กรมชลฯ เตือน 20-24 ก.ย. ระวังฝนหนักในภาคกลาง-ตะวันออก คาด ไทยเตรียมรับลมหนาว เริ่มต้น 15 ต.ค. ขณะพายุ “ทกซูรี” สลายตัวแล้ว แต่ทำฝนตกสุโขทัยหนัก ต้องเร่งเบี่ยงน้ำผ่านเมือง
วันที่ 18 ก.ย. นายเลิศชัย ศรีอนันต์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) คาดการณ์สถานการณ์ฝนในช่วง วันที่ 18 - 19 ก.ย. 2560 ว่า ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ส่งผลให้มีปริมาณฝนลดลง ส่วนในช่วงวันที่ 20 - 24 ก.ย. 2560 ร่องมรสุมกำลังแรงจะเคลื่อนลงไปยังภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า ประมาณวันที่ 15 ต.ค.60 ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะเริ่มอ่อนกำลังลง และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จะพัดปกคลุมประเทศไทยแทน ซึ่งเป็นสัญญาณว่า ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ทำให้ปริมาณฝนลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีมวลอากาศเย็นปกคลุมประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคใต้มีฝนชุก โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันออก
นายเลิศชัย กล่าวต่อว่า สำหรับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “ทกซูรี” ที่สลายตัวไปแล้วนั้น ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา วัดปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมง อยู่ในเกณฑ์ 50 – 90 มิลลิเมตร ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงสู่แม่น้ำยมในปริมาณมาก ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 16 ก.ย. 2560 ซึ่งวานนี้ (17 ก.ย. 60) ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมสูงสุด วัดได้ที่สถานี Y.37 อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ประมาณ 1,050 - 1,100 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที โดยปริมาณน้ำสูงสุดดังกล่าวได้ไหลมาถึงอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัยในอัตรา 1,180 ลบ.ม./วินาที
...
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำยม ด้วยการรับน้ำทางประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ ก่อนจะผันน้ำบางส่วนเข้าสู่คลองหกบาท ในปริมาณ 250 ลบ.ม./วินาที ผันน้ำเข้าแม่น้ำยมสายเก่า ปริมาณ 170 ลบ.ม./วินาที ผันน้ำเข้าคลองสวรรคโลก-พิชัย ในปริมาณ 80 ลบ.ม./วินาที ผันน้ำเข้าคลองสายใหญ่ C.1 ในปริมาณ 40 ลบ.ม./วินาที และผันน้ำเข้าสู่พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำซึ่งเก็บเกี่ยวเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นพื้นที่ทั้งหมด 265,000 ไร่ ปัจจุบันรับน้ำไปแล้ว 120,000 ไร่ รวมทั้งงดการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ และลดการระบายน้ำจากเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จาก 160 ลบ.ม./วินาที เหลือ 100 ลบ.ม./วินาที เป็นเวลา 2 วัน ในวันที่ 17 - 18 ก.ย.2560
“จากแผนการบริหารจัดการน้ำดังกล่าว คาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่ อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย จะไม่เกินระดับน้ำสูงสุด ที่สามารถรับได้ 550 ลบ.ม./วินาที นอกจากนี้กรมชลประทาน ยังได้กำชับให้สำนักงานชลประทานที่ 3 และ 4 บริหารจัดการน้ำร่วมกันและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และเกิดผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียงน้อยที่สุด พร้อมเน้นย้ำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบอ่างเก็บน้ำ ทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ ที่มีระดับน้ำในอ่างเกิน 80% เร่งระบายน้ำและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตามข้อสั่งการของ นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน” นายเลิศชัย กล่าว