โศกนาฏกรรมกรณีรถเข็นไฟฟ้าระเบิดขณะชาร์จไฟ...เป็นเหตุให้ไฟไหม้บ้านวอดทั้งหลัง แถมยังคลอกสาวเคราะห์ร้ายดับอนาถคาบ้าน เมื่อไม่นานมานี้ นอกจากสร้างความอกสั่นขวัญผวาให้แก่ผู้ที่ต้องใช้รถเข็นประเภทนี้ ยังถือเป็นอีกบทเรียนราคามหาโหด

กรณีดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อช่วงดึกของวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่บ้านหลังหนึ่งในซอยศาลาแดง 1 สีลม บางรัก เจ้าของบ้านคือ นายสิทธิชัย เอี่ยมฤทธิไกร

ขณะเกิดเหตุมีคนพักอยู่ในบ้าน 9 คน แต่สามารถวิ่งหนีออกมาได้ทันเพียง 7 คน ติดอยู่ในบ้านอีก 2 คน คือแม่ของนายสิทธิชัย ซึ่งต่อมาสามารถช่วยเหลือออกมาได้ แต่อีกคนคือน้องสาวของนายสิทธิชัย ซึ่งป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่สามารถช่วยเหลือออกมาได้ทัน

นายสิทธิชัยกล่าวว่า ก่อนเกิดเหตุ คนงานดูแลบ้านได้ขึ้นไปบอกตน ที่ห้องนอนว่า รถเข็นไฟฟ้าของน้องสาว ซึ่งกำลังชาร์จไฟอยู่เกิดไฟไหม้ ทั้งครอบครัวจึงพยายามไปช่วยกันดับไฟ แต่ไม่สำเร็จ ไฟได้ลุกลามอย่างรวดเร็ว จนที่พักเสียหาย พร้อมทั้งเผยว่า รถเข็นไฟฟ้าที่ซื้อมา เป็นรถเข็นมือสอง ที่เพิ่งซื้อมาได้เพียง 2 เดือนเท่านั้น ปกติก่อนใช้งานต้องนำไปชาร์จไฟฟ้านานกว่า 8 ชั่วโมง

ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานในเบื้องต้นว่า สาเหตุของเพลิงไหม้ครั้งนี้ อาจเกิดจากแบตเตอรี่รถเข็นไฟฟ้าลัดวงจร ขณะทำการชาร์จไฟ

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว นำมาสู่คำถามว่า ในทางเทคนิคแล้วมีโอกาส หรือความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะเป็นไปตามข้อสันนิษฐานข้างต้น

เรื่องนี้จึงต้องหาคำตอบจากผู้รู้ อย่าง ดร.เชิดชัย ประภานวรัตน์ ผู้ช่วยหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หนึ่งในวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านแม่เหล็กไฟฟ้า และแบตเตอรี่ของเมืองไทย

...

อาจารย์เชิดชัยไล่เรียงอธิบายปูพื้นให้ฟังว่า ทุกวันนี้แบตเตอรี่ที่นิยมนำมาใช้งานในชีวิตประจำวัน มีอยู่ 4 ชนิดหลักๆ คือ 1.แบบ ตะกั่ว–กรด (Lead-Acid) 2.แบบ นิกเกิลแคดเมียม (NiCd) 3.แบบ นิกเกิล เมทัลไฮดรายด์ (Nimh) และ 4.แบบ ลิเธียม–ไอออน (Li-Ion)

แบตฯแบบลิเธียมไอออน มีข้อดีตรงที่น้ำหนักเบา แต่มีความหนาแน่นของพลังงานสูง แบตฯประเภทนี้ จึงถูกนำมาใช้ในกล้องถ่ายรูปแบบดิจิตอลยุคแรกๆ ต่อมานำไปใช้ในโทรศัพท์มือถือ กระทั่งปัจจุบันนำไปใช้ในรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่ไม่มีเครื่องยนต์ มีแต่มอเตอร์ หรือที่เรียกว่า ยานยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV.

ส่วน นิกเกิล แคดเมียม (NiCd) อ.เชิดชัยบอกว่า ถ้านึกภาพไม่ออก ให้นึกถึงถ่านไฟฉายก้อนยุคแรกๆที่สามารถนำกลับมาชาร์จไฟใช้ได้อีก

ถัดมาคือ แบตเตอรี่แบบ นิกเกิล เมทัลไฮดรายด์ (Nimh) มีข้อดีตรงที่เมื่อเทียบกับแบตฯชนิดอื่นซึ่งมีขนาดเท่ากัน แบตฯประเภทนี้จะมีความจุไฟฟ้าสูงกว่า และเก็บพลังงานได้มากกว่า เพียงแต่ใช้ธาตุอื่นแทนแคดเมียม เป็นตัวไปทำปฏิกิริยากับนิกเกิล

ตัวอย่าง แบตเตอรี่ประเภทนี้ เช่น ไฟฉุกเฉินบางรุ่น ที่ติดไว้ตามผนังอาคาร ใช้ส่องสว่างเวลาไฟฟ้าดับ แบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ไฮบริดบางรุ่น ซึ่งมีเครื่องยนต์แบบเชื้อเพลิงผสม ระหว่างน้ำมัน สลับกับไฟฟ้า หรือแม้แต่แบตเตอรี่ขนาดจิ๋วที่ฝังอยู่ในไม้ตียุงบางรุ่น ซึ่งสามารถนำกลับมาชาร์จไฟได้ใหม่ แต่จะเสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ

สุดท้ายคือ แบตเตอรี่แบบ ตะกั่ว–กรด ซึ่งนิยมนำไปใช้งานอย่างกว้างขวาง ทั้งใน รถยนต์ รถกอล์ฟ รวมทั้ง ใน รถเข็นไฟฟ้า ตามที่ตกเป็นข่าว

ดร.เชิดชัยบอกว่า แบตเตอรี่ชนิดตะกั่ว-กรด มีข้อดีตรงที่มีราคาถูก มีสารพิษน้อย เพราะตะกั่วเป็นสารกึ่งโลหะหนัก จึงมีความเป็นพิษน้อยกว่าแคดเมียม และสารหนู ทั้งยังสามารถนำไปรีไซเคิลได้

นอกจากนี้ ยังสามารถจ่ายกระแสไฟได้สูง ภายในช่วงสั้นๆ จึงเหมาะนำไปใช้ป้อนกระแสไฟให้แก่มอเตอร์สตาร์ตในรถยนต์ เพื่อหมุนเครื่องยนต์ให้ติด แต่ก็มีข้อด้อย ตรงที่จ่ายไฟต่อเนื่องได้ไม่เก่ง

ดังนั้น แบตฯประเภทนี้ เมื่อใช้งานไปสัก 10-15% ของพลังงานที่มีอยู่เต็ม 100% จึงต้องมีการชาร์จไฟกลับเข้าไปใหม่ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยไม่ชาร์จไฟใหม่ เช่น ในรถยนต์ที่จอดทิ้งไว้นานถึง 2 เดือน โดยไม่ถอดขั้วแบตเตอรี่ออก แบตฯจะเสื่อมสภาพ เพราะมีซัลเฟตไปเกาะที่แผ่นธาตุอย่างถาวร ซึ่งเปรียบเสมือนกับการมีสนิมไปเกาะที่แผ่นเหล็ก

“ลองนึกภาพเปรียบเทียบกับเหล็กที่มีสนิมเกาะหนา แค่เราใช้มือลูบเบาๆ สนิมที่เกาะอยู่จะปัดไม่ออก ต้องใช้ค้อนเคาะแรงๆจึงจะหลุดออก การจะชาร์จไฟเข้าไปใหม่ในแบตฯประเภทนี้ที่เสื่อมสภาพก็เช่นกัน ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าสูงมากไปกระตุ้น เหมือนกับเคาะเอาสนิมที่เกาะอยู่ออกเสียก่อน”

ทีนี้ก็ถึงจุดพีคสุดของโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น อ.เชิดชัยบอกว่า โดยปกติแล้วแบตเตอรี่ชนิดตะกั่ว-กรด หากถูกปล่อยทิ้งไว้ ไม่ได้ใช้งาน และไม่ได้ชาร์จไฟกลับเข้าไปใหม่สัก 3-4 เดือน ไฟจะหมดเกลี้ยงแบตฯ เพราะมีการคายประจุในตัวมันเองตลอดเวลา

ยิ่งถ้าปล่อยให้ไฟหมดต่อเนื่องนานถึง 6 เดือน แบตเตอรี่ลูกนั้น ก็จะเสื่อมสภาพอย่างถาวร เพราะถูกซัลเฟตในน้ำกรดของแบตเตอรี่ไปจับที่แผ่นธาตุ ทำให้แผ่นธาตุเฉื่อยต่อปฏิกิริยาเคมี

“เมื่อแบตฯเสื่อมสภาพอย่างถาวร การจะคืนสภาพให้สามารถกลับมาใช้งานได้อีก ปกติแล้วเครื่องชาร์จไฟทั่วไป ไม่สามารถปลดซัลเฟตออกได้ หรือแก้อาการนี้ไม่ได้ นอกจากต้องใช้เครื่องชาร์จรุ่นพิเศษ ที่ให้กระแสอัดประจุเป็นพัลล์ คือ อย่างรวดเร็ว และมีแรงไฟสูงในช่วงสั้น หลายร้อยรอบ แบตฯลูกนั้นจึงจะค่อยๆคืนสภาพ”

...

อาจารย์เชิดชัยบอกว่า จากข้อเท็จจริงตามข่าว กรณีรถเข็นไฟฟ้าที่ซื้อมาเป็นรถเข็นมือสอง จึงไม่แน่ใจว่า ก่อนหน้านั้นแบตเตอรี่ในรถ มีสภาพสมบูรณ์เพียงใด

ในกรณีที่แบตเตอรี่เสื่อมสภาพแล้วอย่างถาวร การนำเอาสายชาร์จของรถเข็นไฟฟ้าไปชาร์จไฟใหม่ ปกติแล้วจะชาร์จไฟไม่เข้า เพราะแบตฯเกิดอาการดื้อ

แต่ถ้าแบตฯยังพอมีสภาพใช้การได้ เมื่อเริ่มชาร์จไฟเข้าไปใหม่อีกครั้ง ช่วงแรกจะทำการชาร์จด้วยกระแสคงที่ก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่ ต้องใช้แรงดันไฟฟ้าในการชาร์จสูง

ผลที่ตามมาอาจทำให้วงจรควบคุมระบบไฟฟ้าในรถเข็น เกิดการลัดวงจร จากการที่โวลต์เกิน หรือไม่ก็อาจเป็นเพราะเมื่อชาร์จไฟเต็มแบตเตอรี่แล้ว ยังไม่เลิกชาร์จ ทำให้เกิดภาวะโอเวอร์ชาร์จ ถ้าในรถเข็นคันนั้น ไม่มีระบบตัดการชาร์จ หรือมีแต่เสีย ก็ทำให้เกิดการช็อต และเกิดประกายไฟได้เช่นกัน

รวมความแล้วอาจารย์เชิดชัยเชื่อว่า สาเหตุของเพลิงไหม้ดังกล่าว ไม่น่าเกิดจากการที่แบตเตอรี่ระเบิด เพราะเมื่อแบตฯระเบิดจะทำให้เปลือกหุ้มแบตเตอรี่แตก แต่จะไม่เกิดประกายไฟ

ดังนั้น สาเหตุที่อาจเป็นไปได้สูง ดร.เชิดชัยเชื่อว่า น่าจะเป็นเพราะวงจรควบคุมไฟฟ้าในตัวรถเข็น ซึ่งไม่สามารถทนแรงดันที่เกิดในขณะชาร์จแบตฯได้ ทำให้ไฟฟ้าลัดวงจร เกิดความร้อนจากประกายไฟไปสปาร์กกันมากกว่า อ.เชิดชัย จึงมีข้อแนะนำทิ้งท้ายสำหรับผู้ที่ต้องใช้รถเข็นไฟฟ้าว่า

ข้อแรก อย่าปล่อยให้แบตเตอรี่ไฟหมดจนเกลี้ยง เมื่อไม่ได้ใช้งานรถเข็นเป็นเวลานานควรถอดขั้วแบตเตอรี่ออก หรือนำกลับมาชาร์จใหม่ทุก 3 เดือน สุดท้าย ถ้าไม่มั่นใจว่าแบตเตอรี่และระบบชาร์จไฟ ยังอยู่ในสภาพใช้งานได้ปกติ ให้นำกลับไปให้ตัวแทนขาย หรือผู้ผลิตตรวจสอบก่อนนำมาใช้.