นับตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. 60 ที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ปรากฏว่า แรงงานผิดกฎหมายจำนวนมากต่างทยอยเดินทางกลับประเทศ โดยส่วนนายจ้างที่จ่ายเงินจ้างแรงงานเหล่านี้ เกรงว่าจะไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ 

อย่างไรก็ตาม แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายที่ถูกผลักดันกลับนั้น ส่วนใหญ่อยากจะกลับเข้ามาทำงานในไทยอีกครั้ง แต่มาครั้งนี้จะขอมาแบบถูกกฎหมาย หรือ แรงงานนำเข้าที่มีการตกลงระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลเมียนมา กัมพูชา และ ลาว หรือที่เรียกว่า MOU ซึ่งตรงนี้มีค่าใช้จ่ายประมาณ 2-3 หมื่นบาท โดยนายจ้างจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้เป็นส่วนใหญ่ 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากด่าน ตม.จังหวัดสระแก้ว รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.-2 ก.ค. 60 มีแรงงานกัมพูชาที่ผิดกฎหมาย กลับประเทศแล้ว 3,914 คน เป็นชาย 2,335 คน หญิง 1,579 คน ซึ่งขณะนี้แรงงานต่างด้าวกัมพูชาที่หลบหนีเข้าเมือง แล้วมาแสดงตัวขอกลับประเทศเริ่มลดลง 

...

ส่วนที่ด่าน ตม.จังหวัดตาก รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.-3 ก.ค. 60 มีแรงงานเมียนมาที่ผิดกฎหมาย กลับประเทศแล้วกว่า 1 หมื่นราย โดยส่วนใหญ่แรงงานเหล่านี้จะกลับมาเข้าระบบเป็นแรงงาน MOU เพื่อกลับมาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้อง  

ขณะที่ด่าน ตม.จังหวัดหนองคาย มีรายงานว่า ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย–ลาว แห่งที่ 1 มีการเข้าออกประเทศไทยและลาวตามปกติ เฉลี่ยวันละ 6,000–15,000 คน ไม่มีสภาพการทะลักของแรงงานต่างด้าวชาวลาวเดินทางกลับประเทศแต่อย่างใด

เปิดใจแรงงานต่างด้าว ขอกลับมาไทยแบบถูกกฎหมาย 

นายวง เจือน อายุ 32 ปี แรงงานชาวกัมพูชา เผยว่าได้ลักลอบไปทำงานก่อสร้างที่ จ.ชลบุรี พร้อมญาติพี่น้องรวม 8 คน ถูกนายจ้างสั่งให้กลับไปทำพาสปอร์ตที่กัมพูชาก่อน หากไม่มีพาสปอร์ตทำงานก็ไม่สามารถจ้างได้ โดยนายจ้างบอกกลัวกฎหมายแรงงานใหม่

ทั้งนี้ ทางญาติในกัมพูชาได้โทรศัพท์มาบอกให้รีบกลับประเทศ เพราะกลัวถูกจับเพราะมีข่าวลือในกัมพูชาว่าทางการไทยจะกวาดล้างจับกุมแรงงานเขมร ที่ไม่มีพาสปอร์ตแรงงานในไทย โดยอัตราโทษใหม่ต้องติดคุกและถูกปรับเป็นแสนบาท ทำให้พวกตนเกิดความกลัว จึงได้รีบเดินทางกลับประเทศ

อย่างไรก็ตาม การกลับประเทศไปครั้งนี้ยังไม่รู้ว่าจะไปทำอะไร เพราะพวกตนยากจน ไม่มีเงินจะไปทำพาสปอร์ต อีกทั้งการทำพาสปอร์ตในกัมพูชา มีราคาแพง และต้องรอเป็นเดือนกว่าจะได้ ต่อไปจะไปทำอะไรกินยังไม่รู้เลย อยากให้รัฐบาลไทยเห็นใจชาวเขมรจนๆ ด้วย เพราะพวกเราแค่ต้องการมาทำงานเท่านั้น

นายจ่อจ่อ อายุ 25 ปี แรงงานชาวเมียนมา กล่าวว่า พวกตนสมัครใจกลับเพราะอยู่ก็ทำงานไม่ได้ เพราะนายจ้างกลัวจะถูกจับ จ่ายค่าปรับแพง

นางสาวมะเมี๊ยะ อายุ 24 ปี แรงงานชาวเมียนมา กล่าวว่า นายจ้างให้กลับโดยจ่ายค่าแรงครบหมด ไปอยู่ กทม.มาปีกว่า ทำงานแม่บ้าน กลับมาครั้งนี้นายจ้างให้มาทำเอกสารให้ถูกต้องมีเอ็มโอยูเพื่อที่จะเข้าทำงานได้

นางเปิ้ล แรงงานชาวลาว บอกว่า เพิ่งจะเข้ามาทำงานในไทยครั้งแรก มาสมัครงานที่ร้านปลาเผาในหนองคาย เจ้านายพามาขึ้นทะเบียนทำงาน ซึ่งทราบว่าหากไม่ทำให้ถูกต้องก็จะถูกจับปรับ กลัวว่าจะไม่ได้ทำงานจึงต้องทำตามกฎหมายไทย จะได้สบายใจด้วย

ขณะที่ผู้ประกอบการนำเข้าแรงงานตามเอ็มโอยู ชายแดนแม่สอด เปิดเผยว่า คนงานเหล่านี้ส่วนใหญ่นายจ้างเป็นคนจ่ายค่าเดินทาง ค่ารถ และค่าดำเนินการทำเอ็มโอยูทั้งหมด โดยคนงานเหล่านี้จะมีสัญญากับนายจ้างเมื่อได้ใบอนุญาตจะกลับมาทำงานให้ 2 ปีเป็นอย่างต่ำ ซึ่งทุกคนก็ยอมรับ

...

กระทรวงแรงงาน แนะนายจ้าง รอคำสั่ง ม.44  

ล่าสุด นายวิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560-2564 และคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์การบริหารฯ หามาตรการรองรับกับการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการ การทำงานของแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560

โดย กนร. เห็นชอบให้ขยายเวลาแรงงานต่างด้าว 2 กลุ่ม คือ ประมง กับแปรรูปสัตว์น้ำ ที่บัตรสีชมพูหมดอายุ 1 พ.ย. 60 กับกลุ่มแรงงานทั่วไปที่หมดอายุ 31 มี.ค. 61 ซึ่งผ่านการตรวจสัญชาติได้วีซ่าแล้ว แต่ไม่สามารถไปขอใบอนุญาตทำงานได้ทันกำหนดใน 15 วัน เนื่องจากช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. แรงงานนับแสนคนเดินทางกลับประเทศต้นทาง กลับมาขออนุญาตไม่ทัน กนร.จึงขยายเวลา ให้ยื่นขอใบอนุญาตทำงานได้จนถึงวันสิ้นอายุบัตรสีชมพูที่ถือ

...

นายวิวัฒน์ กล่าวว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาถึงกรณีแรงงานต่างด้าวเดินทางออกนอกประเทศ ว่า หลัง 23 มิ.ย. มีแรงงานต่างด้าวเดินทางออกผ่านด่านชายแดนกว่า 29,000 คน แต่ก็มียอดแรงงานที่เดินทางเข้ามาทำงานตามเอ็มโอยู 6 หมื่นคน

ส่วนการชะลอ พ.ร.ก.ต่างด้าว ที่ส่งผลกระทบนายจ้างและแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ยังต้องรอดูคำสั่ง มาตรา 44 ที่จะออกมาว่าใน 120 วัน จะให้การช่วยเหลืออย่างไร หลังจากนั้นกระทรวงแรงงานจะแถลงมาตรการให้ชัดเจน นายจ้างจึงอย่าวิตกเกินไป เพราะหากปล่อยให้ลูกจ้างเดินทางกลับ จะเป็นการเสียโอกาส

สำหรับแรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงาน แต่ชื่อนายจ้างไม่ตรงตามที่ระบุและทำงานผิดสถานที่ นายจ้างสามารถนำไปยื่นขอเปลี่ยนชื่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด โดยจะทำได้แล้วเสร็จใน 1 วัน นอกจากนี้ ยังมีการรายงานผลการประชุมวิชาการเมียนมา-ไทย ซึ่งเมียนมารับหลักการให้คนของเขามาทำงานในไทยแบบรัฐต่อรัฐ ในอาชีพประมง ก่อสร้าง ภาคบริการ เอสเอ็มอี โดยเห็นชอบตั้งคณะทำงานร่วมกันฝ่ายละ 5 คน

เสียงสะท้อนจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

...

นายวิสูตร จ้อนเมือง จัดหางานจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2560 มีจำนวนนายจ้าง 6,178 ราย ลูกจ้างแรงงานต่างด้าวชาวลาว 13,067 คน คนเหล่านี้จะกระจายไปทำงานยังจังหวัดต่างๆ ส่วนในพื้นที่ จ.หนองคาย ในเดือน มิ.ย. 60 มีนายจ้างยื่นขอโควตา 28 ราย ยื่นนำเข้า 32 ราย ส่วนแรงงานต่างด้าวมียื่นขอโควตาทำงาน 149 ราย เดินทางมาจริง 54 ราย

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ พ.ร.ก.คนต่างด้าว มีผลบังคับใช้ในพื้นที่ จ.หนองคาย มีความตื่นตัวมาก มีนายจ้างพาลูกจ้างคนต่างด้าว ส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวลาวมายื่นเรื่องกับทางจัดหางานอย่างต่อเนื่อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 แต่เนื่องจากในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นงานด้านธุรกิจบริการ ร้านอาหาร ไม่ใช่โรงงานอุตสาหกรรม จึงมีแรงงานต่างด้าวไม่มากนัก แม้จะเป็นเมืองชายแดนก็ตาม

ทั้งนี้ รัฐบาลผ่อนผันให้เวลานายจ้าง ลูกจ้างแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนทำงานให้ถูกต้องออกไป 120 วัน ระหว่างนี้จะไม่มีการจับปรับส่งกลับดำเนินคดี จึงขอให้นายจ้าง สถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าว มาดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายภายในระยะเวลาที่กำหนด ส่วนกรณีคนต่างด้าวอยู่เกิน หรือทำงานผิดประเภทแล้วกลัวถูกจับ หรือเดินมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองหนองคายจับ เพื่อจะได้ถูกผลักดันกลับประเทศนั้น ในพื้นที่ จ.หนองคาย ยังไม่มีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้น

นายบุญชู อายุ 46 ปี ชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า เป็นผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์เล็กๆ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ผ่านมาเคยจ้างแรงงานเขมรมาทำงานจำนวน 5 คน จู่ๆแรงงานเขมรก็ขอกลับประเทศบอกว่ากลัวถูกจับ เพราะกฎหมายแรงงานใหม่ของไทยรุนแรง กลัวถูกปรับแพงและอาจถูกจำคุกด้วย ทำให้ตอนนี้ไม่มีแรงงานทำงาน เดือดร้อนเป็นอย่างมาก และก็ไม่รู้จะไปหาแรงงานเขมรถูกกฎหมายที่ไหน จึงเดินทางมาที่ด่านพรมแดนอรัญประเทศ