ดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ-ประจวบ ตยาคีพิสุทธิ์

ประเทศไทยเป็นประเทศมีการกินดีอยู่ดีแต่คนไทยยังมีพฤติกรรมการกิน เน้นรสชาติจัดจ้าน หวาน มัน เค็ม นำปัญหาสุขภาพมาสู่คนไทย

การบริโภคเกินสมดุล เกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน เป็นสาเหตุของการเกิดโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่ไม่เพียงเป็นปัญหาที่ก่อความเดือดร้อนกับผู้ป่วยและครอบครัวโดยตรงเท่านั้น

ปัญหาต่อเนื่องที่มีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่ภาครัฐต้องจ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคต่างๆดังกล่าว ในปี พ.ศ.2552 สูงถึง 5,580.8 ล้านบาท

คิดเป็นร้อยละ 2.01 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ และมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตัวเลขที่น่าตกใจทำให้ภาครัฐและเอกชนหันมาเอาจริงเอาจังกับการรณรงค์ให้คนไทยลดกินหวานซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคเหล่านี้

โดยมีการนำสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” ติดบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยตามเกณฑ์ที่กำหนด ไม่เกิน 6 กรัมต่อ 100 มิลลิกรัม เป็นหนึ่งในโครงการนำร่อง

ด็อกเตอร์ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวในการเสวนาเรื่อง “ภาษีความหวานกับการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม” ที่จัดขึ้นในงาน ProPak Asia 2017 ว่า

คนไทยเป็นโรคเบาหวานปีละ 670,000 คน นับเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน

อ้วนลงพุง 16 ล้านคน เป็นอันดับ 2 ในอาเซียน

สถิติสำนักโภชนาการ กรมอนามัย ระบุว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ย 24-28 ช้อนชาต่อวัน สูงกว่าที่ควรถึง 3 เท่า

การจะแก้ไขปัญหานี้ต้อง “ฝึกลิ้นใหม่” ให้คนไทยรู้สึกว่าอร่อยกับอาหารที่ไม่หวานมาก ซึ่งต้องอาศัยมาตรการทั้งทางด้านภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีควบคู่ไปพร้อมๆกัน

...

สำหรับสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” นี้ เป็นสัญลักษณ์ของทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกให้กับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ผ่านการพิจารณาว่ามีน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัมต่อ 100 มิลลิกรัม

โดยอนุญาตให้สัญลักษณ์นี้ติดที่ข้างบรรจุภัณฑ์ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้บริโภคเลือกสิ่งที่ดีต่อสุขภาพของตนเองได้มากกว่า

สัญลักษณ์นี้ถือว่าเป็นเครื่องมือที่ทาง อย. ทำให้ผู้ประกอบการ นอกจากจะช่วยให้ไม่ต้องเสียภาษีความหวานแล้ว ยังทำให้ผู้บริโภคไว้ใจว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะทำให้สุขภาพดี

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองแล้ว 200 ผลิตภัณฑ์

ส่วนเรื่องอาหารที่ขายตามท้องตลาดชุมชนนั้น คือสินค้าที่ไม่ได้ผ่านการรับรอง จึงไม่สามารถเก็บภาษีความหวาน หรือได้รับตราสัญลักษณ์ได้

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต เสริมว่า หากจะปรับพฤติกรรมผู้บริโภค ต้องปรับพฤติกรรมผู้ผลิตให้ได้ก่อน สามารถทำได้ด้วยมาตรการทางภาษี

การกำหนดภาษีความหวาน จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ผลิตปรับตัว สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่จะชวนให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพจริงๆ

ดังนั้นจึงเป็นที่มาของภาษีความหวานที่จะเริ่มในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยในระยะแรกเริ่มระหว่าง 16 กันยายน 2560-30 กันยายน 2562

ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลตามเกณฑ์คือ ที่เกิน 10 กรัมต่อ 100 มิลลิกรัม จะเสียภาษีเท่าเดิมตามจำนวนที่เคยเสียภาษีสรรพสามิต (ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย)

ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว จะให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มที่มีความหวานเกิน 10 กรัมต่อ 100 มิลลิกรัม ทำการปรับสูตรลดปริมาณน้ำตาล (Reformulation)

ถ้าปรับลดลงได้ต่ำกว่า 10 กรัมต่อ 100 มิลลิกรัม ก็จะเสียภาษีน้อยลง (Incentive Period) หรือได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีสรรพสามิต

หลังจากวันที่ 1 ตุลาคม 2562 จะมีการปรับสัดส่วนปริมาณน้ำตาลตามเกณฑ์ใหม่ โดยผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลสูงกว่าเกณฑ์ จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นในอัตราก้าวหน้า (10-14 กรัม, เกิน 14-18 กรัมและเกิน 18 กรัม)

สำหรับมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี มีหลายแนวทาง

มาตรการแรกที่ผู้บริโภคจะเริ่มเห็นได้ชัดเจนคือ การใช้สัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิส่งเสริมโภชนาการในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำและอนุญาตให้การรับรองผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ใน 5 กลุ่มอาหารนำร่อง ได้แก่ เครื่องดื่ม อาหารมื้อหลัก เครื่องปรุงรส นม และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

ที่กล่าวมาเป็นกระบวนการภาครัฐ ทางด้านภาคเอกชน

นายประจวบ ตยาคีพิสุทธิ์ อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ผู้อำนวยการสายงานรัฐกิจและองค์กรสัมพันธ์บริษัท กรีนสปอต จำกัด ผู้ผลิตนมถั่วเหลืองไวตามิ้ลค์ บอกว่า

ขณะนี้มีสมาชิกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อขอการรับรองสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพแล้วหลายราย

เราเชื่อว่าผู้ผลิตเป็นต้นทางในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ในฐานะผู้นำตลาดนมถั่วเหลือง จึงพัฒนาไวตามิ้ลค์สูตรกลมกล่อม ที่มีน้ำตาลเพียง 4 กรัมต่อ 100 มิลลิกรัม ทำจากถั่วเหลืองคัดคุณภาพเต็มเมล็ด มีโปรตีนสูงและมีคุณค่าทางอาหารจากธรรมชาติ

ทำให้เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลืองรายแรกๆที่ได้รับอนุญาตให้ใช้สัญลักษณ์ “เครื่องดื่มทางเลือกสุขภาพ” ซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้บริโภคเลือกและตัดสินใจซื้อสินค้าที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของตนเอง

...

“ตั้งเป้าหมายว่าใน 5 ปีข้างหน้า ผลิตภัณฑ์ของไวตามิ้ลค์จะต้องปรับปรุงและพัฒนาให้ได้รับการรับรองสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ ได้ครบถ้วน” นายประจวบย้ำ

นอกจากนี้ ไวตามิ้ลค์ยังได้จัดคาราวานส่งเสริมสุขภาพเด็กลดการติดหวาน ให้เข้าใจการบริโภคน้ำตาลอย่างเหมาะสม โดยจัดทำโครงการเพื่อแจกผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลืองไวตามิ้ลค์สูตรกลมกล่อมที่พัฒนาขึ้นใหม่ มีปริมาณน้ำตาลต่ำให้แก่นักเรียนในโรงเรียน 750 แห่ง รวมนักเรียนทั่วประเทศกว่า 1,000,000 คน

นี่คือการปลูกฝังความรู้ความเข้าใจเรื่องโภชนาการ และสร้างนิสัยในการรับประทานที่ถูกต้องตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักดูแลสุขภาพ

นายประจวบเสนอแนะแนวทางว่า ในส่วนของภาคเอกชน สามารถมีบทบาทในการเพิ่มจุดกระจายสินค้าที่ได้รับสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ ให้เข้าถึงในทุกพื้นที่มากยิ่งขึ้น

ภาคเอกชนมีคู่ค้ากระจายตัวในพื้นที่ค่อนข้างครอบคลุม การกระจายสินค้าให้เข้าถึงระดับชุมชนมากเท่าไหร่ ก็เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ต้องการเลือกใช้สินค้า “ทางเลือกสุขภาพ” ได้มากยิ่งขึ้น

เราเชื่อว่าผู้ผลิตต้องผลิตสินค้าด้วยความรับผิดชอบ การลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มคงไม่ใช่ทางแก้ปัญหาทั้งหมด

นายประจวบทิ้งท้ายให้ข้อคิดว่า ตราบใดที่ผู้บริโภคยังคงใช้ชีวิตแบบเดิม ปัญหาการติดหวานจะยังคงอยู่ต่อไป จึงต้องสร้างความรอบรู้เรื่องสุขภาพไปพร้อมกัน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของประชาชน...