“กลไกตลาดยางถูกปลูกฝังมานานจนกลายเป็นวัฒนธรรมระหว่างนายทุนกับเกษตรกร ทำให้เกษตรกรต้องขายยางให้กับนายทุนแค่กลุ่มเดียว คนกลุ่มนี้จึงเป็นผู้กุมราคาเอาไว้ แม้ตอนนี้จะมี พ.ร.บ.การยางฯ ควบรวม 3 องค์กรยางหลักมาเป็นหน่วยงานเดียวมากว่า 2 ปีแล้วก็ตาม แต่ยังรวมกันได้ไม่สมบูรณ์ มีปัญหาหลายเรื่อง ทั้งบุคลากร อัตรากำลัง ทำให้ยังแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด”

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กยท. และ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ พูดถึงต้นตอของปัญหายางพาราตกต่ำ ที่เกิดจากกลุ่มนายทุนมักจะใช้วิธีจ้างอดีตอธิบดี อดีตรัฐมนตรี ที่มีความรู้เรื่องยางและมีบารมีในองค์กรเป็นที่ปรึกษาบริษัท

เผื่อกรณีมีกฎระเบียบอะไรออกใหม่ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่กระทบผลประโยชน์ของบริษัท จะมีการไปล็อบบี้รัฐมนตรี ทำให้เกษตรกรมักได้รับความช่วยเหลือผิดทาง หรือไม่ก็ล่าช้าไม่ทันกาล

“นอกจากนั้น กยท. ผู้กำหนดนโยบาย ยังขาดความเข้าใจในหลายเรื่อง ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆที่ออกมา เลยไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ยกตัวอย่าง เรื่องเงินเซส เก็บจากยางทั้งหมดที่ส่งออกต่างประเทศ กก.ละ 2 บาท ซึ่งในพ.ร.บ.ยางกำหนดไว้แล้ว สามารถนำไปใช้กรณีใดบ้าง และถือว่าเกษตรกรเป็นเจ้าของกว่า 90% ส่วนอีก 10% เป็นค่าจ้างในหน่วยงาน กยท. แต่เกษตรกรกลับแทบไม่มีส่วนร่วมใดๆกับเงินส่วนนี้

...

ที่สำคัญเกษตรกรเสียเงินนี้โดยอัตโนมัติจากการขายยางโดยเท่าเทียมกัน แต่ในรายที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ไม่สามารถขึ้นทะเบียน ชาวสวนยางได้ จึงเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม เรื่องนี้ กยท. ควรออกระเบียบพิเศษ นำคนเหล่านี้เข้าสู่ระบบ เบื้องต้นอาจสนับสนุนให้คนกลุ่มนี้สมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกร เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือทางอ้อม เช่น เงินอุดหนุนหรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ”

ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ นายธีระชัย เสนอ ...รัฐต้องเลิกคิดแบบเดิมๆ ราคาตกก็เอาเงินไปอุดหนุนแทรกแซง สุดท้ายเหมือนเอาเงินไปละลายแม่น้ำ

แต่ควรนำเงินไปให้กับสหกรณ์ สถาบันเกษตรกรและลงทุนสร้างโรงงานแปรรูป เช่น หมอน ที่นอน หรือล้อยางแล้วให้สหกรณ์ สถาบันเกษตรกร นำเงินไปซื้อน้ำยางจากเกษตรกรในราคาสูงกว่านายทุน อันจะเป็นกลไกกระตุ้นราคายางให้สูงขึ้น แล้วนำมาแปรรูปในโรงงานอีกที

“ที่ผ่านมาโรงงานแปรรูปยางของรัฐ ไม่เคยซื้อยางจากเกษตรกร แต่ไปซื้อจากกลุ่มทุน ฉะนั้นหากกลุ่มเกษตรกรมีโรงงานแปรรูปผลิตล้อยางเอง ควรออกระเบียบให้ภาครัฐทหาร ตำรวจ รัฐวิสาหกิจ ใช้ยางล้อจากโรงงานเหล่านี้ จากนั้นให้ อบจ. อบต. ทั่วประเทศ นำน้ำยางไปผสมกับยางมะตอยราดถนน แม้จะแพงกว่ากันนิดหน่อย แต่เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง แถมอายุใช้งานนานกว่า ถือว่าคุ้มค่าในระยะยาว ดีกว่าขายเป็นวัตถุดิบ ถ้าเราทำได้แบบนี้ เลิกขายยางเป็นวัตถุดิบ แปรรูปสินค้าใช้เอง วางยุทธศาสตร์ 5 ปี เพิ่มปริมาณการแปรรูปเพื่อการบริโภคภายในประเทศจาก 18% ให้ได้ 30% ราคายางไทยจะมีเสถียรภาพอย่างแน่นอน”

ทั้งที่เรื่องทำนองนี้มีการพูดถึงกันมานาน ต่างรู้ดีต้องทำยังไงวิธีไหน...แต่ทำไม่เคยเป็นจริงกันสักที เป็นเพราะอะไร หรือฝีมือนักล็อบบี้จากกลุ่มทุนพ่อค้ายางพาราส่งออก.

กรวัฒน์ วีนิล