กรมชลฯ เฝ้าติดตาม พายุทกซูรี ขึ้นฝั่งเวียดนาม ชี้ หลังประเมินความรุนแรงคาดจะมีอิทธิพลน้อยกว่า พายุเซินกา พร้อมเตรียมรับมือในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม 24 ชั่วโมง เพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำได้ทันที...

เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2560 นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์สภาวะอากาศของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ได้รับรายงานจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่า พายุโซนร้อน “ทกซูรี” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนคาดว่าจะเคลื่อนผ่านอ่าวตังเกี๋ย และเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองวินห์ ประเทศเวียดนาม ในวันที่ 15 ก.ย. 60 โดยจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันเข้าปกคลุมประเทศลาว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนัก ถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ และหลังจากวันที่ 17 ก.ย. 60 จะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศพม่าต่อไป 


ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานทุกโครงการ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเดิม เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นได้ จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ทกซูรี” ด้วยการกำชับเจ้าหน้าที่ ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้ตรวจสอบระบบและอาคารชลประทาน ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ และให้บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด ในกรณีที่เกิดสภาวะวิกฤติ โครงการชลประทานในพื้นที่ จะรายงานสถานการณ์น้ำ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้แจ้งเตือนประชาชน ให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที แม้จากการประเมินคาดว่าพายุโซนร้อน “ทกซูรี” จะส่งอิทธิพลน้อยกว่า พายุ “เซินกา” 

...


อย่างไรก็ตาม ยังคงให้ทุกโครงการชลประทาน เตรียมความพร้อม ในด้านเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ เข้าไปประจำพื้นที่เสี่ยงภัยที่จะเกิดน้ำท่วม โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำ ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันต่อเหตุการณ์

สำหรับสถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(14 ก.ย. 60) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 53,282 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็น 71% ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มากกว่าปี 2559 รวม 12,541 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 29,463 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 57% สามารถรองรับน้ำได้อีก 21,932 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน ป่าสักชลสิทธิ์ ภูมิพล มีปริมาณน้ำรวมกัน 15,854 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 64% ของความจุอ่างฯรวมกัน ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 3,627 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 9,158 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 50% (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 5,531 ล้าน ลบ.ม.) สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 9,017 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน (15 ก.ย. 60) ปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 1,782 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีแนวโน้มทรงตัวลดลงเล็กน้อย ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 3.44 เมตร มีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 1,394 ลบ.ม./วินาที ซึ่งบริเวณเหนือเขื่อนได้รับน้ำเข้าสู่คลองฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก รวมทั้ง 2 ฝั่งวันละประมาณ 399 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้ จะบริหารน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้เข้าคลองชลประทานให้มากที่สุดตามศักยภาพของพื้นที่ พร้อมกับทดระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่ไหลมาจากจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อชะลอน้ำไว้บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในระดับการควบคุม(ไม่เกิน +17.00 เมตร(รทก.)) ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบกับพื้นที่ตอนล่างบริเวณ อ.ผักไห่ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยาด้วย.