ใกล้เข้าสู่สภาวะ “ฝนทิ้งช่วง” กรมชลประทานปรับเพิ่มแผนการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ผ่านการเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำของ “ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC)”
ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา...สถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวม 41,974 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด
มากกว่าปี 2559 รวม 9,634 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 18,155 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 35 (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 8,521 ล้าน ลบ.ม.) สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 33,238 ล้าน ลบ.ม.
เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 11,415 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด...ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 3,402 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 4,719 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 26 (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 1,317 ล้าน ลบ.ม.)
สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 13,456 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับสภาพน้ำท่าในแม่น้ำสายหลัก ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ...ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งและสามารถรองรับน้ำได้อีกมาก อาทิ แม่น้ำปิง ที่สถานี P.1 อ.เมืองเชียงใหม่ ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 2.55 เมตร, สถานี P.7A อ.เมืองกำแพงเพชร ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 5.71 เมตร และสถานี P.17 อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 3.30 เมตร ...แม่น้ำวัง ที่สถานี W.1C อ.เมืองลำปาง ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 4.88 เมตร...แม่น้ำยม ที่สถานี Y.1C อ.เมือง จ.แพร่ ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 7.72 เมตร และสถานี Y.4 อ.เมือง จ.สุโขทัย ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 5.88 เมตร ฯลฯ
ทั้งนี้...ปริมาณน้ำทั้งหมดจะไหลมารวมกันที่แม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดนครสวรรค์ โดยที่สถานี C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง 6.32 เมตร...กรมชลประทานได้ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 484 ลบ.ม.ต่อวินาที ยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน
...
เหล่านี้คือภาพปริมาณน้ำที่นำไปสู่การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบให้สอดรับกับปริมาณน้ำฝน เพื่อรักษาระบบนิเวศ และสนับสนุนการใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูก ใช้อุปโภคบริโภคอย่างสมดุลทุกด้าน
อีกทั้งยังเป็นข้อมูลสนับสนุนสำคัญในพื้นที่บริหารจัดการน้ำ ตัวอย่าง “บางระกำโมเดล” กรมชลประทานได้มีการบริหารจัดการ 2 แนวทาง หนึ่ง...แนวทางการบริหารจัดการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง
ดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้สั่งการในคราวที่เดินทางมาตรวจราชการ ที่ อ.บางระกำ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 ให้กรมชลประทานปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มต่ำ 265,000 ไร่ เร็วขึ้นมาเป็น 1 เมษายน 2560 เพื่อให้เกษตรกรได้เก็บเกี่ยวก่อนฤดูน้ำหลากและใช้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้ประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร
ปัจจุบัน “เกษตรกร” ได้เพาะปลูกเต็มพื้นที่แล้ว และจะเก็บเกี่ยวก่อนช่วง “น้ำหลาก”
สอง...มาตรการใช้สิ่งก่อสร้าง โดยการเพิ่มการระบายน้ำคลองเมมหรือแม่น้ำยมสายเก่า ปรับปรุงสะพานแม่ระหัน ต.บ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก ซึ่งเดิมมีความยาวเพียง 24 เมตร ระบายน้ำได้ 120 ลบ.ม.ต่อวินาที ในขณะที่คลองเมมมีความกว้าง 100 ม. ระบายน้ำได้สูงสุด 300 ลบ.ม.ต่อวินาที
ก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการขุดเปิดทางน้ำและวางสะพาน Bailey ชั่วคราว เพิ่มการระบายน้ำได้เป็น 250 ลบ.ม.ต่อวินาที พร้อมรับสถานการณ์น้ำหลากที่จะเกิดขึ้นช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2560 ให้ได้ไปก่อน
“ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ” ตั้งอยู่ภายในอาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพฯ ก่อสร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้เป็นศูนย์บัญชาการทั้งในภาวะ “น้ำท่วม” และ “น้ำแล้ง”
ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ส่วนแรก...เป็นข้อมูลพื้นฐาน หรือ ข้อมูลกลาง ที่ทุกหน่วยงานน้ำมีเหมือนกัน โดยเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกัน เช่น ข้อมูลด้านสภาพอากาศ ปริมาณน้ำในแม่น้ำ...เขื่อน...อ่างเก็บน้ำ
ส่วนที่สอง...เป็นหัวใจที่ทำให้เป็นอัจฉริยะ จากประสบการณ์การชลประทานได้สร้างเป็นแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อคาดการณ์สถานการณ์น้ำทั้งระยะสั้น...ระยะยาว เช่น ปีนี้สภาพฝนมากกว่าปกติเล็กน้อย แต่ปลายปีฝนน้อยเนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญอ่อนๆ จะวางแผน ถ้าฝนตกหนักจะระบายน้ำเท่าไหร่เก็บน้ำเท่าไหร่ ปรับปรุงข้อมูลตลอดเวลา เพื่อผู้บริหารตัดสินใจอย่างถูกต้อง
ส่วนสุดท้าย...เป็นการขับเคลื่อน เพื่อการแก้ปัญหาได้รวดเร็ว ตรงจุด ลดความเสียหายน้อยที่สุด
สัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน ย้ำว่า ตรงนี้...เหมือนห้องควบคุมสั่งการหน่วยชลประทานในพื้นที่ทั้งหมด ทั้งแจ้งเตือน สั่งการ และรับทราบปัญหา ข้อขัดข้อง...ข้อเสนอแนะจากพื้นที่ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้เห็นภาพได้ชัดเจน ภายใต้สโลแกนของศูนย์ฯ เป็นภาษาอังกฤษว่า “FAST”
“F” คือ “Fusion database” หมายถึง รวมศูนย์ข้อมูลมีการบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ...“A” คือ “Accurate technique” หมายถึง ถูกต้องตามหลักวิชาการ...“S” คือ “Speedy process” หมายถึง กระบวนการทำงานที่รวดเร็ว และ “T” คือ “Targeted solution” หมายถึง บรรลุผลตรงเป้าหมาย
ในภาพใหญ่วันนี้ประเทศไทยมีศูนย์ด้านน้ำอยู่หลายแห่ง เช่น ศูนย์น้ำของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.), ศูนย์เมขลาของกรมทรัพยากรน้ำ, ศูนย์ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รวมทั้งศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของกองทัพ
...
สัญชัย บอกว่า เมื่อครั้งน้ำท่วมภาคใต้ เราต้องวางเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ วางแผนการแก้ปัญหาในภาพรวมในทุกพื้นที่ พร้อมให้คำแนะนำ จึงเป็นทั้งหน่วยวางแผนและปฏิบัติ ทั้งพื้นที่ในและนอกเขตชลประทาน
“การมองเห็นภาพรวมของพื้นที่ สถานการณ์ และสั่งการได้ในทันที จะทำให้ทำงานแก้ปัญหาได้เร็ว ตรงจุด มีประสิทธิภาพ จึงทำให้เกิดศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ...SWOC เชื่อมโยงข้อมูลกับทุกหน่วยงาน”
ข้อมูลที่มีอยู่และการคาดการณ์อนาคตของสภาพดินฟ้าอากาศทำให้เกิดการคิดไปข้างหน้า ทำให้เตรียมการ ติดตามรับมือสถานการณ์ และแก้ปัญหาในทันที
ตรงตามเป้าประสงค์ที่ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดหวังไว้ว่า “เกษตรกร”...“ประชาชน” จะได้รับประโยชน์จากศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะแห่งนี้เป็นอย่างมาก
“การแจ้งเตือนภัยด้านน้ำเป็นไปด้วยความรวดเร็ว แม่นยำมากขึ้น ...หน่วยที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่นำเครื่องมือไปช่วยเหลือลดความเสียหาย นอกจากนี้เกษตรกรยังจะสามารถใช้ข้อมูลจากศูนย์ฯแห่งนี้ เพื่อนำไปวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน ช่วยลดความเสียหายต่อผลผลิตได้เป็นอย่างดี”
ในยามวิกฤติ เช่น การระบายน้ำออกจากพื้นที่เมือง เนื่องจากน้ำท่วมขังระบายไม่ทัน อาจมีอุปสรรคจากสิ่งกีดขวางทางน้ำ ชลประทานจะศึกษาข้อมูลการไหลของน้ำ แจ้งเป็นข้อมูลให้ส่วนที่เกี่ยวข้องแก้ไข จะได้ไม่เกิดซ้ำซาก เช่น ที่น้ำท่วมเมื่อต้นปี น้ำท่วมภาคใต้ พบอุปสรรคการระบายน้ำ 111 แห่ง ได้แจ้งให้หน่วยต่างๆเร่งแก้ไข
สัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน ฝากทิ้งท้ายว่า ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ จะติดตามการทำงานตลอดเวลา 24 ชั่วโมง เกษตรกร...ประชาชนที่เดือดร้อน สามารถติดต่อศูนย์ฯได้ที่สายด่วน “1460” จะมีเจ้าหน้าที่รับข้อมูล และประสานไปยังพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว ลดความเสียหายได้อย่างทันท่วงที
...
การบูรณาการ เชื่อมโยงข้อมูลภาพรวมในทางเดียวกันผ่านเทคโนโลยี เห็นเค้าลางการพัฒนามุ่งสู่นโยบายไทยแลนด์ 4.0 อยู่ไม่น้อยทีเดียว ฟันธงได้ไหม “มหาอุทกภัย”...จะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว?