สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร จัดทำหนังสือคำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 5,000 เล่ม แจกสื่อมวลชน หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งจะแปลเป็นภาษาอังกฤษให้หน่วยงานต่างประเทศและสื่อมวลชนต่างประเทศใช้คำศัพท์โบราณราชประเพณีถูกต้อง
ความคืบหน้างานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เปิดเผยเมื่อวันที่ 2 ส.ค.ว่า สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ได้ปรับปรุงหนังสือคำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสร็จเรียบร้อยแล้วและจัดพิมพ์ขึ้นใหม่จำนวน 5,000 เล่ม เนื้อหาของหนังสือจะเพิ่มเติมคำศัพท์ที่มีความเกี่ยวข้อง นับตั้งแต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต พระราชพิธีพระ บรมศพ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ กระทั่ง พระราชพิธีบรรจุพระบรมราชสรีรางคาร ตลอดจนเพิ่มภาพประกอบให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับพระราชพิธีที่เป็นปัจจุบัน เพื่อให้เนื้อหามีความสมบูรณ์ และครอบคลุมทุกองค์ประกอบของพระราชพิธี
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์เข้ามาร่วมเรียบเรียงและแปลคำศัพท์ อีกทั้งยังมีการเทียบคำศัพท์ไทยกับภาษาอังกฤษ พร้อมคำอ่าน คำแปลภาษาอังกฤษ จัดทำเป็นตารางแนบท้ายหนังสือเพื่อความสะดวกต่อการนำไปใช้งาน กระทรวงวัฒนธรรมจะนำไปแจกจ่ายให้สื่อมวลชน ตลอดจนหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำองค์ความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ต่างๆ ไปใช้ในการสื่อสารและเรียบเรียงถ่ายทอดไปสู่ประชาชนและผู้สนใจได้อย่างถูกต้องเหมาะสม นอกจากนี้ จะมีการแปลเป็นหนังสือฉบับภาษาอังกฤษ เพื่อให้หน่วยงานต่างประเทศและสื่อมวลชนต่างประเทศใช้คำศัพท์โบราณราชประเพณีได้อย่างถูกต้อง
...
น.ส.อรสา สายบัว ผอ.สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กล่าวว่า การปรับปรุงเนื้อหาของคำศัพท์ต่างๆนี้ มีการเพิ่มเติมคำศัพท์ภาษาไทย อังกฤษและการอ่านออกเสียงรวม 84 คำ อาทิ นพปฎลมหาเศวตฉัตร (นบ-พะ-ปะ-ดน-มะ-หา-สะ-เหวด-ตะ-ฉัด) หรือ เศวตฉัตร 9 ชั้น สวดศราทธพรต (สวด-สาด-ทะ-พรด) หรือ บทสวดในการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพเมื่อครบรอบวันต่างๆ ตามแต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ในการบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ เครื่องสังเค็ด (เครื่อง-สัง-เค็ด) คือ สิ่งของที่ใช้ในการถวายแด่พระภิกษุ ถวายวัด โรงเรียน พระภูษาโยง (พระ-พู-สา-โยง) หมายถึง ผ้าที่โยงจากพระโกศพระบรมศพไปยังอาสน์สงฆ์โดยมีเสาบัวรองรับ สำหรับทรงทอดผ้าไตรถวายพระสงฆ์สดับปกรณ์ วงปี่พาทย์นางหงส์ (วง-ปี่-พาด-นาง-หง) เป็นวงปี่พาทย์ที่มีบทบาทสำคัญในการประโคมประกอบพิธีพระบรมศพ พระบรมราชสรีรางคาร (พระ-บะ-รม-มะ-ราด-ชะ-สะ-รี-ราง-คาน) หมายถึง เถ้าถ่านที่ปะปนกับพระบรมอัฐิองค์เล็กองค์น้อยของพระบรมศพที่ถวายพระเพลิงแล้ว
“นอกจากนี้ ยังมีคำธรรมเนียมโบราณที่มีมาตั้งแต่อดีตและปัจจุบันได้มีการยกเลิกไป เช่น ต้นกัลปพฤกษ์ (ต้น-กัน-ละ-ปะ-พรึก) เป็นต้นไม้ที่ทำขึ้นเนื่องในการทิ้งทานในงานเมรุหลวง ตามคติไตรภูมิ เป็นต้นไม้ในอุตรกุรุทวีปและในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เชื่อว่าเป็นต้นไม้ที่ให้ผลตามปรารถนาของผู้ขอ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จึงมีธรรมเนียมการตั้งต้นกัลปพฤกษ์เพื่อให้งานพระเมรุมาศมีความครบถ้วนตามคติ ปรากฏมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนจะยกเลิกพร้อมกับธรรมเนียมโบราณอื่นๆ เช่น ดอกไม้เพลิง การตั้งโรงครัวเลี้ยง รวมถึงเดินสามหาบ (เดิน-สาม- หาบ) ที่จะใช้ในพระราชพิธีเก็บพระบรมอัฐิ ซึ่งปัจจุบันได้ยกเลิกการเดินสามหาบรอบพระเมรุมาศ คงไว้เพียงแต่การถวายผ้าไตรสามหาบก่อนเก็บพระบรมอัฐิ และถวายภัตตาหารสามหาบเมื่อเชิญพระโกศพระบรมอัฐิมาประดิษฐานบนบุษบกเหนือพระแท่นแว่นฟ้าทอง ณ พระที่นั่งทรงธรรม” น.ส.อรสากล่าว