล.อ.สุเทพ โพธิ์สุวรรณ ส่วนคุณแม่คือ พ.ต.หญิงทิพย์วรรณ โพธิ์สุวรรณ โดยส่วนตัวผมเป็นลูกชายที่ค่อนข้างสนิทกับพ่อมาก ทุกครั้งที่คุณพ่อไปรับราชการ หรือทำงานตามจังหวัดต่างๆ พ่อจะพาผมไปด้วยเสมอ สิ่งที่พ่อปฏิบัติยึดมั่นจึงซึมซับในความรู้สึกผม ผมจึงอยากที่จะเป็นทหารเหมือนคุณพ่อครับ

“สุดท้ายเหมือนโชคชะตากำหนดไว้แล้วครับ ผมสอบติดเข้าเป็นนักเรียน โรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 60 ซึ่งตัวผมเองก็รู้สึกดีใจนะครับ จากวันนั้นจนวันนี้ รู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากที่สอบติดตำรวจ”

เปลี่ยนคนขี้อายกลายเป็นคนกล้า

การมีวินัยในตนเอง ถือเป็นเรื่องสำคัญ โรงเรียนสอนให้ฝึกความอดทนอดกลั้น สอนการเรียนรู้ในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ วิชาต่างๆ ทั้งยังหล่อหลอมเปลี่ยนนิสัยผม จากเลยเป็นคนเงียบๆ ขี้อาย กลายเป็นคนกล้าพูดกล้าแสดงออกมากขึ้น จนวันหนึ่ง ผมได้รับเลือกเป็นประธาน นรต.รุ่น 60 ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้มีความโดดเด่นในด้านใดเลย ผลการเรียนปานกลาง ผมได้เรียนรู้นิสัยเพื่อนหลายคน ที่มาจากต่างสถานที่ แต่ต้องปรับตัวอยู่ร่วมกัน กระทั่งเรียนจบเข้าทำงานเป็นตำรวจ ยังคบหากันมาจนวันนี้

“โรงเรียนทุกแห่ง สอนให้เราเป็นคนดี ส่วนโรงเรียนนายร้อยตำรวจ สอนให้ผมรู้จักเสียสละ เห็นปัญหาของประชาชนเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญที่ต้องเร่งแก้ เอาเป็นว่าถ้าคิดจะเป็นตำรวจ เรื่องส่วนตัวควรจัดลำดับความสำคัญไว้ท้ายๆ เลย ปัญหาของประชาชนที่รอการช่วยเหลือจากเราต้องมาก่อนเป็นอันดับแรกครับ”

ก่อนจะมาเป็นตำรวจทางหลวง

หลังจบการศึกษา ผมบรรจุเข้ารับตำแหน่ง รองสารวัตรสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง จากนั้นย้ายไปเป็นรองสารวัตร กก.1 บก.ป., รอง สว.กก.3 กองบังคับการการลำเลียงยาเสพติด บช.ปส. กระทั่งขึ้นสารวัตร ตำแหน่ง สว.กก.3 กองบังคับการการลำเลียงยาเสพติด บช.ปส. อยู่ครบวาระจึงโยกมาเป็น สารวัตรทางหลวง ครับ

สารวัตรทางหลวง 1 รับผิดชอบพื้นที่ 3 จังหวัด

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งสว.ส.ทล.1กก.1บก.ทล. รับผิดชอบถนนหลวงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี ซึ่งเป็นเส้นทางจากภาคกลางมุ่งหน้าสู่เหนือและอีสาน เมื่อผมได้มารับตำแหน่งนี้ ทำให้ผมเห็นว่าลูกน้องตำรวจทางหลวงส่วนใหญ่มีวินัย มีจิตวิญญาณในการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่ประชาชนที่เดินทางกลับบ้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคนไม่เคยบ่นเหนื่อยหรือท้อทั้งที่ต้องยืนตากแดดตากฝน เพียงเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวคือให้ประชาชนกลับบ้านอย่างปลอดภัย ไปอยู่กับครอบครัวในช่วงวันสำคัญ

...

“หน้าที่หลักของพวกเราคือต้องอยู่บนท้องถนนตลอดเวลาจนกว่ารถจะหมดจากถนน ใน 1 วัน” รอดูความเป็นระเบียบเรียบร้อย ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ สแตนด์บายรอช่วยเหลือเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดบนท้องถนนครับ”

คนขับรถขาดวินัย เป็นภัยต่อเพื่อนร่วมทาง

ผู้ใช้รถใช้ถนนความมีวินัยที่เกิดจากตัวเองก่อน รับผิดชอบสภาพร่างกายตัวเอง ไม่ดื่มเหล้าเมายา นอนให้เพียงพอ มีความพร้อมในการขับขี่รถ และรักษากฎจราจรให้เคร่งครัด หากต่างคนต่างทำได้ เชื่อเถอะว่าปัญหาอุบัติเหตุต่างๆ บนท้องถนนไม่เกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งที่ผ่านมาเท่าที่เห็น อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการขาดวินัย ร่างกายไม่พร้อม รถยนต์ไม่ได้ตรวจเช็กก่อนออกเดินทาง การขาดวินัยรับผิดชอบตัวเองและรถของคนขับ อาจส่งผลกระทบร้ายแรงสู่ผู้โดยสารที่นั่งมาด้วย

โชเฟอร์รถบัส พาคนไปตาย

นั่นเพราะคนขับรถไม่มีวินัย ไร้ซึ่งสามัญสำนึกที่ดีในการรับผิดชอบชีวิตคนอื่น หากโชเฟอร์รถบัสโดยสารที่ยังปฏิบัติตัวตามอำเภอใจ จนส่งผลกระทบเรื่องงานในหน้าที่ อยากให้ย้อนคิดให้ดีๆ คุณต้องรับผิดชอบชีวิตคนอีกมากมาย ซึ่งตรงจุดนี้ ผู้บังคับบัญชาได้มอบนโยบายให้กำชับ กวดขันเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตั้งด่านความมั่นคง เพื่อตรวจสอบสภาพคนขับรถระหว่างเดินทาง ป้องกันอุบัติเหตุร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้

...

คนไทยส่วนใหญ่ ไม่รักตำรวจทางหลวง

ถือเป็นสิทธิ์ของเขานะครับว่าจะรู้สึกกับเราอย่างไร แต่สำหรับตำรวจทางหลวงแล้ว พร้อมรับใช้ให้บริการประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนอย่างเท่าเทียม พวกเราไม่เคยเกลียดใคร หรือไม่ชอบใคร พวกเราแค่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย และดูแลความปลอดภัย อำนวยความสะดวกให้กับทุกๆ ท่าน ถึงแม้ว่า ประชาชนจะรัก หรือไม่รักเราก็ตามที

“เห็นเขาว่า” ตำรวจทางหลวงรับส่วย

ผมคงปฏิเสธไม่ได้ว่าตำรวจไม่รับส่วย เพราะตำรวจเองก็มีหลายประเภทหลายนิสัย นำมาประเมินค่ารวมๆ กันไม่ได้ครับ ซึ่งหากประชาชนท่านใดพบเห็นสามารถแจ้งมาที่ตำรวจทางหลวงได้ทันที ทุกวันนี้โลกโซเชียลไปไวมาก ใครทำจริง ไม่จริง อย่างไรตรวจสอบก็รู้แจ้ง ดังนั้นการที่ตำรวจจะทำอะไรตามอำเภอใจเป็นไปได้ยากมาก เรื่องส่วยเบี้ยบ้ายรายทาง ก็ค่อยๆ จางหายไปจนแทบจะไม่เหลืออยู่ในระบบ

"สำคัญที่สุดคือ ประชาชนต้องไม่ให้ความร่วมมือในการติดสินบนยัดส่วยให้เจ้าหน้าที่ด้วย เพราะถือว่าผิดเหมือนกัน ในส่วนหน้างานที่ผมรับผิดชอบ รวมถึงตัวผมเองเท่าที่เจอมาไม่เคยมีใครร้องเรียนเรื่องลูกน้องเก็บส่วย เพราะถ้ามีคงต้องตั้งกรรมการสอบเอาผิดแน่นอน"

...

ปัญหาอะไรใหญ่ที่สุดสำหรับสารวัตรทางหลวง

สำหรับผมถ้าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับงานในหน้าที่ก็ถือว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่ทั้งนั้นและควรเร่งแก้ จะด้วยผู้ใต้บังคับบัญชาทำพลาด หรือเราพลาดเองก็ตาม ในฐานะสารวัตรสถานี ต้องใช้สติวิเคราะห์ แยกแยะ แก้ปัญหา และไม่โยนปัญหาไปเป็นภาระของคนอื่น เราต้องแก้เอง ควบคู่ไปกับการวางแนวทางไม่ให้ปัญหาเดิมๆ เกิดซ้ำขึ้นอีกในอนาคต

คาดหวังอย่างไรในอนาคตราชการ

ทำวันนี้ให้ดีที่สุดครับ รับมอบหมายงานอะไรจากผู้บังคับบัญชามา ก็จะทำมันให้ดีที่สุดในทุกๆ วัน เมื่อวันนี้ทำดีแล้ว เชื่อว่าวันต่อๆ ไปจะดีขึ้น ดังนั้นความคาดหวังต่างๆ เกี่ยวกับอนาคตงานราชการ ผมอยากให้งานชี้วัดตัวตน ไม่อยากคาดหวังไปเอง ไม่เคยคิดจะได้ตำแหน่งดีๆ สูงๆ อยากอยู่ในที่ที่ตัวเองสามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้มากกว่า

3 ปี กับตำแหน่งสารวัตรทางหลวง 1

ผมได้เป็นหัวหน้าสถานี เรียนรู้การจัดระบบ บริหารงานด้วยตัวเอง ได้ช่วยเหลือประชาชนบนท้องถนน เข้าใจปัญหาที่เราเคยมองว่ามันเล็ก แต่เมื่อมาเห็นว่าเกิดขึ้นจริงตรงหน้าก็รู้เลยว่าสำหรับบางคนมันไม่เล็กนะ อีกทั้งปัญหาหน้างานจราจร ต่างๆ นานาที่เราต้องควบคุมให้ได้ เพราะนอกจากจะทำผิดกฎกันแล้ว เรื่องของอารมณ์เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราต้องเรียนรู้ปรับตัวที่จะเจรจากับประชาชนผู้ใช้รถ ซึ่งทั้งหมดนี้มันทำให้ผมเข้าอกเข้าใจอะไรง่ายขึ้น 

"อย่างสุดท้ายคือความมีระเบียบวินัยที่ผมยึดมั่นมาตลอด ยิ่งเป็นตำรวจทางหลวง ยิ่งต้องมีวินัยมากขึ้นไปอีก 3-4 เท่า เพราะทุกวินาทีของตำรวจทางหลวง คือการดูแลช่วยเหลือประชาชน"

***ผมคิดว่าผมโชคดีมาก ที่ได้สวมเครื่องแบบเป็นตำรวจรับใช้ประชาชน เพราะมันตอบโจทย์ความเป็นตัวเองได้หลายอย่าง จะด้วยงานสืบจับ ปราบปราม หรืองานบริการประชาชน ล้วนแล้วเป็นสิ่งที่ผมถนัดทั้งสิ้น ... ยังคิดไม่ออกเหมือนกันว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปวันนั้น แล้วสอบติดเข้าเรียนเป็นทหาร ชีวิตจะเหมือนวันนี้มั้ย ***

Police Community