“บิ๊กเต่า” สั่งเดินหน้าวางกลไกรองรับ “พ.ร.บ.แร่” ฉบับใหม่ ก่อนบังคับใช้ ส.ค.นี้ ประเดิมตั้ง “คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ” กำกับดูแลเชิงนโยบาย พร้อมคลอดอนุกรรมการอีก 5 คณะ จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่...

เมื่อวันที่ 9 ก.ค. พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า แร่เป็นวัตถุดิบเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ การนำทรัพยากรแร่ในประเทศมาใช้ประโยชน์ ถือเป็นการทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ และยังก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้รัฐจากค่าภาคหลวงและภาษี ซึ่งนับตั้งแต่มีการเริ่มต้นสำรวจทรัพยากรแร่ในประเทศไทยจนถึงปัจจุบันพบว่ามีพื้นที่แหล่งแร่ 99,700 ตารางกิโลเมตร หรือ 62 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 19 ของเนื้อที่ประเทศ พื้นที่ศักยภาพทางแร่ 80,600 ตารางกิโลเมตร หรือ 50 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 16 ของเนื้อที่ประเทศ โดยแร่ที่ได้รับการประเมินปริมาณสำรองแร่แล้ว มีจำนวน 25 ชนิด อาทิ ถ่านหินลิกไนต์ หินปูน หินบะซอลต์ หินแกรนิต ยิปซัม โซเดียมเฟลด์สปาร์ ฟลูออไรต์ ควอตซ์ สังกะสี เงิน เหล็ก ทังสเตน ดีบุก และทองแดง

ทั้งนี้ ปริมาณสำรองเฉพาะทรัพยากรแร่ที่มีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจมีมูลค่าหลายหมื่นล้านล้านบาท แต่ที่ผ่านมาการจัดการทรัพยากรแร่ในประเทศยังประสบปัญหาต่างๆ เช่น ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่การทำเหมืองแร่ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน การใช้ทรัพยากรแร่ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่คุ้มค่า ไม่คำนึงถึงการบริหารจัดการในภาพรวม ขาดดุลยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความขัดแย้งในสังคมระหว่างชุมชนกับผู้ประกอบการในท้องถิ่นที่มีการพัฒนาแหล่งแร่ โดยที่ผ่านมาทางกระทรวงฯ ได้ดำเนินการเร่งรัดผลักดันให้มีการปรับปรุงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แร่ เพื่อให้เกิดความทันสมัย ทันต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ทำให้เกิดกลไกการบริหารจัดการแร่เชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ รวมทั้งแก้ไขปัญหาข้างต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ (พ.ศ. 2560) ซึ่งได้ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2560 และจะมีผลบังคับในวันที่ 29 ส.ค. 2560

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างรอกฎหมายมีผลบังคับใช้ กระทรวงฯ ได้ผลักดันระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ เพื่อเป็นกลไกการดำเนินการในเชิงนโยบาย ควบคู่กับการจัดประชุมรับฟังปัญหาและความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และทุกภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดลำปาง ขอนแก่น ลพบุรี และสุราษฎร์ธานี พร้อมทั้งจัดให้มีการรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและนักวิชาการ (focus group) จำนวน 5 ครั้ง

ขณะที่ การประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2560 มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 5 คณะ เพื่อจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ การเสริมสร้างความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการบริหารจัดการแร่ การจัดทำนโยบายแร่หินอุตสาหกรรม (แร่โพแทช และแร่ควอตซ์) และในอนาคตอันใกล้จะเร่งผลักดันแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ โดยมีการกำหนดพื้นที่การทำเหมืองแร่ พื้นที่แหล่งแร่ที่ควรสงวนไว้เพื่อการใช้ประโยชน์ในอนาคต

...

รวมถึงการกำหนดนโยบายต่างๆ เพื่อให้การบริหารจัดการแร่ของประเทศมีประสิทธิภาพ มีดุลยภาพทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยสอดคล้องกับทิศทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0 เพื่อการบริหารจัดการแร่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงดุลยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างรอบด้าน รวมทั้งการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างรัฐ ผู้ประกอบการ และชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ทำเหมือง และพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม.